วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2551

เฮือนนครหลวงเวียงจันทร์...ตอนที่ 1

พอเริ่มมีเวลาว่างจากการทำงานหนักมาเกือบทั้งปี และภารกิจการเรียนก็สำเร็จเสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้เขียนจึงพอมีเวลาว่างที่จะคิดเรื่องการท่องเที่ยวอยู่บ้างและอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นรางวัลแก่ชีวิตด้วยที่วิริยะอุตสาหะจนจบการศึกษาได้ ครั้นจะรอท่านประธานรุ่นMBA จัดให้ไปพร้อมกันทั้งคณะเป็นกลุ่มเป็นก้อนก็คงต้องรอต่อไปจนถึงกาลพระศรีอริยเมตตรัยยามสุริยนย่ำสนธยาเป็นแน่แท้ หรือจะบอกเล่าเป็นภาษาให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือคงต้องรอจนถึงชาติหน้าตอนพระอาทิตย์ใกล้ตกดินนั่นกระมัง (เหน็บนิดๆ สะกิดเบาๆ อย่าโกรธน่ะครับ) ว่าแล้วเมื่อรวมกลุ่มสมาชิกได้สักจำนวนหนึ่งก็สะพายเป้ มุ่งสู่อีสานทิศ เยือนถิ่นนครหลวงเวียงจันทร์ ดินแดนช้างล้านเชือก (ล้านช้าง) กันเลย
การเดินทางไปนครหลวงเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งต่อไปผู้เขียนขอเรียกสั้นๆ ว่าประเทศลาว ที่สะดวกๆ มีสองวิธี คือ เดินทางไปทางเครื่องบินจากสนามบินสุวรรณภูมิประเทศไทยแล้วไปลงที่สนามบินแห่งชาติของประเทศลาวก็ได้ หรือจะเดินทางไปถึงจังหวัดหนองคายก่อนแล้วจึงข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาวก็สะดวกไม่แพ้กัน สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผู้เขียนและคณะตัดสินใจเดินทางโดยรถทัวร์ไปที่จังหวัดหนองคาย แล้วจึงเดินทางข้ามไปนครเวียงจันทร์ทางสะพานมิตรภาพไทย-ลาวอีกต่อหนึ่ง เหตุผลก็เพราะพวกเราเข้าใจดีว่ารายละเอียดระหว่างทางมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าจุดหมายปลายทางนั้นเอง ผู้เขียนจำได้ว่าเมื่ออยู่บนรถทัวร์แล้วพอเลยอยุธยาไปหน่อยหนึ่ง รายละเอียดระหว่างทางก็เริ่มเลือนลางและมืดมิดในที่สุด มารู้ตัวอีกทีก็พนักงานต้อนรับบนรถทัวร์ประกาศให้ทราบว่าอีก 15 นาทีจะถึงสถานีขนส่งจังหวัดหนองคายแล้วเป็นอันว่ารายละเอียดระหว่างทางของพวกเราในคณะเดินทางคงเป็นของใครของมันแล้วกัน แล้วแต่ว่าใครจะฝันดี ฝันร้าย ฝันเด่น กันอย่างไร จากสถานีขนส่งจังหวัดหนองคาย จะมีรถรับส่งผู้โดยสารวิ่งระหว่าง จังหวัดหนองคาย ถึง นครหลวงเวียงจันทร์ ซึ่งใช้ระยะเวลาประมาณ 50 นาทีก็จะไปถึงสถานีขนส่งที่นครหลวงเวียงจันทร์ได้ และหากผู้เดินทางไม่ได้นำเอา พลาสปอร์ตไปด้วย ที่สถานีขนส่งจังหวัดหนองคายนั้นมีศูนย์บริการทำบัตรผ่านแดนให้ด้วย จึงมีความสะดวกสบายอยู่ไม่ใช่น้อย ในภาพที่ 1 จะเห็นว่ามีผู้คนทั้งชาวลาว และชาวไทยปะปนกันอยู่เพื่อใช้บริการรถประจำทางเพื่อเดินทางข้ามไปมาระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาว

ภาพที่ 1 ชาวไทยและชาวลาวกำลังใช้บริการรถประจำทาง

เมื่อคณะผู้เขียนอยู่ระหว่างทางบนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว เป็นเวลาเช้าตรู่ อากาศเย็นสบาย ได้ยินเสียงแม่น้ำโขงไหลรวยระรื่นอย่างต่อเนื่อง บางครั้งแผ่วเบาปานประหนึ่งหยดน้ำค้างสัมผัสอยู่บนยอดหญ้า บางครั้งถามโถมดุดันปานฝูงกระทิงดุแตกตื่น ไอความเย็นจากแม่น้ำร่องรอยมาสัมผัสผิวกายแทรกซึมเข้าทุกอณูขุมขน ทำให้รู้สึกสะท้านหัวใจยิ่งนัก คณะเดินทางของเรามาถึงนครหลวงเวียงจันทร์เป็นเวลาเช้าตรู่พอดี กองทัพเดินด้วยท้องฉันใด พวกเราทุกคนก็อยากที่จะเติมเต็มอาหารลงท้องก่อนที่จะเริ่มกิจกรรมต่างๆ ฉันนั้น ดังนั้นผู้เขียนจึงฝากท้องมือแรกไว้ที่นี่ด้วย เส้นเปียกน้ำ และปาท่องโก๋ ดังภาพที่ 2 เส้นเปียกน้ำจัดได้ว่าเป็นอาหารพื้นเมืองยอดนิยมของชาวนครหลวงเวียงจันทร์ชนิดหนึ่งก็ว่าได้

ภาพที่ 2 เส้นเปียกน้ำ

เนื้อเส้นจะมีสีเหลืองอ่อนๆ คล้ายเส้นบะหมี่บ้านเรานี่แหล่ะ แต่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางจะใหญ่กว่าเล็กน้อย เวลาทำต้องต้มให้อ่อนตัวเสียก่อนแล้วปรุงมาเป็นแบบก๋วยเตี๋ยวน้ำบ้านเรานี่เอง แต่เมื่อกัดที่เส้นจะมีความเหนียว นุ่ม และหนึบ คุณสมบัติสามอย่างนี้ประกอบกันเป็นสามประสานได้อย่างสมดุลย์ อีกทั้งกระดูกหมูที่ตุ๋นจนเนื้อเปื่อยกำลังดีเมื่อเวลากัดลงไปจนถึงกระดูกจะรู้สึกว่าน้ำในไขกระดูกพวยพุ่งมาสัมผัสกับเส้นเปียกที่กินเข้าไปทำให้เกิดเป็นดุลยภาพทางรสชาติอย่างที่สุด นอกจากนี้ยังสามารถแต่งเติมรสชาติด้วยน้ำพริกเผา และมะนาวบีบอีกนิดหน่อย ทำให้รสชาติกลมกล่อมยิ่งนัก เมื่อกินคู่กับปาท่องโก๋ที่ตัวใหญ่กว่าบ้านเรานิดหน่อย ดูดูไปไม่คล้ายจะเข้ากันสักเท่าไร แต่เมื่อลิ้นได้ลองสัมผัสดูแล้ว ผู้เขียนถึงกับอุทานออกมาว่า “อร่อยยิ่งนักๆ” จนทำให้ผู้เขียนจินตนาการเลยเถิดไปว่าถ้าประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกไว้ว่ามาร์โคโปโล เดินทางไปประเทศจีนแล้วนำเส้นบะหมี่ไปเป็นต้นแบบของเส้นสปาร์เก็ตตี้แล้วล่ะก็ มาร์โคโปโลคงจะหลงทางมาที่นครหลวงเวียงจันทร์แห่งนี้ แล้วนำเส้นเปียกไปเป็นต้นแบบของเส้นสปาร์เก็ตตี้ที่โด่งดังไปทั่วโลกเป็นแน่แท้
อาหารพื้นเมืองอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เขียนอยากแน่ะนำให้รู้จักคือ ข้าวจีปัตเตร์ ที่มีขายให้เห็นอยู่ตามท้องตลาดทั่วไป ผู้เฒ่าชาวลาวท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ข้าวจี ก็คือขนมปัง และปัตเตร์ คือ ชาวฝรั่งหรือฝรั่งเศส ดังนั้นเมื่อรวมกันแล้ว ข้าวจีปัตเตร์ จึงหมายความว่า ขนมปังฝรั่งเศส นั่นเอง ลักษณะเนื้อขนมปังภายนอกจะแข็ง และนุ่มที่เนื้อใน และสอดไส้หมูสับหรือไก่สับที่ปรุงสุกอยู่ชั้นในสุดแล้วแต่งเติมรสชาติด้วยน้ำปรุงรสหรือซอสพริก ซึ่งน่าจะคล้ายๆ กับแฮมเบอร์เกอร์เห็นจะได้ ผู้เขียนรู้สึกว่าอาหารพื้นเมืองนี้ได้บอกเล่าความเป็นตัวตน บุคคลิกลักษณะและเอกลักษณ์ของชนชาติลาวได้เป็นอย่างดี

ภาพที่ 3 ข้าวจีปัตเตร์

กล่าวคือชาวลาวเมื่อดูภายนอกจะเห็นว่าเป็นคนที่สู้งาน มีความอดทน แต่แฝงความโอนโยน และความมีไมตรีจิตอยู่ภายในจิตใจ อีกทั้งเนื้อหมูหรือเนื้อไก่ที่ปรุงสุกผ่านการสับละเอียดพอประมาณผสมคลุกเคล้ากับน้ำปรุงรสที่มีความเผ็ดร้อน แสดงถึงความรวมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของชนชาติและมีความร้อนแรงในความรักชาติอยู่เต็มอก ดูจากภาพแล้วสมาชิกท่านหนึ่งของคณะเดินทางของเราคงจะติดใจข้าวจีปัตเตร์เข้าแล้วกระมัง ผู้เขียนอดคิดไม่ได้ว่าอาหารเพียงชนิดหนึ่งยังบ่งบอกความหมายได้มากมายขนาดนี้ ทำให้นึกถึงบ้านเราเมืองเรายิ่งนักในสภาวะการที่มีความคิดเห็นแตกต่างกันมากเช่นนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะต้องรู้รักสามัคคีไว้ให้มากๆ ให้สมกับคำที่ว่า คนไทยอย่างไรเสียก็กินข้าวหม้อเดียวกัน
มาเยือนนครหลวงเวียงจันทร์ครั้งนี้หากไม่เอ่ยถึง เบียร์ลาว แล้วละก็คงกล่าวได้ไม่เต็มปากว่ามาถึงประเทศลาว ในนครหลวงเวียงจันทร์พอตกค่ำจะเห็นตามร้านอาหารต่างๆ จะมีผู้คนนั่งกินอาหาร และมีเบียร์ลาวเป็นเครื่องดื่มอยู่ด้วยอยู่ร่ำไป ผู้เขียนจึงอดไม่ได้ที่เมื่อมีโอกาสแล้วจะต้องลองดื่มด่ำกับเบียร์ชนิดนี้สักครั้งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ฟองเบียร์นุ่มๆ สีขาวนวลเหมือนขนมปุยฝ้าย เมื่อสัมผัสริมฝีปากและปลายลิ้นแล้วมลายหายไปเหมือนเกลียวคลื่นกระทบฝั่งแล้วแตกเป็นฟองอย่างไรอย่างนั้นเลย น้ำเบียร์มีรสขมอมหวาน ผู้เขียนมีความเห็นว่ารสชาติของเบียร์ลาวจะอ่อนนุ่มกว่าเบียร์ช้าง และเบียร์สิงห์บ้านเรา อาจเป็นเพราะมีกลุ่มบริษัทคาร์ลสเบอร์กร่วมถือหุ้นอยู่ด้วยก็เป็นได้ รสชาติจึงออกไปทางนุ่มๆ แบบเบียร์ตะวันตก เมื่อแรกดื่มเบียร์เข้าไปจะออกรสขม และเมื่อกลืนลงคอไปแล้วรสหวานจะตามลงคอไปอย่างกระชั้นชิด เมื่อน้ำเบียร์ผ่านลำคอ ลงสู่กระเพาะทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าได้ราดน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ลงบนกองเพลิงอย่างไรอย่างนั้น ร้อนไปทั้งท้อง ความร้อนแผ่ซ่านไปทั่วทั้งร่างกาย เซลล์ต่างๆ ทั่วทั้งร่างกายเกิดการกระตุ้นให้เผาผลาญพลังงานมากขึ้นเป็นทวีคูณ ดังนั้น ในมื้อนั้นผู้เขียนจึงเจริญอาหารเป็นพิเศษ เมื่อเขียนถึงเบียร์ลาวแล้วก็ขอเสริมอีกหน่อยว่า ตัวอักษรของประเทศลาวนั้นคล้ายกับของประเทศไทยอยู่เหมือนกันจะต่างกันบ้างก็เล็กน้อย อย่างคำว่า เบียร์ลาว เขาจะเขียนว่า เบยลาว ซึ่งตัว บ ของเขาคล้ายกับ ข ของบ้านเรามาก ดังนั้นตอนแรกที่ผู้เขียนไปซื้อเลยเข้าใจผิดถามคนขายว่า “เขยลาว ขวดละเท่าไร” ทำให้เป็นที่ขบขันของเจ้าของร้านซึ่งเป็นผู้ชายวัยกลางคนเป็นอย่างมาก พร้อมทั้งตอบกลับมาว่า “จะเป็นเขยลาวใช้เงินไม่มากหรอก แต่ต้องจริงใจหลายๆ แต่ถ้าเบยลาวละก็ขวดละ 5000 กีบ” ทำเอาสาวน้อย สองสามคนที่นั่งข้างๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่กันไปตามๆ กัน ทำเอาผู้เขียนเขินอายไปเหมือนกัน ซึ่งต่อมาหลังจากที่ไปทานข้าวร้านเขาบ่อยๆ เข้าจึงทราบว่า สาวน้อยๆ นั่นไม่ใช่ลูกสาว แต่เป็นภรรยาแกทั้งนั้นเลย ทำให้ผู้เขียนถึงบางอ้อนึกถึงบทกลอนในวรรณคดีไทยว่า “อันตัวกูผู้ศักดา นามลือชาขุนแผนแสนสะท้าน” นั้นไม่ได้มีที่เมืองไทยเท่านั้น บ้านเขาเมืองเขาก็มีขุนแผนเหมือนกันนะจะบอกให้ ทั้งหมดนี้ผู้เขียนตระหนักดีว่า ถึงแม้จะเขียนสักหมื่นคำอักษรบรรยาย ก็ไม่เท่าปลายลิ้นสัมผัส ดังนั้นหากผู้อ่านท่านใดมีโอกาสได้ไปเยือนนครหลวงเวียงจันทร์ ก็ขออย่าได้พลาดโอกาสลิ้มลองอาหารรสเลิศเหล่านี้ล่ะครับ
ชาวนครหลวงเวียงจันทร์ โดยทั่วไปเป็นคนสวย น่ารัก ผิวขาว มีกิริยาท่าทางเรียบร้อย มีความเรียบง่าย สำเนียงการพูดจาไพเราะมีเสียงสูงเสียงต่ำ มีหนักมีเบา ซึ่งดูไปแล้วคล้ายกับชาวไทยทางภาคเหนือมากกว่าทางภาคอีสาน เวลาทักทายจะใช้คำว่า “สบายดี” เวลาขอบคุณจะพูดว่า “ขอบใจหลาย” และเมื่อบอกว่าไม่เป็นไร จะพูดว่า “บ่อเป็นหยัง” ในการเดินทางครั้งนี้ผู้เขียนพูดสามคำนี้จนชำนาญปากเลย ดูถ้าสมาชิกท่านหนึ่งในคณะของเราคงมีความรู้สึกดีเป็นพิเศษกับสาวน้อยชาวนครหลวงเวียงจันทร์แห่งนี้แล้วกระมัง จนต้องขอถ่ายรูปมาเป็นที่ระลึกสักหน่อย อย่างไรเสียผู้เขียนคงต้องกระซิบบอกว่า “อย่างลืมพกความจริงใจมาหลายๆ นะจะบอกให้ว่าที่มหาบัณฑิต”
ในการมาเยือนนครหลวงเวียงจันทร์ครั้งนี้ ผู้เขียนมีโอกาสสนทนาธรรมกับพระภิกษุหนุ่มที่บวชเรียนในพระพุทธศาสนามากว่าสิบสองพรรษาอยู่นานสองนาน จึงทำให้พอที่จะเจียระไนความคิดและสังเคราะห์ได้ว่าทำไมพระพุทธศาสนาจึงสถิตและเจริญรุ่งเรืองบนผืนแผ่นดินแห่งนี้ได้อย่างมั่นคง ตลอดจนพระภิกษุจึงเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวลาวอย่างไม่เสื่อมคลาย น่าเสียดาย น่าเสียดายจริงๆ เนื้อที่กระดาษหมดลงแล้วติดตามอ่านต่อตอนหน้าครับ ผู้เขียนจะบรรยายต่อเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อความเจริญทางพระพุทธศาสนาของชาวลาว สถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในนครหลวงเวียงจันทร์ และโอกาสทางธุรกิจที่นักธุรกิจมืออาชีพ หรือจะเป็นนักธุรกิจมือสมัครเล่นไม่ควรพลาด ก่อนจากกันขอประชาสัมพันธ์สักหน่อยว่า ราวปลายปีนี้คณะผู้เขียนมีแผนการจะเดินทางไปเยือนเมืองเว้ ประเทศเวียดนาม ดินแดนแห่งความเงียบสงบ ภูเขา ทะเลสาบ ประวัติศาสตร์อันยาวนานและตำนานรักฮอยอัน ผู้อ่านท่านใดสนใจจะร่วมเป็นหนึ่งในคณะของเราเดินทางไปด้วยกันก็ขอเชิญติดต่อถามข่าวคราวได้จากสมาชิกของคณะเราได้เลยนะครับ.....สวัสดี

วันจันทร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2551

ข้าวกับเรื่องเล่า..."ลุงแจวเรือจ้างกับหนุ่มนักเรียนนอก"

ผมติดตามข่าวเกี่ยวกับ ข้าว มาได้สักระยะหนึ่งแล้ว ทั้งที่เป็นเรื่องนักธุรกิจชาวซาอุฯ ต้องการจะมาลงทุนทำนาในประเทศไทย หรือการรวมกลุ่มตั้งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าว (OREC: Organization of Rice Exporting Countries) ซึ่งไม่ว่าเรื่องราวจะปรากฎผลออกมาในแง่บวกหรือลบก็ตาม แต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมให้เห็นก็คือ ข้าวเป็นธัญญาหารที่สำคัญ ข้าวเป็นอาหารของชาวโลก หากจะกล่าวให้กว้างกว่านี้สักหน่อยก็คือ ปัจจัยสี่ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นความสมดุลย์ ความพอดี และความพอเพียงของการมีปัจจัยพื้นฐานสี่ประการนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไรก็ตามที่มนุษย์ใช้และบริโภคปัจจัยสี่ที่มีอยู่อย่างเกินพอดี ก็จะทำให้เกิดความไม่สมดุลย์ เกิดการขาดแคลนและเกิดการเก็งกำไรในที่สุดอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ คงไม่มีใครคิดว่าอาชีพทำนาจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจของชาวต่างชาติในตอนนี้ วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสเปิดอ่านอีเม็ลฉบับหนึ่งที่เพื่อนที่แสนดีส่งมาให้ อ่านแล้วรู้สึกขำๆ เป็นเรื่องของ "ลุงแจวเรือจ้างกับหนุ่มนักเรียนนอก" ดังนี้

"เด็กหนุ่มคนหนึ่ง...เป็นชาวสงขลา... เรียนเก่งมาก... ได้ทุนไปเรียนอเมริกา...ตั้งแต่เด็ก...จนจบด็อกเตอร์... จึงกลับมาเยี่ยมบ้าน...
บ้านของเด็กหนุ่ม... อยู่อีกฟากหนึ่ง...ของทะเลสาบสงขลา... ต้องนั่งเรือแจว...ข้ามไป...ใช้เวลาแจวประมาณหนึ่งชั่วโมง...
เรือที่ติดเครื่องยนต์...ไม่มีเหรอ...ลุง...? ไม่มีหรอกหลาน...ที่นี่มันบ้านนอก... มันห่างไกลความเจริญ...มีแต่เรือแจว...
โอ...ล้าสมัยมากเลยนะลุง...โบราณมาก... ที่อเมริกา....เขาใช้เครื่องบินกันแล้วลุง...ลุงยังมานั่งแจวเรืออยู่อีก... ไปส่งผมฝั่งโน้น...เอาเท่าไร...ลุง...?
80 บาท... OK...ไปเลยลุง...
ในขณะที่ลุงแจวเรือ... หนุ่มนักเรียนนอก...ก็เล่าเรื่องความทันสมัย... ความก้าวหน้า...ความศิวิไลช์...ของอเมริกาให้ลุงฟัง...
เมืองไทย...เมื่อเทียบกับอเมริกาแล้ว...ล้าสมัยมาก... ไม่รู้คนไทย...อยู่กันได้ยังไง...?
ทำไมไม่พัฒนา...ทำไมไม่ทำตามเขา...เลียนแบบเขาให้ทัน...?
ลุง...ลุงใช้คอมพิวเตอร์...ใช้อินเตอร์เน็ต...เป็นไหม...?
ลุงไม่รู้หรอก...ใช้ไม่เป็น...
โอโฮ้...ลุงไม่รู้เรื่องนี้น่ะ....ชีวิตลุงหายไปแล้ว...25 %....
แล้วลุงรู้ไหมว่า...เศรษฐกิจของโลก...ตอนนี้เป็นยังไง...?
ลุงไม่รู้หรอก...
ลุงไม่รู้เรื่องนี้นะ...ชีวิตของลุงหายไป...50 %
ลุง...ลุงรู้เรื่องนโยบายการค้าโลกไหม...ลุง...? ลุง...ลุงรู้เรื่องดาวเทียมไหม...ลุง...?
ลุงไม่รู้หรอก...หลานเอ๊ย... ชีวิตของลุง...ลุงรู้อยู่อย่างเดียว... ว่าจะทำยังไง...ถึงจะแจวเรือให้ถึงฝั่งโน้น...
ถ้าลุงไม่รู้เรื่องนี้...ชีวิตของลุง...หายไปแล้ว...75 %
พอดีช่วงนั้น... เกิดลมพายุพัดมาอย่างแรง...คลื่นลูกใหญ่มาก...ท้องฟ้ามืดครึ้ม...
นี่พ่อหนุ่ม...เรียนหนังสือมาเยอะ...จบดอกเตอร์จากต่างประเทศ... ลุงอยากถามอะไรสักหน่อยได้ไหม...?
ได้...จะถามอะไรหรือลุง...?
เอ็งว่ายน้ำเป็นไหม...?
ไม่เป็นจ๊ะ...ลุง....
ชีวิตของเอ็ง...กำลังจะหายไป 100 % ...แล้วพ่อหนุ่ม..."

เรื่องทั้งหมดไม่ได้เกี่ยวกับ ข้าว แต่อย่างไร แต่ก็ชี้ให้เห็นว่า พื้นฐานการมีชีวิตอยู่ของคนเราอาจมิใช่การพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทันสมัยแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ความมีความสามารถพื้นฐานก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน เช่นเดียวกับในประเทศไทย อาชีพทำนาแม้จะดูเหมือนไม่ทันสมัยอย่างอุตสาหกรรมเทคโนโลยีอื่นๆ แต่ก็เป็นอาชีพที่กำหนดความเป็นความตายของคนทั้งโลกและการดำรงอยู่ของเผ่าพันธ์มนุษย์ ผู้เขียนมีความเห็นว่าชาวนาเป็นผู้ที่มีพระคุณและอาชีพทำนาเป็นอาชีพที่มีเกียรติ คงมีสักวันที่ผู้คนจะหันมาถามกันว่า "เอ็งทำนาเป็นหรือเปล่า.....ถ้าไม่เป็น.....ชีวิตของเอ็ง.....กำลังจะหายไป 100% ....แล้วพ่อหนุ่ม..." ฮ่า...ฮ่า...ฮ่า..... สวัสดี