"เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ......" บทสวดพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบทสวดที่สาธยายเกี่ยวกับความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าหลักธรรมอริยสัจ 4 นี้เป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นความจริงของโลก ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดบนโลกใบนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้รับรู้และพิจารณาตรึกตรองหลักธรรมนี้ อริยสัจ 4 อธิบายได้ดังนี้
อริยสัจสี่ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการหลักคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา อาจถือว่าเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค
อริยสัจที่ ๑ ทุกข์
ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ พระองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แม้ที่สุดเป็นพระภิกษุ ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างกันแต่เพียงว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อยและมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น พระองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑.สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีทุกข์ชนิดนี้ มี ๓ ประการได้แก่
๑.การเกิดเป็นทุกข์
๒.การแก่เป็นทุกข์
๓.การตายเป็นทุกข์
๒.ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จร เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญารู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง สามารถหลีกเลี่ยงทุกข์ชนิดนี้ได้ ทุกข์จรนี้มีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่
๑.โสกะ ความโศก ความแห้งใจ
๒.ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน
๓.ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย
๔.โทมนัสสะ ความน้อยใจ
๕.อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ
๖.สัมปะโยคะ ความเบื่อหน่ายขยะแขยงจากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
๗.วิปปโยคะ ความห่วงใย จากการพลัดพรากจากของรัก
๘.อาลภะ ความเสียดายจากการปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น
“ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ” อริยสัจ คือ ทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้ (พุทธพจน์)
อริยสัจที่ ๒ สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคนพบว่าความทุกข์มีสาเหตุมาจากกิเลสที่มีอยู่ในใจ พระองค์บัญญัติศัพท์เรียกว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากในใจของเราเอง แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
๑.กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุป คือ อยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ
๒.ภวตัณหา ความอยากเป็น เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ ฯลฯ
๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค ฯลฯ
“ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกข์สมุทัย อันเราพึงละ (พุทธพุจน์)
อริยสัจที่ ๓ นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หมายถึงสภาพใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิงทำให้หมดตัณหา จึงหมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายมีความสุขล้วนๆ
“ทุกฺขนิโรโธ อริยสัจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกขนิโรธะ อันเราพึงทำให้แจ้ง (พุทธพจน์)
อริยสัจที่ ๔ มรรค
มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่งปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการ ได้แก่
๑.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้นคือ ความเห็นถูกต่างๆ เช่นเห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นั่นเอง
๒.สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือ คิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้ออวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมคนอื่น
๔.สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม
๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก
๖.สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือ เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๗.สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อยู่เสมอ
๘.สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือ มีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ผ่านกายในกาย ซึ่งก็คือฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับจนเข้าถึงธรรมกาย ใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางธรรมกาย
มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้าก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้
ศีล แยกออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ แยกออกเป็น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา แยกออกเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
มรรคทั้งแปดข้อนี้ให้ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ซึ่งว่าเกิดได้ขณะใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ ทำให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจน และพ้นทุกข์ได้เป็นเรื่องของการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล
“ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ” อริยสัจ คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันเราพึงบำเพ็ญ (พุทธพจน์)
(ที่มา: ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนจาก http://www1.freehostingguru.com/thaigenx/mongkhol/mk33.htm)
ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้เป็นความจริงของธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนสมควรที่จะรู้เกี่ยวกับความจริงนี้ เคยมีคนกล่าวว่า "คนเราทุกวันนี้มีความสุขน้อยลง" ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเราทุกวันนี้ยังเข้าใจหลักธรรมอริยสัจ 4 ไม่ถ่องแท้ก็เป็นได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศชาติ และปัญหาของโลก ปัญหาทั้งหลายสามารถแก้ไขได้ด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4 ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนั้นแล ขอทุกคนจงพร้อมด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4.....สวัสดี
วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น