วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ส่งท้ายปีเก่า พ.ศ.2551 ด้วยพุทธวาจาของท่านทิโลปา(Tilopa)

บทความนี้คงเป็นบทความสุดท้ายสำหรับปีนี้แล้ว หลายสิ่งหลายอย่างในปีนี้ช่างผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงกันจนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและคนทั้งโลกต้องปรับตัวกันอย่างมากมาย เป็นต้นว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานสูงขึ้นไปอย่างมากในช่วงต้นปีแรกและลดต่ำลงมาอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงปลายปี ราคาอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และราคาทองคำ รวมถึงตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกที่ผันผวนกันอย่างมาก ในช่วงปลายปีนี้ธุรกิจต่างๆ ที่เป็น Real Sector เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว หลายๆ คนกังวลว่าจะ ตกงานหรือไม่มีงานทำในปีหน้า แต่สำหรับบางคนก็ตกงานไปเรียบร้อยแล้วเหมือนกัน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเมืองภายในประเทศ และความแตกแยกเป็นสีเสื้อต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีให้เห็นกันในปีนี้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม กาลเวลาย่อมทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ต่อไป ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะเข้ามา มนุษย์ทุกผู้ทุกคน ผู้ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกาลเวลาจึงยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในส่วนของผมนั้นยอมรับว่ามีความกังวลกับความเป็นไปในปีหน้าอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังพอทำใจยอมรับและพยายามใช้เวลาช่วงที่ทุกอย่างยังคงสงบอยู่นี้ คิดหาหนทางในการดำเนินชีวิตต่อไป พยายามทำตนให้เป็นผู้กระทำต่อเหตุการณ์โดยไม่นิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ ให้เหตุการณ์ต่างๆ มากระทำต่อตนเอง
สำหรับช่วงท้ายของปีนี้ ผมขอแนะนำพุทธวาจาของท่านทิโลปา ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่เป็นที่เคารพรักของชาวทิเบต ในพุทธศาสนามหายาน มีทั้งหมด 6 คำ (Six words of Advice) ดังนี้
  1. Don't recall - Let go of what has passed. (ออกจากอะไรที่มันผ่านไปแล้ว)
  2. Don’t imagine - Let go of what may come. (ออกจากอะไรที่อาจจะเข้ามา)
  3. Don’t think - Let go of what is happening now. (ออกจากอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ ขณะนี้)
  4. Don’t examine - Don’t try to figure anything out. (อย่าพยายามสร้างตัวตนใดๆ ออกมา)
  5. Don’t control - Don’t try to make anything happen. (อย่าพยายามทำใดๆ ให้เกิดขึ้น)
  6. Rest - Relax, right now, and rest. (ผ่อนคลาย ปัจจุบันนี้ และปล่อยวาง)

ผมขออวยพรให้ทุกคนจงมีความสุข สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจดี สบายใจ ผ่อนคลายและปล่อยว่างเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีความสุขกับปัจจุบัน หยุดคิดและกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอย่างน้อยก็ตลอดช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ดังคำพระท่านว่า "อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันคือความเป็นจริง ทุกข์หรือสุขอยู่ที่ใจเราเอง" ขอให้ระลึกถึงคำแนะนำทั้ง 6 ของท่านทิโลปานี้ไว้ จิตใจจะสงบและเป็นสุขตลอดกาล.....สวัสดี

อ้างอิง:

http://en.wikipedia.org/wiki/Tilopa

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วิพากษ์คมความคิด เติ้งเสี่ยวผิง บนความเป็นประเทศไทย

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามความเป็นไปของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงชื่นชอบการฟังความคิดเห็นของผู้นำทางธุรกิจหลายๆ ท่านและหนึ่งในนั้นคือ ท่านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครืองเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยความคิดเห็นของท่านฯ บางครั้งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เช่น น้ำมันบนดิน และบางครั้งผมก็ยังสงสัยในใจ เช่น ทฤษฎีสองสูง เป็นต้น และเมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสฟังความคิดเห็นของท่านฯ อีกครั้งหนึ่งในโอกาสที่ให้คำแนะนำรัฐบาลใหม่ ดังนี้

อันไหนที่เราคิดว่าดี ก็เกทับรัฐบาลเก่าไปเลย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ยกเลิก

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ออกมาเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ "รัฐบาลควรใช้ทฤษฎีสองสูงแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้มีราคาดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น และรองรับผู้ที่ตกงานซึ่งจะไหลกลับสู่ภาคเกษตร รวมทั้งเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ อันไหนที่เราคิดว่าดี ก็เกทับรัฐบาลเก่าไปเลย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ยกเลิก นโยบายที่ดีก็สานต่อ อะไรก็ได้ที่ทำให้ทั้งแมวดำและแมวขาวสามารถจับหนูได้ก็ให้รัฐบาลทำไป คุณอภิสิทธิ์ เป็นคนหนุ่มไฟแรง แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่มีประสบการณ์ในภาคเอกชน แต่หากเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงานก็ถือว่าบริหารงานได้ดี และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่หากทุกคนช่วยกันก็จะช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤติไปได้ หากรัฐบาลทำได้ดีก็สามารถอยู่ได้ครบวาระ"

เมื่อได้ยินคำว่า แมวดำและแมวขาว ทำให้ผมนึกถึงอดีตท่านผู้นำสูงสุดของประเทศจีนท่านหนึ่งคือ ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นมาถนัดใจและนึกได้ว่าเคยอ่านบทความเกี่ยวกับปรัชญาการบริหารของท่าน จึงขอนำเสนอในแนวทางการวิเคราะห์ว่าสามารถประยุกติ์ใช้กับประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ ดังนี้

1. 不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫

(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา) “ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”

ในหลักการข้อนี้คือ ควรยึดหลักแนวทางการปฎิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัวหรือที่ทำตามกันมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นประเทศจีนประสบปัญหาเกี่ยวกับราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ผู้นำหลายคนมีความคิดหลากหลายและมีข้ออ้างว่าเป็นวิธีของทุนนิยมไม่สมควรนำมาใช้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำยังคงมีอยู่ นโยบายบางอย่างของรัฐบาลก็ถูกถากถางว่าเป็นประชานิยม ซึ่งในความทัศนะของผมคิดว่าไม่แตกต่าง นโยบายข้อใหนทำแล้วดีก็ควรทำไม่จำเป็นว่าจะเป็นประชานิยมหรือไม่ประชานิยม จากความคิดเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่กล่าวในงานสัมมนาสัมมนาเรื่อง “ศักยภาพของสังคมไทยกับวิกฤติโลก” ดังนี้
" .....ส่วนที่หลายคนมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกับรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมไม่ได้สนใจว่า เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีหลักการ 2 ข้อ คือ 1. จะต้องใช้เงินได้เร็ว ส่งเงินเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ทัน 2. จะต้องเป็นนโยบายที่ถอยหลังหรือยกเลิกได้ ไม่ใช่นโยบายที่หว่านเงินหรือเสพติดจนเกินไป" หากจะเปรียบกับศาสตร์ด้านการบริหารการจัดการน่าจะเป็น Management by objective นั่นเอง รัฐบาลควรมองที่ผลของนโยบายที่จะได้รับมากกว่ามองว่า เป็นขาวหรือดำ

2. 解放思想,实事求是

(เจี่ยฟ่างซือเสี่ยง, สือซื่อฉิวซื่อ) “ ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง ”

การจะนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัยนั้น ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง มองว่า ต้องก่อเกิดจากความคิดที่ทันสมัยก่อน นั้นคือต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เคารพกฎแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ตลอดจนยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาที่เป็นจริงเชิงปฏิบัติ เป็นไปอย่างรอบด้าน และมีความเป็นมหาชน บนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ดังคำกล่าวของจีนที่ว่า "การปฏิบัติคือมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่จะทดสอบสัจธรรม" สำหรับประเทศไทย ต้องกลับมามองที่รากฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยก่อน ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รากเหง้าของคนไทยคุณเคยกับการเกษตรกรรมมาช้านาน อีกทั้งมีความแข็งแกร่งทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการพัฒนาประเทศที่จะมุ่งไป ควรจะอยู่บนความเป็นจริงด้านเกษตรกรรม จะเป็นเกษตรกรรมแบบพอมีพอกิน หรือจะเป็นเกษตรกรรมเชิงพานิชย์ก็ได้ และพัฒนาไปสู่อุตสาหรรกรรมการแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ คำว่า น้ำมันบนดิน ของท่านเจ้าสัวธานินทร์ฯ ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมหาศาลในการพัฒนาพลังงานทดแทน ในตอนแรกอาจจะพัฒนาให้พอมีพอใช้ในประเทศก่อนเพื่อเป็นการลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ และเมื่อส่งเสริมนโยบายด้านการพัฒนาเทศโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนและการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อมีความสามารถเพียงพอจึงค่อยส่งออกเพื่อเป็นรายได้ของประเทศอีกทางหนึ่งก็เป็นส่งที่ดีอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่ว่าประเทศไทยจะจัดการเรื่องดังกล่าวได้อย่างสมดุลย์หรือเปล่า

3. 尊重知识,尊重人才

(จุนจ้งจือซือ, จุนจ้งเหรินไฉ) “ เคารพความรู้ เคารพความสามารถของบุคคล ”

ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศชาติเลยก็ว่าได้ ทรัพยากรใดใดนี้โลกนี้ที่มีค่าที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างมากมาย เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศสิงค์โปร์ ไต้หวัน อิสราเอล และฮ่องกง เป็นต้น ทรัพยากรมนุยย์ของประเทศไทยยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก และต้องวางแผนการพัฒนาให้ถูกหลักการด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านกฎหมาย และด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ล้วนแล้วแต่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีนคือ การมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เร็วเกินไปจนลดทอนด้านจริยธรรมและคุณธรรม ทำให้กลายเป็นปัญหาของประเทศจีนในปัจจุบัน อย่างเช่น เรื่องคุณภาพของสินค้า และความปลอดภัยด้านอาหารที่ส่งออกไปต่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและชนบท เป็นต้น ในมุมมองของหลักการนี้ที่มีต่อประเทศไทยจึงควร พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยควบคู่ไปกับคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม อย่างเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

4. 我是中国人民的儿子

(หว่อซื่อจงกั๋วเหรินหมินเตอเออร์จื่อ) “ ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน ”

“ ข้าพเจ้าภูมิใจในฐานะชาวจีน ที่เป็นประชากรคนหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน และมีความรักอันลึกซึ้งให้กับมวลชนและมาตุภูมิ” เติ้งเสี่ยวผิง เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง <รวมรวบผลงานวรรณกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง> ซึ่งออกโดยสำนักพิมพ์ Pergamon ของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981 นี่คือความในใจของวีรบุรุษผู้เติบโตภายใต้การกล่อมเกลาด้วยจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมจีน แสดงออกซึ่งความรู้สึกและจิตสำนึกรักชาติ ดังคำกล่าวกินใจของเติ้งที่ว่า “การบรรลุความเป็นจีนเดียว คือความปรารถนาของชนทั้งชาติ แม้ผ่านไป 100 ปียังไม่สำเร็จ จะใช้เวลา 1,000 ปีก็ไม่สายที่จะรวมกันเป็นหนึ่ง

ผมตัดข้อความข้างต้นมาจากต้นฉบับที่อ่านมาก่อนหน้านี้ ความเป็นคนไทยต้องตระหนักรู้อยู่ในสายเลือด ความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยต้องอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน แม้ประเทศไทยจะไม่ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนเหมือนอย่างประเทศจีน แต่ในสังคมไทยทุกวันนี้ก็มีความแตกแยกอยู่บ้างแล้ว ดังจะเห็นจากการชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าจะใช้สัญลักษณ์ สีเหลือง หรือ สีแดง ก็ตามแต่ จงตระหนักรู้ไว้เถิดว่า พวกเราทุกคนเป็นลูกหลานชนชาติไทยด้วยกันทั้งนั้น มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จงรู้รักสามัคคีกันไว้เถิด นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยหลักการข้อนี้ ที่พวกเราทุกคนตระหนักว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกเป็นหลานของชนชาติไทยคนหนึ่ง พวกเราจะสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ไปได้อย่างแน่นอน

ดังเราจะเห็นว่า คมความคิดของท่านผู้นำเติ้งเสียวผิงนั้นเป็นสากลแห่งสัจธรรม หากศึกษาจนเข้าใจอย่างลึกซื้ง ประยุกติ์ใช้อย่างเหมาะสมตามกาลเวลา และสถานที่แล้ว จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดียิ่ง.........สวัสดี

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

"Dad, I always told you I'd come back and get my degree."

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน หายหน้าหายตาไปนานเลยคราวนี้กลับมาพร้อมกับประโยคที่กินใจผมเหลือเกิน "Dad, I always told you I'd come back and get my degree." หากจะพูดเป็นภาษาไทยในสำนวนของผม คือ พ่อครับ ผมบอกพ่ออยู่เสมอว่าผมจะกลับมาและเรียนให้จบ
ก่อนอื่นผมขอเท้าความเบื้องหลังของประโยคนี้สักหน่อย คือประมาณเดือนสิงหาคมปีนี้ ผมได้ไปเดินดูหนังสือที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ บังเอิญได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่นหนึ่งที่เป็นหนังสือแปลของบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง ที่ถูกเชิญไปพูดในโอกาสที่นักศึกษาจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพลิกอ่านไปเรื่อยๆ ก็เจอประโยคที่น่าสนใจประโยคนี้เข้า ผมคิดว่าหลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงจุดนี้แล้วคงพอจะเดาได้ว่า ใครน่ะที่เป็นบุคคลสำคัญระดับโลกและพูดประโยคนี้ให้พวกเราได้ยินกัน หากเป็นผมหรือคุณๆ ท่านๆ พูดประโยคนี้ก็คงไม่น่าสนใจสักเท่าไร แถมอาจจะยังมีคำกระแนะกระแหนตามมาอีกว่า "ก็เรื่องของมึงงง...ซิว่ะ จะมาบอกให้รู้ทำไม" แต่ถ้าผมบอกว่าคนที่พูดประโยคนี้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยติดอันดับสองของโลกในปีนี้ล่ะ คงพอจะกระตุ้นต่อมสติของพวกคุณๆ ได้บ้างกระมังและถ้าบอกว่าเขาคือพ่อมดแห่งโลกไอทีล่ะ ท่านผู้อ่านคงจะถึงบางอ้อบ้างแล้วกระมัง ใช่ครับเขาคือ บิล เกตต์ (Bill Gates) ประโยคข้างต้นเป็นนี้เป็นส่วนหนึ่งใน Commencement Speech ที่Harvard University เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2007 (สำหรับบทความเต็มๆ ฟังได้จากลิงค์ตามนี้ครับ http://plin.exteen.com/20070611/speech-by-bill-gates-at-harvard-university-june-7-2007) จากการฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้เขียนรู้สึกว่าถึงแม้ว่า บิล เกตต์ จะพูดประโยคนี้สั้นๆ และเหมือนกับว่าเป็นโจ๊กให้นักศึกษาได้หัวเราะกันแต่ความรู้สึกที่ผมได้ฟังคือ ผู้พูดให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากจากประโยคเต็มๆ ที่ว่า "I've been waiting more than 30 years to say this: "Dad, I always told you I'd come back and get my degree." ถึงแม้ว่าในการกลับมาที่ Harvard University ครั้งนี้ เขาจะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ An honorary Law Degree ก็ตาม ผมไม่อาจคาดเดาได้ว่าในใจของ บิล เกตต์ เขาคิดอย่างไร แต่ที่อยากจะเขียนในบทความนี้คือการชี้ประเด็นให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาซึ่งแม้แต่คนที่ร่ำรวยระดับโลกยังต้องคำนึงถึง ในการพูดครั้งนี้เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่ Inequity หรือ ความไม่เสมอภาคของผู้คนในโลก แต่ผู้เขียนจะขอหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามากล่าวอ้างเพียงบางส่วนเท่านั้น
ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ 2 ส่วนคือ ความสำคัญของการศึกษาและลำดับงานสำคัญในชีวิตที่ต้องทำก่อน สำหรับด้านการศึกษาหาความรู้คงแล้วแต่ใครจะสนใจ รักและถนัดที่จะทำอะไรก็เป็นไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งการศึกษาหาความรู้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่อีกประเด็นหนึ่งคือ ลำดับงานสำคัญในชีวิตที่ต้องทำก่อน หากเรามองชีวิตที่ประสบความสำเร็จของ บิล เกตต์ เป็นกรณีศึกษาแล้วจะเห็นว่าเขาตั้งใจจะกลับมาเรียนให้จบตลอดเวลาแต่ด้วยความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงของเขาทำให้ความตั้งใจนี้ต้องเลื่อนออกไป ออกไป และออกไป จนในที่สุดก็สายเกินกว่าที่จะกลับไปเรียนให้จบตามที่คิดไว้ได้อีก ผู้เขียนเคยฟังท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า จงทำเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน เรื่องที่เมื่อวันและเวลาผ่านเลยไปแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับมาทำได้อีก เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น มากขึ้นแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะย้อนกลับมานึกถึงอดีต ผู้คนเหล่านั้นจะรู้สึกเสียใจกับเรื่องที่ไม่ได้ทำมากกว่าที่ทำแล้วผิดพลาดหรือล้มเหลว ในความนึกคิดของผู้เขียนเชื่ออย่างสนิทใจว่าหาก บิล เกตต์ ไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้จบมหาวิทยลัยฯ เสียก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มต้นธุรกิจหรือจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างพอประมาณและเรียนไปด้วยพร้อมๆ กัน ด้วยความเป็นอัจฉริยะในตัวของเขา เขาก็ยังคงประสบความสำเร็จและเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ดี แต่อาจจะช้าไปสัก 4 ปีหรือมากกว่านั้นก็คงไม่เป็นไรกระมัง
ดังนั้นจึงอยากฝากข้อคิดไว้กับผู้อ่านสักสองข้อว่า จงตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการศึกษาเสมือนหนึ่งว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียวหรือจะเรียกตามสมัยนิยมปัจจุบันนี้คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และข้อที่สองคือ จงทำงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตก่อน งานที่เมื่อเวลาผ่านเลยไปแล้วเราจะไม่สามารถกลับมาทำมันได้อีก เช่นการเรียนให้จบมหาวิทยาลัย หรือการเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกตามที่ตั้งใจไว้ เป็นต้น
ณ ตอนนี้ผู้เขียนยังมีข้อกังขาใจว่า หากปัจจุบันนี้สามารถมีเครื่องย้อนเวลาอย่างที่เรียกว่า Time Machine และสามารถย้อนเวลากลับไปได้สัก 30 ปีกว่าๆ กลับไปในสมัยที่ บิล เกตต์ ยังเรียนอยู่ที่ Harvard University เขาจะตัดสินใจทำอะไรในตอนนั้น............คำตอบนี้คงอยู่ในใจ บิล เกตต์ ตลอดกาล.........สวัสดี

วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551

ช่วยเหลือผู้อื่น.....อุดมคติของพระโพธิสัตว์

กระแสโลกในปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว ทั้งที่เป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง หรือแม้กระทั่งด้านจริยธรรมและคุณธรรมของผู้คนที่รวมกันเป็นหมู่เหล่า หรือรวมกันเป็นรัฐหรือประเทศชาติ การถ่ายทอดและเปลี่ยนถ่ายทางความคิดและพฤติกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางเรื่องก็เข้ากันได้กับผู้คนในสังคม และในบางเรื่องก็ขัดแย้งกับผู้คนในสังคม บางคนก็เลือกที่จะยอมรับในบางเรื่อง และบางคนก็เลือกที่จะไม่ยอมรับในบางเรื่องจนเกิดการแบ่งแยกเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นเหล่าตามความคิดแห่งตน ตามอัตตาแห่งตน ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เรียกว่า "ตัวกู ของกู" เพื่อที่จะละความเป็นตัว เป็นตน ความยึดมั่นถือมั่นลงเสียบ้าง มนุษยชาติจึงสมควรที่จะได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ "พระโพธิสัตว์"ในทางพระพุทธศาสนาดูบ้าง ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายไว้ว่า พระโพธิสัตว์นั้น เป็นได้ทั้งบรรพชิตและฆราวาส แต่สวนใหญ่เป็นฆารวาสตามความมุ่งหมาย พระโพธิสัตว์แบ่งเป็น 3 จำพวก ได้แก่
พวกแรก ฝ่ายเถรวาท หมายถึง ผู้ที่พยายามจะเป็นพระพุทธเจ้า เช่นในชาดกกว่า 500 เรื่อง เป็นต้น
พวกที่สอง มหายานบัญญัติ พระโพธิสัตว์คือผู้สนองพระพุทธโองการ มีอยู่หลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ประจำองค์พระอมิตภะพุทธเจ้า
พวกที่สาม ของมหายาน ใครก็ได้ที่ถือสมาทานศีลโพธิสัตว์ คือ จะต้องช่วยมนุษย์คนสุดท้าย ก่อนจะเข้านิพพาน

นอกจากนี้พระโพธิสัตว์ยังต้องมีจริยธรรม คุณสมบัติ และมหาปณิธาน ดังต่อไปนี้

จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
พระโพธิสัตว์ ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่าจะไม่มีภัยอันตราย
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง
พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ
พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้

คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 ข้อใหญ่

มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม
คุณสมบัติทั้งสามข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง 2 ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น

มหาปณิธาน 4
เราจะละกิเลสให้หมด
เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ
เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด

ในยามที่ประเทศชาติเกิดความแบ่งแยกทางความคิดดังเช่นทุกวันนี้ หากปวงชนทั้งหลายได้ตรึกตรองถึงอุดมคติของพระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนาแล้ว และมีปณิธานที่จะ "...ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น...และช่วยเหลือผู้อื่น" แล้วละก็ ความสงบสุข ความร่มเย็น ก็จะบังเกิดขึ้นแล.....สวัสดี

วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เฮือนนครหลวงเวียงจันทร์...ตอนที่ 1

พอเริ่มมีเวลาว่างจากการทำงานหนักมาเกือบทั้งปี และภารกิจการเรียนก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้เขียนจึงพอมีเวลาว่างที่จะคิดเรื่องการท่องเที่ยวอยู่บ้างและอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นรางวัลแก่ชีวิตด้วยที่วิริยะอุตสาหะจนจบการศึกษาได้ ครั้นจะรอท่านประธานรุ่นMBA จัดให้ไปพร้อมกันทั้งคณะเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็คงต้องรอต่อไปจนถึงกาลพระศรีอริยเมตตรัยยามสุริยนย่ำสนธยาเป็นแน่แท้ หรือจะบอกเล่าเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือคงต้องรอจนถึงชาติหน้าตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกดินนั่นกระมัง (เหน็บนิดๆ สะกิดเบาๆ อย่าโกรธน่ะครับ) ว่าแล้วเมื่อรวมกลุ่มสมาชิกได้สักจำนวนหนึ่งก็สะพายเป้ มุ่งสู่อีสานทิศ เยือนถิ่นนครหลวงเวียงจันทร์ ดินแดนช้างล้านเชือก (ล้านช้าง) กันเลย
การเดินทางไปนครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งต่อไปผู้เขียนขอเรียกสั้นๆ ว่าประเทศลาว ที่สะดวกๆ มีสองวิธี คือ เดินทางไปทางเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิประเทศไทยแล้วไปลงที่สนามบินแห่งชาติของประเทศลาวก็ได้ หรือจะเดินทางไปถึงจังหวัดหนองคายก่อนแล้วจึงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวก็สะดวกไม่แพ้กัน สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผู้เขียนและคณะตัดสินใจเดินทางโดยรถทัวร์ไปที่จังหวัดหนองคาย แล้วจึงเดินทางข้ามไปนครเวียงจันทร์ทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวอีกต่อหนึ่ง เหตุผลก็เพราะพวกเราเข้าใจดีว่ารายละเอียดระหว่างทางมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าจุดหมายปลายทางนั้นเอง ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่ออยู่บนรถทัวร์แล้วพอเลยอยุธยาไปหน่อยหนึ่ง รายละเอียดระหว่างทางก็เริ่มเลือนลางและมืดมิดในที่สุด มารู้ตัวอีกทีก็พนักงานต้อนรับบนรถทัวร์ประกาศให้ทราบว่าอีก 15 นาทีจะถึงสถานีขนส่งจังหวัดหนองคายแล้วเป็นอันว่ารายละเอียดระหว่างทางของพวกเราในคณะเดินทางคงเป็นของใครของมันแล้วกัน แล้วแต่ว่าใครจะฝันดี ฝันร้าย ฝันเด่น กันอย่างไร จากสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย จะมีรถรับส่งผู้โดยสารวิ่งระหว่าง จังหวัดหนองคาย ถึง นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 50 นาทีก็จะไปถึงสถานีขนส่งที่นครหลวงเวียงจันทร์ได้ และหากผู้เดินทางไม่ได้นำเอา พลาสปอร์ตไปด้วย ที่สถานีขนส่งจังหวัดหนองคายนั้นมีศูนย์บริการทำบัตรผ่านแดนให้ด้วย จึงมีความสะดวกสบายอยู่ไม่ใช่น้อย ในภาพที่ 1 จะเห็นว่ามีผู้คนทั้งชาวลาว และชาวไทยปะปนกันอยู่เพื่อใช้บริการรถประจำทางเพื่อเดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว

ภาพที่ 1 ชาวไทยและชาวลาวกำลังใช้บริการรถประจำทาง

เมื่อคณะผู้เขียนอยู่ระหว่างทางบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นเวลาเช้าตรู่ อากาศเย็นสบาย ได้ยินเสียงแม่น้ำโขงไหลรวยระรื่นอย่างต่อเนื่อง บางครั้งแผ่วเบาปานประหนึ่งหยดน้ำค้างสัมผัสอยู่บนยอดหญ้า บางครั้งถามโถมดุดันปานฝูงกระทิงดุแตกตื่น ไอความเย็นจากแม่น้ำร่องรอยมาสัมผัสผิวกายแทรกซึมเข้าทุกอณูขุมขน ทำให้รู้สึกสะท้านหัวใจยิ่งนัก คณะเดินทางของเรามาถึงนครหลวงเวียงจันทร์เป็นเวลาเช้าตรู่พอดี กองทัพเดินด้วยท้องฉันใด พวกเราทุกคนก็อยากที่จะเติมเต็มอาหารลงท้องก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมต่างๆ ฉันนั้น ดังนั้นผู้เขียนจึงฝากท้องมือแรกไว้ที่นี่ด้วย เส้นเปียกน้ำ และปาท่องโก๋ ดังภาพที่ 2 เส้นเปียกน้ำจัดได้ว่าเป็นอาหารพื้นเมืองยอดนิยมของชาวนครหลวงเวียงจันทร์ชนิดหนึ่งก็ว่าได้

ภาพที่ 2 เส้นเปียกน้ำ

เนื้อเส้นจะมีสีเหลืองอ่อนๆ คล้ายเส้นบะหมี่บ้านเรานี่แหล่ะ แต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจะใหญ่กว่าเล็กน้อย เวลาทำต้องต้มให้อ่อนตัวเสียก่อนแล้วปรุงมาเป็นแบบก๋วยเตี๋ยวน้ำบ้านเรานี่เอง แต่เมื่อกัดที่เส้นจะมีความเหนียว นุ่ม และหนึบ คุณสมบัติสามอย่างนี้ประกอบกันเป็นสามประสานได้อย่างสมดุลย์ อีกทั้งกระดูกหมูที่ตุ๋นจนเนื้อเปื่อยกำลังดีเมื่อเวลากัดลงไปจนถึงกระดูกจะรู้สึกว่าน้ำในไขกระดูกพวยพุ่งมาสัมผัสกับเส้นเปียกที่กินเข้าไปทำให้เกิดเป็นดุลยภาพทางรสชาติอย่างที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถแต่งเติมรสชาติด้วยน้ำพริกเผา และมะนาวบีบอีกนิดหน่อย ทำให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งนัก เมื่อกินคู่กับปาท่องโก๋ที่ตัวใหญ่กว่าบ้านเรานิดหน่อย ดูดูไปไม่คล้ายจะเข้ากันสักเท่าไร แต่เมื่อลิ้นได้ลองสัมผัสดูแล้ว ผู้เขียนถึงกับอุทานออกมาว่า “อร่อยยิ่งนักๆ” จนทำให้ผู้เขียนจินตนาการเลยเถิดไปว่าถ้าประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้ว่ามาร์โคโปโล เดินทางไปประเทศจีนแล้วนำเส้นบะหมี่ไปเป็นต้นแบบของเส้นสปาร์เก็ตตี้แล้วล่ะก็ มาร์โคโปโลคงจะหลงทางมาที่นครหลวงเวียงจันทร์แห่งนี้ แล้วนำเส้นเปียกไปเป็นต้นแบบของเส้นสปาร์เก็ตตี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกเป็นแน่แท้
อาหารพื้นเมืองอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนอยากแน่ะนำให้รู้จักคือ ข้าวจีปัตเตร์ ที่มีขายให้เห็นอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ผู้เฒ่าชาวลาวท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ข้าวจี ก็คือขนมปัง และปัตเตร์ คือ ชาวฝรั่งหรือฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้ว ข้าวจีปัตเตร์ จึงหมายความว่า ขนมปังฝรั่งเศส นั่นเอง ลักษณะเนื้อขนมปังภายนอกจะแข็ง และนุ่มที่เนื้อใน และสอดไส้หมูสับหรือไก่สับที่ปรุงสุกอยู่ชั้นในสุดแล้วแต่งเติมรสชาติด้วยน้ำปรุงรสหรือซอสพริก ซึ่งน่าจะคล้ายๆ กับแฮมเบอร์เกอร์เห็นจะได้ ผู้เขียนรู้สึกว่าอาหารพื้นเมืองนี้ได้บอกเล่าความเป็นตัวตน บุคคลิกลักษณะและเอกลักษณ์ของชนชาติลาวได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 3 ข้าวจีปัตเตร์

กล่าวคือชาวลาวเมื่อดูภายนอกจะเห็นว่าเป็นคนที่สู้งาน มีความอดทน แต่แฝงความโอนโยน และความมีไมตรีจิตอยู่ภายในจิตใจ อีกทั้งเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ที่ปรุงสุกผ่านการสับละเอียดพอประมาณผสมคลุกเคล้ากับน้ำปรุงรสที่มีความเผ็ดร้อน แสดงถึงความรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชนชาติและมีความร้อนแรงในความรักชาติอยู่เต็มอก ดูจากภาพแล้วสมาชิกท่านหนึ่งของคณะเดินทางของเราคงจะติดใจข้าวจีปัตเตร์เข้าแล้วกระมัง ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าอาหารเพียงชนิดหนึ่งยังบ่งบอกความหมายได้มากมายขนาดนี้ ทำให้นึกถึงบ้านเราเมืองเรายิ่งนักในสภาวะการที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากเช่นนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องรู้รักสามัคคีไว้ให้มากๆ ให้สมกับคำที่ว่า คนไทยอย่างไรเสียก็กินข้าวหม้อเดียวกัน
มาเยือนนครหลวงเวียงจันทร์ครั้งนี้หากไม่เอ่ยถึง เบียร์ลาว แล้วละก็คงกล่าวได้ไม่เต็มปากว่ามาถึงประเทศลาว ในนครหลวงเวียงจันทร์พอตกค่ำจะเห็นตามร้านอาหารต่างๆ จะมีผู้คนนั่งกินอาหาร และมีเบียร์ลาวเป็นเครื่องดื่มอยู่ด้วยอยู่ร่ำไป ผู้เขียนจึงอดไม่ได้ที่เมื่อมีโอกาสแล้วจะต้องลองดื่มด่ำกับเบียร์ชนิดนี้สักครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ฟองเบียร์นุ่มๆ สีขาวนวลเหมือนขนมปุยฝ้าย เมื่อสัมผัสริมฝีปากและปลายลิ้นแล้วมลายหายไปเหมือนเกลียวคลื่นกระทบฝั่งแล้วแตกเป็นฟองอย่างไรอย่างนั้นเลย น้ำเบียร์มีรสขมอมหวาน ผู้เขียนมีความเห็นว่ารสชาติของเบียร์ลาวจะอ่อนนุ่มกว่าเบียร์ช้าง และเบียร์สิงห์บ้านเรา อาจเป็นเพราะมีกลุ่มบริษัทคาร์ลสเบอร์กร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยก็เป็นได้ รสชาติจึงออกไปทางนุ่มๆ แบบเบียร์ตะวันตก เมื่อแรกดื่มเบียร์เข้าไปจะออกรสขม และเมื่อกลืนลงคอไปแล้วรสหวานจะตามลงคอไปอย่างกระชั้นชิด เมื่อน้ำเบียร์ผ่านลำคอ ลงสู่กระเพาะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าได้ราดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลงบนกองเพลิงอย่างไรอย่างนั้น ร้อนไปทั้งท้อง ความร้อนแผ่ซ่านไปทั่วทั้งร่างกาย เซลล์ต่างๆ ทั่วทั้งร่างกายเกิดการกระตุ้นให้เผาผลาญพลังงานมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น ในมื้อนั้นผู้เขียนจึงเจริญอาหารเป็นพิเศษ เมื่อเขียนถึงเบียร์ลาวแล้วก็ขอเสริมอีกหน่อยว่า ตัวอักษรของประเทศลาวนั้นคล้ายกับของประเทศไทยอยู่เหมือนกันจะต่างกันบ้างก็เล็กน้อย อย่างคำว่า เบียร์ลาว เขาจะเขียนว่า เบยลาว ซึ่งตัว บ ของเขาคล้ายกับ ข ของบ้านเรามาก ดังนั้นตอนแรกที่ผู้เขียนไปซื้อเลยเข้าใจผิดถามคนขายว่า “เขยลาว ขวดละเท่าไร” ทำให้เป็นที่ขบขันของเจ้าของร้านซึ่งเป็นผู้ชายวัยกลางคนเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งตอบกลับมาว่า “จะเป็นเขยลาวใช้เงินไม่มากหรอก แต่ต้องจริงใจหลายๆ แต่ถ้าเบยลาวละก็ขวดละ 5000 กีบ” ทำเอาสาวน้อย สองสามคนที่นั่งข้างๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันไปตามๆ กัน ทำเอาผู้เขียนเขินอายไปเหมือนกัน ซึ่งต่อมาหลังจากที่ไปทานข้าวร้านเขาบ่อยๆ เข้าจึงทราบว่า สาวน้อยๆ นั่นไม่ใช่ลูกสาว แต่เป็นภรรยาแกทั้งนั้นเลย ทำให้ผู้เขียนถึงบางอ้อนึกถึงบทกลอนในวรรณคดีไทยว่า “อันตัวกูผู้ศักดา นามลือชาขุนแผนแสนสะท้าน” นั้นไม่ได้มีที่เมืองไทยเท่านั้น บ้านเขาเมืองเขาก็มีขุนแผนเหมือนกันนะจะบอกให้ ทั้งหมดนี้ผู้เขียนตระหนักดีว่า ถึงแม้จะเขียนสักหมื่นคำอักษรบรรยาย ก็ไม่เท่าปลายลิ้นสัมผัส ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดมีโอกาสได้ไปเยือนนครหลวงเวียงจันทร์ ก็ขออย่าได้พลาดโอกาสลิ้มลองอาหารรสเลิศเหล่านี้ล่ะครับ
ชาวนครหลวงเวียงจันทร์ โดยทั่วไปเป็นคนสวย น่ารัก ผิวขาว มีกิริยาท่าทางเรียบร้อย มีความเรียบง่าย สำเนียงการพูดจาไพเราะมีเสียงสูงเสียงต่ำ มีหนักมีเบา ซึ่งดูไปแล้วคล้ายกับชาวไทยทางภาคเหนือมากกว่าทางภาคอีสาน เวลาทักทายจะใช้คำว่า “สบายดี” เวลาขอบคุณจะพูดว่า “ขอบใจหลาย” และเมื่อบอกว่าไม่เป็นไร จะพูดว่า “บ่อเป็นหยัง” ในการเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนพูดสามคำนี้จนชำนาญปากเลย ดูถ้าสมาชิกท่านหนึ่งในคณะของเราคงมีความรู้สึกดีเป็นพิเศษกับสาวน้อยชาวนครหลวงเวียงจันทร์แห่งนี้แล้วกระมัง จนต้องขอถ่ายรูปมาเป็นที่ระลึกสักหน่อย อย่างไรเสียผู้เขียนคงต้องกระซิบบอกว่า “อย่างลืมพกความจริงใจมาหลายๆ นะจะบอกให้ว่าที่มหาบัณฑิต”
ในการมาเยือนนครหลวงเวียงจันทร์ครั้งนี้ ผู้เขียนมีโอกาสสนทนาธรรมกับพระภิกษุหนุ่มที่บวชเรียนในพระพุทธศาสนามากว่าสิบสองพรรษาอยู่นานสองนาน จึงทำให้พอที่จะเจียระไนความคิดและสังเคราะห์ได้ว่าทำไมพระพุทธศาสนาจึงสถิตและเจริญรุ่งเรืองบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้อย่างมั่นคง ตลอดจนพระภิกษุจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวลาวอย่างไม่เสื่อมคลาย น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ เนื้อที่กระดาษหมดลงแล้วติดตามอ่านต่อตอนหน้าครับ ผู้เขียนจะบรรยายต่อเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อความเจริญทางพระพุทธศาสนาของชาวลาว สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในนครหลวงเวียงจันทร์ และโอกาสทางธุรกิจที่นักธุรกิจมืออาชีพ หรือจะเป็นนักธุรกิจมือสมัครเล่นไม่ควรพลาด ก่อนจากกันขอประชาสัมพันธ์สักหน่อยว่า ราวปลายปีนี้คณะผู้เขียนมีแผนการจะเดินทางไปเยือนเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ดินแดนแห่งความเงียบสงบ ภูเขา ทะเลสาบ ประวัติศาสตร์อันยาวนานและตำนานรักฮอยอัน ผู้อ่านท่านใดสนใจจะร่วมเป็นหนึ่งในคณะของเราเดินทางไปด้วยกันก็ขอเชิญติดต่อถามข่าวคราวได้จากสมาชิกของคณะเราได้เลยนะครับ.....สวัสดี

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ข้าวกับเรื่องเล่า..."ลุงแจวเรือจ้างกับหนุ่มนักเรียนนอก"

ผมติดตามข่าวเกี่ยวกับ ข้าว มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทั้งที่เป็นเรื่องนักธุรกิจชาวซาอุฯ ต้องการจะมาลงทุนทำนาในประเทศไทย หรือการรวมกลุ่มตั้งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว (OREC: Organization of Rice Exporting Countries) ซึ่งไม่ว่าเรื่องราวจะปรากฎผลออกมาในแง่บวกหรือลบก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมให้เห็นก็คือ ข้าวเป็นธัญญาหารที่สำคัญ ข้าวเป็นอาหารของชาวโลก หากจะกล่าวให้กว้างกว่านี้สักหน่อยก็คือ ปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นความสมดุลย์ ความพอดี และความพอเพียงของการมีปัจจัยพื้นฐานสี่ประการนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์ใช้และบริโภคปัจจัยสี่ที่มีอยู่อย่างเกินพอดี ก็จะทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ เกิดการขาดแคลนและเกิดการเก็งกำไรในที่สุดอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ คงไม่มีใครคิดว่าอาชีพทำนาจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจของชาวต่างชาติในตอนนี้ วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเปิดอ่านอีเม็ลฉบับหนึ่งที่เพื่อนที่แสนดีส่งมาให้ อ่านแล้วรู้สึกขำๆ เป็นเรื่องของ "ลุงแจวเรือจ้างกับหนุ่มนักเรียนนอก" ดังนี้

"เด็กหนุ่มคนหนึ่ง...เป็นชาวสงขลา... เรียนเก่งมาก... ได้ทุนไปเรียนอเมริกา...ตั้งแต่เด็ก...จนจบด็อกเตอร์... จึงกลับมาเยี่ยมบ้าน...
บ้านของเด็กหนุ่ม... อยู่อีกฟากหนึ่ง...ของทะเลสาบสงขลา... ต้องนั่งเรือแจว...ข้ามไป...ใช้เวลาแจวประมาณหนึ่งชั่วโมง...
เรือที่ติดเครื่องยนต์...ไม่มีเหรอ...ลุง...? ไม่มีหรอกหลาน...ที่นี่มันบ้านนอก... มันห่างไกลความเจริญ...มีแต่เรือแจว...
โอ...ล้าสมัยมากเลยนะลุง...โบราณมาก... ที่อเมริกา....เขาใช้เครื่องบินกันแล้วลุง...ลุงยังมานั่งแจวเรืออยู่อีก... ไปส่งผมฝั่งโน้น...เอาเท่าไร...ลุง...?
80 บาท... OK...ไปเลยลุง...
ในขณะที่ลุงแจวเรือ... หนุ่มนักเรียนนอก...ก็เล่าเรื่องความทันสมัย... ความก้าวหน้า...ความศิวิไลช์...ของอเมริกาให้ลุงฟัง...
เมืองไทย...เมื่อเทียบกับอเมริกาแล้ว...ล้าสมัยมาก... ไม่รู้คนไทย...อยู่กันได้ยังไง...?
ทำไมไม่พัฒนา...ทำไมไม่ทำตามเขา...เลียนแบบเขาให้ทัน...?
ลุง...ลุงใช้คอมพิวเตอร์...ใช้อินเตอร์เน็ต...เป็นไหม...?
ลุงไม่รู้หรอก...ใช้ไม่เป็น...
โอโฮ้...ลุงไม่รู้เรื่องนี้น่ะ....ชีวิตลุงหายไปแล้ว...25 %....
แล้วลุงรู้ไหมว่า...เศรษฐกิจของโลก...ตอนนี้เป็นยังไง...?
ลุงไม่รู้หรอก...
ลุงไม่รู้เรื่องนี้นะ...ชีวิตของลุงหายไป...50 %
ลุง...ลุงรู้เรื่องนโยบายการค้าโลกไหม...ลุง...? ลุง...ลุงรู้เรื่องดาวเทียมไหม...ลุง...?
ลุงไม่รู้หรอก...หลานเอ๊ย... ชีวิตของลุง...ลุงรู้อยู่อย่างเดียว... ว่าจะทำยังไง...ถึงจะแจวเรือให้ถึงฝั่งโน้น...
ถ้าลุงไม่รู้เรื่องนี้...ชีวิตของลุง...หายไปแล้ว...75 %
พอดีช่วงนั้น... เกิดลมพายุพัดมาอย่างแรง...คลื่นลูกใหญ่มาก...ท้องฟ้ามืดครึ้ม...
นี่พ่อหนุ่ม...เรียนหนังสือมาเยอะ...จบดอกเตอร์จากต่างประเทศ... ลุงอยากถามอะไรสักหน่อยได้ไหม...?
ได้...จะถามอะไรหรือลุง...?
เอ็งว่ายน้ำเป็นไหม...?
ไม่เป็นจ๊ะ...ลุง....
ชีวิตของเอ็ง...กำลังจะหายไป 100 % ...แล้วพ่อหนุ่ม..."

เรื่องทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับ ข้าว แต่อย่างไร แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานการมีชีวิตอยู่ของคนเราอาจมิใช่การพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ความมีความสามารถพื้นฐานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับในประเทศไทย อาชีพทำนาแม้จะดูเหมือนไม่ทันสมัยอย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่นๆ แต่ก็เป็นอาชีพที่กำหนดความเป็นความตายของคนทั้งโลกและการดำรงอยู่ของเผ่าพันธ์มนุษย์ ผู้เขียนมีความเห็นว่าชาวนาเป็นผู้ที่มีพระคุณและอาชีพทำนาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ คงมีสักวันที่ผู้คนจะหันมาถามกันว่า "เอ็งทำนาเป็นหรือเปล่า.....ถ้าไม่เป็น.....ชีวิตของเอ็ง.....กำลังจะหายไป 100% ....แล้วพ่อหนุ่ม..." ฮ่า...ฮ่า...ฮ่า..... สวัสดี

วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจสี่...ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ

"เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ......" บทสวดพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบทสวดที่สาธยายเกี่ยวกับความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าหลักธรรมอริยสัจ 4 นี้เป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นความจริงของโลก ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดบนโลกใบนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้รับรู้และพิจารณาตรึกตรองหลักธรรมนี้ อริยสัจ 4 อธิบายได้ดังนี้

อริยสัจสี่ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการหลักคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา อาจถือว่าเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค

อริยสัจที่ ๑ ทุกข์
ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ พระองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แม้ที่สุดเป็นพระภิกษุ ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างกันแต่เพียงว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อยและมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น พระองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑.สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีทุกข์ชนิดนี้ มี ๓ ประการได้แก่
๑.การเกิดเป็นทุกข์
๒.การแก่เป็นทุกข์
๓.การตายเป็นทุกข์
๒.ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จร เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญารู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง สามารถหลีกเลี่ยงทุกข์ชนิดนี้ได้ ทุกข์จรนี้มีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่
๑.โสกะ ความโศก ความแห้งใจ
๒.ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน
๓.ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย
๔.โทมนัสสะ ความน้อยใจ
๕.อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ
๖.สัมปะโยคะ ความเบื่อหน่ายขยะแขยงจากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
๗.วิปปโยคะ ความห่วงใย จากการพลัดพรากจากของรัก
๘.อาลภะ ความเสียดายจากการปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น

“ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ” อริยสัจ คือ ทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้ (พุทธพจน์)

อริยสัจที่ ๒ สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคนพบว่าความทุกข์มีสาเหตุมาจากกิเลสที่มีอยู่ในใจ พระองค์บัญญัติศัพท์เรียกว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากในใจของเราเอง แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
๑.กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุป คือ อยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ
๒.ภวตัณหา ความอยากเป็น เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ ฯลฯ
๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค ฯลฯ

“ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกข์สมุทัย อันเราพึงละ (พุทธพุจน์)

อริยสัจที่ ๓ นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หมายถึงสภาพใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิงทำให้หมดตัณหา จึงหมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายมีความสุขล้วนๆ

“ทุกฺขนิโรโธ อริยสัจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกขนิโรธะ อันเราพึงทำให้แจ้ง (พุทธพจน์)

อริยสัจที่ ๔ มรรค
มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่งปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการ ได้แก่
๑.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้นคือ ความเห็นถูกต่างๆ เช่นเห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นั่นเอง
๒.สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือ คิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้ออวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมคนอื่น
๔.สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม
๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก
๖.สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือ เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๗.สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อยู่เสมอ
๘.สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือ มีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ผ่านกายในกาย ซึ่งก็คือฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับจนเข้าถึงธรรมกาย ใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางธรรมกาย

มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้าก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้
ศีล แยกออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ แยกออกเป็น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา แยกออกเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
มรรคทั้งแปดข้อนี้ให้ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ซึ่งว่าเกิดได้ขณะใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ ทำให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจน และพ้นทุกข์ได้เป็นเรื่องของการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล

“ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ” อริยสัจ คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันเราพึงบำเพ็ญ (พุทธพจน์)


(ที่มา: ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนจาก http://www1.freehostingguru.com/thaigenx/mongkhol/mk33.htm)

ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้เป็นความจริงของธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนสมควรที่จะรู้เกี่ยวกับความจริงนี้ เคยมีคนกล่าวว่า "คนเราทุกวันนี้มีความสุขน้อยลง" ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเราทุกวันนี้ยังเข้าใจหลักธรรมอริยสัจ 4 ไม่ถ่องแท้ก็เป็นได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศชาติ และปัญหาของโลก ปัญหาทั้งหลายสามารถแก้ไขได้ด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4 ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนั้นแล ขอทุกคนจงพร้อมด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4.....สวัสดี

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อแตกต่างระหว่าง ผู้ชนะ กับ ผู้แพ้ 10 ประการ

วันนี้ผมได้มีโอกาสเปิดอีเม็ลเก่าๆ ดู ทำให้เห็นบทความหนึ่งน่าสนใจดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับ 10ข้อแตกต่างระหว่าง ผู้ชนะ กับ ผู้แพ้ (10 Differences between Winner and Loser) หากจะว่าไปแล้วบุคคลต่างๆ ในโลกใบนี้อาจเป็นได้ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือ เพราะความคิดของแต่ละคนแตกต่างกันนั่นเอง ในสถานะการหนึ่งๆ อาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บทความเรื่อง 10 Differences between Winner and Loser มีรายละเอียดดังนี้ครับ

ข้อที่ 1) When a winner commits a mistake, he say I'm wrong. When a loser commits a mistake, he says it's not my fault.

ข้อที่ 2) A winner works harder and has more time than a loser. A loser always is too busy to do what is necessary.

ข้อที่ 3) A winner faces and solves his/her problems. A loser does other wise.

ข้อที่ 4) A winner makes things happen. A loser makes promises.

ข้อที่ 5) A winner would say "I am good.But not as good as I want to be". A loser would asy "I am as bad as others".

ข้อที่ 6) A winner listens, understand and responds. A loser only waits until it's his/her turn to speak.

ข้อที่ 7) A winner respects people who are superior to him and would like to learn from them. A loser does otherwise, and would try to find his superior's faults.

ข้อที่ 8) A winner is responsible not just for his own work. A loser will not dare help others and would say I'am just doing my job.

ข้อที่ 9) A winner would say "There should be a better way to do it". A loser would say "This is the only way to do".

ข้อที่ 10) A winner like you will share this with his/her friends. A loser will just keep this to himself/herself because he/she doesn't have time to share this with others.

ข้อคิดหลายๆ ข้อเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ลองนำไปคิด และปรับแต่งให้เข้ากับตนเองดูน่ะครับ ที่สำคัญจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ ทุกๆสิ่งต้องระเบิดออกมาจากภายในครับ กล่าวคือ ตนเองต้องเป็นคนเริ่มต้นก่อน ปรับปรุงความคิดและการกระทำของตนเอง มองโลกอย่างที่ผู้ชนะเค้ามองกัน เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน แล้วผู้ชนะจะอยู่กับคุณตลอดไป ดังคำกล่าวของอัศวินเจไดที่ว่า "ขอพลังจงอยู่กับท่าน (May the force be with you.)" .....สวัสดีครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทศพิธราชธรรม...ธรรมสำหรับพระราชาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมสำหรับผู้นำที่ใหญ่ยิ่ง

ผู้นำและภาวะผู้นำ มีความสำคัญต่อผู้คนซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ขนาดเล็กๆ อย่างเช่น กลุ่มคน ครอบครัว ไปจนถึงขนาดใหญ่ๆ อย่างเช่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติ จนถึงระดับประชาคมโลก ในยุคปัจจุบันนี้ที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วหรือยุคโลกาภิวัฒน์ ดูเหมือนว่า ผู้นำและภาวะผู้นำได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในการดำเนินชีวิตของทุกคน การทำธุรกิจ การประสานงานต่างๆ ในทุกระดับ ดังจะเห็นว่ามีวิทยาการหรือความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้นำ แตกแขนงออกมาอย่างมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนขอหยิบยกขึ้นมาอธิบายเกี่ยวกับ คุณธรรมของผู้นำคือ หลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง ทศพิธราชธรรม จากความตอนหนึ่งในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้อธิบายเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม ว่า "ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชธรรม 10" นี้ ปรากฏอยู่ในพระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ดังนี้ ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ. ขุ.ชา.28/240/86 " จากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าหลักธรรมนี้เป็นอมตะธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว จวบจนปัจจุบัน และจะยังคงเป็นจริงต่อไปในอนาคข้างหน้าอีกไม่รู้จบ ซึ่งรายละเอียดของทศพิธราชธรรม 10 ประการมีดังนี้

๑. ทาน คือ การให้สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือประชาชนและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หมายความถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การทรงเสียสละพระกำลังในการปกครอง แผ่นดิน การพระราชทานพระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจแห่งมนุษย์

๒. ศีล คือ ความประพฤติดีงาม ประกอบแต่การสุจริตให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน หมายความถึงการตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา อันได้แก่ เบญจศีลมาเสมอ

๓. บริจาคะ คือ การบริจาคเสียสละความสุขสำราญส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน หมายความถึงการที่ทรงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า คือ เมื่อถึงคราวก็สละได้แม้พระราชทรัพย์ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของพระองค์

๔. อาชชวะ คือ ความซื่อตรงมีความจริงใจต่อประชาชน หมายความถึงการที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและอาณาประชาราษฎร

๕. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน มีกริยาสุภาพนุ่มนวล หมายความถึงการที่ทรงเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร ทรงมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า

๖. ตบะ คือ การเผากิเลสมิให้เข้าครอบงำจิตใจ หมายความถึงความเพียรที่แผดเผาความเกียจคร้าน คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน

๗. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธและไม่เกรี้ยวกราด หมายความถึงการไม่แสดงความโกรธให้ปรากฎ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธก็ทรงข่มเสียให้สงบได้

๘. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนบีบคั้นประชาชน หมายความว่าทรงมีพระราชอัธยาศัย กอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร

๙. ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลำบากทางกายและใจ หมายความถึงการที่ทรงมีพระราชจริยานุวัตร อันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย และพระอาการ พระกาย พระวาจา ให้เรียบร้อย

๑๐. อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดธรรม ไม่เอนเอียงหวั่นไหวกับสิ่งไม่ดีงาม หมายความถึงการที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ ทรงบำราบคนที่มีความผิดโดยปราศจากอำนาจอคติ ๔ ประการ(ดูหมายเหตุ) และไม่ทรงแสดงให้เห็นด้วยพระราชหฤทัยยินดียินร้าย
(ที่มา: www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_31_11.doc)

สังคมไทยทุกวันนี้ต้องก้าวให้ทันโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือแม้กระทั้งการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คุณธรรมของผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักธรรม ทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระราชาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมสำหรับผู้นำที่ใหญ่ยิ่ง จะตราตรึงอยู่ในใจของ ผู้นำทุกคน ทั้งที่เป็น ผู้นำกลุ่ม ผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน ผู้นำประเทศ (โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย) จนถึง ผู้นำแห่งประชาคมโลก.....สวัสดี


หมายเหตุ:

อคติ 4 หมายความว่า การกระทำอันทำให้เสียความเที่ยงธรรม มี 4 ประการ
1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว


เอกสารอ้างอิง:

1. www.th.wikipedia.org/wiki/ทศพิธราชธรรม

2. www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_31_11.doc

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

พึ่ง...พอ...แพ้ คำที่กำลังจะถูกลืมไปจากสังคมไทย

การขึ้นหัวข้อเรื่องอย่างนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านหลายท่านสงสัยน่าดูว่า ทำไมคำว่า พึ่ง พอ และ แพ้ ถึงได้จะถูกลืมไปจากสัมคมไทย ลืมไปได้อย่างไร และลืมแล้วไปอยู่ที่ใหน โดยแท้จริงแล้ว ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายโดยนัยว่าคำว่า พึ่ง พอ และ แพ้ คำเหล่านี้มีความหมายและมีความสำคัญอย่างมาก ที่นับวันสังคมไทยจะลืมเลือนไปทุกที ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้แสดงทัศนะไว้ดังนี้

1.) คำว่า "พึ่ง" คำนี้หมายถึง การพึ่งพาตัวเอง และ การมีตัวเองเป็นที่พึ่ง ความหมายทั้งสองอย่างแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ การพึ่งพาตัวเอง คือการช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เหมือนคำในทางพุทธศาสนาที่ว่า อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ แปลเป็นภาษาไทยคือ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน หากจะกล่าวถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น การทำงานเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ซึ่งต้องมีความสามารถทำได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ หรือกำลังทรัพย์ที่ตนมีอยู่ เป็นต้น สำหรับอีกความหมายหนึ่งคือ การมีตัวเองเป็นที่พึ่ง ในความหมายนี้คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีหลักการ อย่างมีจุดยืน หรือบางคนอาจใช้คำว่า มีรัฐธรรมนูญชีวิต ก็ยังใช้ได้อยู่ บางคนยึดศีลห้าในการดำเนินชีวิต นี่ก็ใช่อีกเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น บางคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริต ดังนั้น อาชีพใดที่เป็นอาชีพที่ทุจริต อาชีพที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ ก็จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด จะเห็นว่าคำว่า พึ่ง นี้มีความสำคัญอย่างมากในชีวิตของคนเรานี้ หากคนในสังคมไทยตระหนักถึงคำว่า พึ่ง คือ พึ่งพาตัวเองได้ และ มีตัวเองเป็นที่พึ่งแล้ว ปัญหาสังคม การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของชาวตะวันตก ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะลดน้อยลงไปได้มากเลยทีเดียว

2.) คำว่า "พอ" คำนี้หมายถึง ความพอเพียง ความพอประมาณ และความพอแห่งตน คำนี้ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินและคุ้นเคยมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แน่ะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด คำว่า พอเพียง พอประมาณ พอแห่งตน เป็นคำที่ทำให้เราทุกคนเข้าใจตัวตนของตนเองมากขึ้น และเข้าใจถึงความสมดุลย์ระหว่างความต้องการของตนเอง ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น กับความสามารถที่ตนเองสามารถหามาได้ มีได้ เป็นได้ ดังนั้น ความพอเพียงหรือพอประมาณของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ไม่อาจให้คนอื่นบอกเราได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ตระหนักรู้ของเราเอง กล่าวคือ เราทุกคนจะต้องรู้ว่า พอประมาณ หรือ พอเพียงของเราเองนั้นอยู่ที่ใด ในสังคมไทยทุกวันนี้ตระหนักถึงคำว่า พอเพียง พอประมาณ กันน้อยมาก จึงทำให้เกิดการเป็นหนี้เป็นสินกันมากมาย ความฟุ่มเฟือย แม้กระทั่งเกิดการกักตุนและเก็งกำไรสินค้ากันอย่างมากมาย มุ่งเอาแต่ได้ของผู้ประกอบการ เป็นต้น สำหรับคำว่า พอแห่งตน คำนี้ผู้เขียนขออธิบายว่าคือ ความพอดีพอสมควรแห่งกาล แห่งวาระ และแห่งโอกาสที่ตนควรจะปล่อยวาง ตนเท่านั้นที่รู้ว่าจะพอเมื่อไร สมควรแก่เวลา สมควรแก่โอกาสที่จะพอหรือถึงเวลาพอแล้วหรือยัง ดังจะเห็นว่ามีผู้นำในอดีตหลายต่อหลายคนที่เมื่อก้าวข้ามสู่ความสำเร็จในชีวิตสูงสุดแล้วกลับไม่รู้จักพอแห่งตน ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรจะพอแล้ว จึงทำให้สุดท้ายต้องพบกับความผิดหวังอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น พวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไทยจึงควรมีคำว่า พอแห่งตน หรือ คำพูดที่ว่า "ผมพอแล้ว" ฝังอยู่ในใจของพวกเราเสมอ

3.) คำว่า "แพ้" คำนี้หมายถึง ความไม่ชนะ ความผิดหวัง หลายคนไม่ชอบคำนี้เลย และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองเลย แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครชนะไปเสียทุกอย่าง" โดยแท้จริงแล้วในชีวิตคนเรานั้น ย่อมต้องมีแพ้บ้าง ชนะบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นสัจธรรมแห่งโลก แต่ในสังคมปัจจุบัน ในสังคมที่ต้องแข่งขันกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ในสังคมที่ชื่นชมแต่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทอดทิ้งผู้พ่ายแพ้ ดังเราจะเห็นว่ามีข่าวการฆ่าตัวตายในประเทศที่เจริญแล้วเพิ่มมากขึ้น เพียงเพราะผิดหวังหรือพ่ายแพ้บางสิ่งบางอย่าง เช่น พลาดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พลาดจากการเรียนต่อชั้นที่สูงขึ้น พลาดจากการได้เกรดเฉลี่ยดี เป็นต้น เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแพ้มาก่อนจึงไม่รู้จักการดำรงอยู่ควบคู่กับทัศนะคติที่ดีต่อความพ่ายแพ้นั้นๆ หรือไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดความพ่ายแพ้ขึ้นในชีวิต บางคนอาจเรียกอย่างเป็นทางการว่า การบริหารความพ่ายแพ้ หรือบทเรียนของความพ่ายแพ้ ก็คงไม่ต่างอะไรมากนัก ข้อคิดข้อหนึ่งของข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิตขององค์ดาไลลามะ คือ เมื่อคุณแพ้อย่าลืมเก็บไว้เป็นบทเรียน จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรนำมาขบคิดเป็นอย่างมาก ในสังคมไทยปัจจุบันสอนให้ทุกคนเป็นผู้ชนะ แข่งกันเรียน แข่งกันทำงาน แข่งกันหาเงิน จนลืมไปว่า การเข้าใจความพ่ายแพ้ของตนเองนั้นมีความสำคัญพอๆ กับการเข้าใจหนทางสู่ความสำเร็จหรือการเป็นผู้ชนะเหมือนกัน

ขอให้พวกเราทุกคนทำความเข้าใจกับคำ 3 คำนี้ให้ดี คือ พึ่ง พอ และ แพ้ และช่วยกันนำกลับมาสู่ตนเอง กลับมาสู่คนที่เรารัก กลับมาสู่สังคมของเรา แล้วสังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่แห่งหนึ่งในโลกอันงดงามใบนี้ .....สวัสดี




วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิต...สาสน์จากท่าน Dalai Lama.

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้ต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วตามความเป็นไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อย่างที่พวกเราได้ยิน ได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ เหตุการณ์หลายๆ อย่างเป็นเหตุการณ์ภายนอก ไกลออกไปอีกฟากโลกหนึ่ง ก็ยังอาจมีผลกระทบมาสู่ชีวิตของเราได้เช่นกัน อย่างเช่น ปัญหาซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆในโลกอย่างเช่น ราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะลงแต่อย่างไร อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เป็นวิกฤตทั่วโลกในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเหตุการณ์หลายๆ อย่างจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าทุกวันนี้มีความสุขน้อยลง แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? ความสุขที่แท้จริงน่าจะเกิดจากการดำเนินชีวิตอย่างมีจุดยืน และมีหลักปฏิบัติที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้เราทุกคนมีทัศนะคติที่ดีในการดำเนินชีวิตด้วย ในโอกาสนี้ผมขอส่งผ่านสาสน์จากท่าน Dalai Lama เป็นข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิต ดังนี้
1. ระลึกเสมอว่า การจะได้พบความรักและความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ก็ต้องประสบกับความเสี่ยงอันมหาศาลดุจกัน
2. เมื่อคุณแพ้ อย่าลืมเก็บไว้เป็นบทเรียน
3. จงปฏิบัติตาม 3Rs
3.1 เคารพตนเอง (Respect for self)
3.2 เคารพผู้อื่น (Respect for others)
3.3 รับผิดชอบต่อการกระทำของตน (Responsibility for all your actions)
4. จงจำไว้ว่า การที่ไม่ทำตามใจปรารถนาของตนบางครั้งก็ให้โชคอย่างน่ามหัศจรรย์
5. จงเรียนรู้กฎ เพื่อจะทราบวิธีการฝ่าฝืนอย่างเหมาะสม
6. จงอย่าปล่อยให้การทะเลาะเบาะแว้งด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อยมาทำลายมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ของคุณ
7. เมื่อคุณรู้ว่าทำผิด จงอย่ารอช้าที่จะแก้ไข
8. จงใช้เวลาในการอยู่ลำพังผู้เดียวในแต่ละวัน
9. จงอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลง แต่อย่าปล่อยให้คุณค่าของคุณหลุดลอยจากไป
10. จงระลึกไว้ว่า บางครั้งความเงียบก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุด
11. จงดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อที่ว่าเมื่อคุณสูงวัยขึ้นและคิดหวนกลับมาคุณจะสามารถมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำลงไปได้อีกครั้ง
12. บรรยากาศอันอบอุ่นในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต
13. เมื่อเกิดขัดใจกับคนที่คุณรักให้หยุดไว้แค่เรื่องปัจจุบันอย่าขุดคุ้ยเรื่องในอดีต
14. จงแบ่งปันความรู้ เพื่อเป็นหนทางก้าวสู่ความเป็นอมตะ
15. จงสุภาพกับโลกใบนี้
16. จงหาโอกาสท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยไปอย่างน้อยก็ปีละครั้ง
17. จำไว้ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือความรักมิใช่ความใคร่
18. จงตัดสินความสำเร็จของตนด้วยสิ่งที่ต้องเสียสละ
19. จงเข้าใกล้ความรักด้วยการปล่อยวาง
ลองทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติดูครับ สุดท้ายขอให้ทุกคนมีความสุขกับการดำเนินชีวิตในแบบฉบับของตัวเองน่ะครับ.....สวัสดี

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2551

Happy new year 2008!!!

สวัสดีครับเพื่อนๆ

ก่อนอื่นต้องกล่าวสวัสดีปีใหม่กับเพื่อนๆ ทุกคนก่อน ซึ่งปี 2007 ก็ผ่านพ้นไปอีกปีแล้วน่ะครับ ในปีที่ผ่านมาคงมีเรื่องที่ดีและไม่ดีเกิดขึ้นกับทุกคนอยู่เป็นเนื่องๆ บ้างก็เป็นเรื่องที่ทำสำเร็จ บ้างก็เป็นเรื่องที่ยังทำไม่สำเร็จ หรือแม้กระทั้งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เพียงแต่คิดที่จะทำแต่ก็ยังไม่ได้ทำเลย ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆ แต่ก็ไม่เป็นไรครับ ปีใหม่ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ สิ่งสำคัญคือต้องมีความตั้งใจหรือที่เรียกว่า มีปณิธานที่แน่วแน่ว่าจะทำอะไร วางแผน และลงมือทำอย่างจริงจัง หลายๆ อย่างสำเร็จได้ด้วยความตั้งใจและลงมือปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นในโอกาสปีใหม่ที่เวียนมาบรรจบอีกครั้งหนึ่งนี้ซึ่งเป็นปี 2008 ผมขอให้สิ่งดีๆ จงเกิดขึ้นกับทุกๆ คน สิ่งใดที่ตั้งใจไว้ที่เป็นสิ่งที่ดีงามต่อตนเอง ต่อบุคคลอันเป็นที่รัก ต่อผู้อื่น ต่อสังคมและประเทศชาติ ขอจงประสบความสำเร็จทุกประการ ขอจงสุขสบายกาย สุขสบายใจ ตลอดปีใหม่นี้

สวัสดีปีใหม่ครับ