การขึ้นหัวข้อเรื่องอย่างนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านหลายท่านสงสัยน่าดูว่า ทำไมคำว่า พึ่ง พอ และ แพ้ ถึงได้จะถูกลืมไปจากสัมคมไทย ลืมไปได้อย่างไร และลืมแล้วไปอยู่ที่ใหน โดยแท้จริงแล้ว ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายโดยนัยว่าคำว่า พึ่ง พอ และ แพ้ คำเหล่านี้มีความหมายและมีความสำคัญอย่างมาก ที่นับวันสังคมไทยจะลืมเลือนไปทุกที ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้แสดงทัศนะไว้ดังนี้
1.) คำว่า "พึ่ง" คำนี้หมายถึง การพึ่งพาตัวเอง และ การมีตัวเองเป็นที่พึ่ง ความหมายทั้งสองอย่างแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ การพึ่งพาตัวเอง คือการช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เหมือนคำในทางพุทธศาสนาที่ว่า อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ แปลเป็นภาษาไทยคือ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน หากจะกล่าวถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น การทำงานเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ซึ่งต้องมีความสามารถทำได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ หรือกำลังทรัพย์ที่ตนมีอยู่ เป็นต้น สำหรับอีกความหมายหนึ่งคือ การมีตัวเองเป็นที่พึ่ง ในความหมายนี้คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีหลักการ อย่างมีจุดยืน หรือบางคนอาจใช้คำว่า มีรัฐธรรมนูญชีวิต ก็ยังใช้ได้อยู่ บางคนยึดศีลห้าในการดำเนินชีวิต นี่ก็ใช่อีกเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น บางคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริต ดังนั้น อาชีพใดที่เป็นอาชีพที่ทุจริต อาชีพที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ ก็จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด จะเห็นว่าคำว่า พึ่ง นี้มีความสำคัญอย่างมากในชีวิตของคนเรานี้ หากคนในสังคมไทยตระหนักถึงคำว่า พึ่ง คือ พึ่งพาตัวเองได้ และ มีตัวเองเป็นที่พึ่งแล้ว ปัญหาสังคม การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของชาวตะวันตก ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะลดน้อยลงไปได้มากเลยทีเดียว
2.) คำว่า "พอ" คำนี้หมายถึง ความพอเพียง ความพอประมาณ และความพอแห่งตน คำนี้ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินและคุ้นเคยมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แน่ะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด คำว่า พอเพียง พอประมาณ พอแห่งตน เป็นคำที่ทำให้เราทุกคนเข้าใจตัวตนของตนเองมากขึ้น และเข้าใจถึงความสมดุลย์ระหว่างความต้องการของตนเอง ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น กับความสามารถที่ตนเองสามารถหามาได้ มีได้ เป็นได้ ดังนั้น ความพอเพียงหรือพอประมาณของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ไม่อาจให้คนอื่นบอกเราได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ตระหนักรู้ของเราเอง กล่าวคือ เราทุกคนจะต้องรู้ว่า พอประมาณ หรือ พอเพียงของเราเองนั้นอยู่ที่ใด ในสังคมไทยทุกวันนี้ตระหนักถึงคำว่า พอเพียง พอประมาณ กันน้อยมาก จึงทำให้เกิดการเป็นหนี้เป็นสินกันมากมาย ความฟุ่มเฟือย แม้กระทั่งเกิดการกักตุนและเก็งกำไรสินค้ากันอย่างมากมาย มุ่งเอาแต่ได้ของผู้ประกอบการ เป็นต้น สำหรับคำว่า พอแห่งตน คำนี้ผู้เขียนขออธิบายว่าคือ ความพอดีพอสมควรแห่งกาล แห่งวาระ และแห่งโอกาสที่ตนควรจะปล่อยวาง ตนเท่านั้นที่รู้ว่าจะพอเมื่อไร สมควรแก่เวลา สมควรแก่โอกาสที่จะพอหรือถึงเวลาพอแล้วหรือยัง ดังจะเห็นว่ามีผู้นำในอดีตหลายต่อหลายคนที่เมื่อก้าวข้ามสู่ความสำเร็จในชีวิตสูงสุดแล้วกลับไม่รู้จักพอแห่งตน ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรจะพอแล้ว จึงทำให้สุดท้ายต้องพบกับความผิดหวังอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น พวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไทยจึงควรมีคำว่า พอแห่งตน หรือ คำพูดที่ว่า "ผมพอแล้ว" ฝังอยู่ในใจของพวกเราเสมอ
3.) คำว่า "แพ้" คำนี้หมายถึง ความไม่ชนะ ความผิดหวัง หลายคนไม่ชอบคำนี้เลย และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองเลย แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครชนะไปเสียทุกอย่าง" โดยแท้จริงแล้วในชีวิตคนเรานั้น ย่อมต้องมีแพ้บ้าง ชนะบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นสัจธรรมแห่งโลก แต่ในสังคมปัจจุบัน ในสังคมที่ต้องแข่งขันกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ในสังคมที่ชื่นชมแต่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทอดทิ้งผู้พ่ายแพ้ ดังเราจะเห็นว่ามีข่าวการฆ่าตัวตายในประเทศที่เจริญแล้วเพิ่มมากขึ้น เพียงเพราะผิดหวังหรือพ่ายแพ้บางสิ่งบางอย่าง เช่น พลาดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พลาดจากการเรียนต่อชั้นที่สูงขึ้น พลาดจากการได้เกรดเฉลี่ยดี เป็นต้น เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแพ้มาก่อนจึงไม่รู้จักการดำรงอยู่ควบคู่กับทัศนะคติที่ดีต่อความพ่ายแพ้นั้นๆ หรือไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดความพ่ายแพ้ขึ้นในชีวิต บางคนอาจเรียกอย่างเป็นทางการว่า การบริหารความพ่ายแพ้ หรือบทเรียนของความพ่ายแพ้ ก็คงไม่ต่างอะไรมากนัก ข้อคิดข้อหนึ่งของข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิตขององค์ดาไลลามะ คือ เมื่อคุณแพ้อย่าลืมเก็บไว้เป็นบทเรียน จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรนำมาขบคิดเป็นอย่างมาก ในสังคมไทยปัจจุบันสอนให้ทุกคนเป็นผู้ชนะ แข่งกันเรียน แข่งกันทำงาน แข่งกันหาเงิน จนลืมไปว่า การเข้าใจความพ่ายแพ้ของตนเองนั้นมีความสำคัญพอๆ กับการเข้าใจหนทางสู่ความสำเร็จหรือการเป็นผู้ชนะเหมือนกัน
ขอให้พวกเราทุกคนทำความเข้าใจกับคำ 3 คำนี้ให้ดี คือ พึ่ง พอ และ แพ้ และช่วยกันนำกลับมาสู่ตนเอง กลับมาสู่คนที่เรารัก กลับมาสู่สังคมของเรา แล้วสังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่แห่งหนึ่งในโลกอันงดงามใบนี้ .....สวัสดี
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น