วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

เรื่องเล่า วิ่งมินิมาราธอนต้านภัยยาเสพติด

เมื่อวันก่อนไปวิ่งมินิมาราธอนมา เป็นการจัดงานเพื่อรณรงค์ต้านภัยยาเสพติด ตอนแรกคิดว่า 10 กิโลเมตร มันก็หนักหนาสาหัสสำหรับเราเหมือนกัน ตั้งใจไว้ว่า วิ่งสัก 5 กิโลเมตรก็พอจะได้กลับพร้อมกันกับเพื่อนๆ แต่พอวิ่งไปถึงจุดกลับตัวที่กิโลเมตรที่ 2.5 ก็มองเห็นเด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ วิ่งต่อไป ตอนนั้นเลยคิดว่าทำไมไม่ลองวิ่งต่อไป ถึงแม้คิดว่ามันจะเกินความสามารถแต่ก็น่าจะลองดู ผมจึงวิ่งตามเด็กผู้หญิงคนนั้นต่อไป วิ่งไปได้สักพักจิตใจเริ่มคิดว่าคงไม่ไหวแน่ๆ เลย แล้วก็คิดว่าเราน่ามองเป้าหมายให้สั้นลงจากเส้นชัย ก็เอาเป็นว่าเอาชนะคนข้างหน้าให้ได้ก็พอ แล้วก็วิ่งต่อไปเรื่อยๆ ค่อยๆ แซงไปทีละคนฯ พอไปถึงกิโลเมตรที่ 7 ที่ 8 ขาชักจะเริ่มวิ่งไม่ไหวจริงๆ แรงจิ้มจุ่มที่กินเมื่อคืนคงจะหมดแล้วแน่เลย ใจก็คิดไปว่าอย่าไปเอาชนะคนอื่นเลย เอาชนะตัวเราเองดีกว่า จึงลดความเร็วลงและวิ่งไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้คิดว่าจะต้องเอาชนะคนอื่น เอาตัวเองเป็นที่ตั้งเอาชนะตัวเองให้ได้ก็พอแล้ว ไปให้ถึงเส้นชัยก็พอแล้ว ไม่ต้องเร็วอะไร ไม่ต้องแข่งขันกับใคร และแล้วในที่สุดก็ถึงเส้นชัยจนได้
จะว่าไปแล้วมันก็คงเหมือนชีวิตคนเรานี้ล่ะนะ เป้าหมายบางอย่างคงยากที่จะไปถึง แต่ถ้าเราตัดทอนให้สั้นลง และพยายามทำต่อไป เอาชนะเป้าหมายย่อยไปทีละขั้นๆ วันหนึ่งเราก็คงไปถึงเป้าหมายหลักได้เช่นกัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ จิตใจของเราเอง ถ้าจิตใจเราเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เราก็จะทำได้จริงๆ.........รู้อย่างนี้แล้วถ้าเพื่อนๆ ที่ยังมีเป้าหมายที่ต้องเอาชนะอยู่ก็ขอให้ทำต่อไปแล้วกัน ถ้าว่างๆ ก็ไปวิ่งมาราธอนบ้างก็ดี คงจะได้ข้อคิดดีๆ หลายอย่างเลย.......ขอบคุณครับ

วันอังคารที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

"การน้อมนำพระราชดำรัสไปปฏิบัติเพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคงเป็นปกติสุข"

อยากให้เพื่อนๆ ทุกคนได้อ่านบทความนี้ เพื่อนำไปคิดและทำให้เกิดประโยชน์แก่บ้านเมือง
ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธีชัยพัฒนา ได้บรรยายในหัวข้อ "การน้อมนำพระราชดำรัสไปปฏิบัติเพื่อให้บ้านเมืองมีความมั่นคงเป็นปกติสุข" ในการประชัมสัมมนาเชิงปฏิบัติการปลัดจังหวัดและนายอำเภอ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.2553 ที่โรงแรมแอมบาสาเดอร์ ซิตี จอมเทียน พัทยา ดังมีใจความว่า ประโยคที่ทุกคนได้รับรู้รับทราบคือ ปฐมบรมราชโองการที่ว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ประโยคแรก "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม" พระองค์ท่านไม่ใช้คำว่า "ปกครอง" คำว่า ปกครอง แสดงถึงการใช้อำนาจ ใช้กฎหมาย บริหารราชการแผ่นดิน แต่คำว่าครองคือการรักษาแผ่นดินโดยใช้ความรัก ความเมตตา ไม่ใช่อำนาจ นี่คือธรรมาภิบาล ใช้ธรรมะ ความดี ความถูกต้อง ในฐานะข้าราชการ ต้องรับใส่เกล้า ส่วนประโยคที่สองคือ "เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" คือเป้าหมายในการครองแผ่นดิน ที่ทรงใช้คำว่า ประโยชน์สุข โดยไม่พูดถึงเรื่องเงินทอง เพราะถ้าไม่ใช้เงินให้เกิดประโยชน์ความสุขก็เกิดไม่ได้ ความร่ำรวยไม่สำคัญเท่าสติปัญญา ทรงข้ามคำว่า เงินทอง อย่าหลงติดกับบริโภคนิยม ทุนนิยมที่กำลังครองโลก เราไม่มีปัญญาใช้เงินให้เป็นประโยชน์ก็ป่วยการ คนไทยชอบได้ยินพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชอบเห็น แต่ไม่เคยฟัง เลย ไม่เข้าใจสิ่งที่พระองค์ท่านแสดงออกให้เห็นผ่านโครงการต่างๆ ฝ่ายปกครองบอกมีโครงการหลายโครงการ แต่ไม่ยอมมองทะลุไปหาความหมายโครงการ
"ผมเคยกราบบังคมทูลถามพระองค์ท่าน เรื่องอาชีพ ตอนจดแจ้งมูลนิชัยพัฒนา ท่านรับสั่งว่า ถ้าใครถามว่า ฉันทำอาชีพอะไร ให้บอกว่า ทำราชการ ทรงทำราชการ แต่พวกเรารับราชการ หน้าที่ภารกิจของเราคือทำอย่างไรให้บ้านเมืองปกติสุข ก็ต้องพยายามส่งเสริมคนดีให้ได้ทำหน้าที่ หลายคนอาจมาบ่นว่า ทำดีเท่าไหร่ก็ไม่ขึ้น ก็ไม่ต้องไปสนใจ ให้ทำดีต่อไป ทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ให้กัดฟันทำ ลุยไปเรื่อย เอางานนำมันเป็นการทดสอบว่า เราอดทนแค่ไหน ขอให้ข้าราชการอย่าเสียกำลังใจ พระองค์ทรงแช่งว่า ทุจริตนิดเดียวขอให้มีอันเป็นไปในวันข้าราชการพลเรือน ดังนั้นขอให้ทุกคนนึกถึงประโยชน์ของแผ่นดิน ทำให้แผ่นดินสงบและมีความเป็นธรรม แต่เป็นเรื่องยาก เดี๋ยวเจอญาติ เดี๋ยวเจอผู้มีอิทธิพล เดี๋ยวเจอนายสั่ง นายฝาก
เราต้องมีจิตใจเด็ดเดี่ยว แผ่นดินต้องมาก่อน บางครั้งเรานึกถึงตัวเองเกินไป เราต้องรักษาแผ่นดินให้เราอยู่ได้ด้วย การทำงานเพื่อส่วนรวมเพื่อแผ่นดิน ก็เพราะอยู่บนแผ่นดินในส่วนรวมเดียวกัน ถ้าแผ่นดินไทยไม่มี ชาติไม่มีแล้วจะมีที่ยืนหรือ ในปี 50 สถานการณ์เริ่มไม่ดี ทรงเคยเตือนให้พึงสังวรถึงความสงบ สามัคคี คิดถึงชาติเป็นที่ตั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ก็มาจากยึดตัวเอง ยึดพวกเป็นที่ตั้ง ปีนั้นทรงเตือนมากเป็นพิเศษ เตือนเรื่องคิดถึงส่วนรวม ไมตรีจิต เมตตา เรื่องเงื่อนไขที่ทำให้เกิดความไม่สงบบ่อยครั้ง ทรงเตือนมา 3 ปีล่วงหน้า และทรงปรารถนาอยากเห็นคนไทยมีความสุข แต่ความสุขนั้น เราต้องให้ความรัก ความเมตตา ให้อภัย ไม่โกรธ มุ่งดี มุ่งเจริญต่อกัน ในปีนี้ก็ตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ แปลกไหม
มันเกิดอะไรในบ้านเมือง ถ้าเราปฏิบัติแบบให้อภัย มีเมตตากัน ก็ไม่ต้องมีคณะกรรมการนี้ จะใส่เสื้อสีอะไรก็เชิญ สีไหนก็ลูกท่าน ทุกคนยืนอยู่บนดินเดียวกัน ผมถวายงานมา 30 ปี ประมวลสิ่งที่อยากให้ข้าราชการปฏิบัติสิบกว่าข้อ
ข้อ 1. ทรงสอนว่า การทำงาน ต้องรู้ก่อน รู้รักสามัคคี ก็มีคำว่ารู้ ถ้าไม่รู้อย่าเพิ่งทำ
2. งานทุกอย่างไม่ใช่งานง่าย ต้องอดทน มุ่งมั่นเป็นอย่างมาก และยึดความถูกต้องด้วย
3. ถ้าดูพระองค์ท่าน ทรงอ่อนน้อมถ่อมตน เรียบง่าย และประหยัด
4. ซื่อสัตย์ สุจริต กตัญญู ไม่ต้องอธิบาย
5. ตั้งใจจริงและขยันหมั่นเพียร
6. หัดฟังคนอื่นบ้าง อย่าเก่งคนเดียว
7. มุ่งประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก
8. พึ่งตนเอง ส่งเสริมคนดีและคนเก่ง
9. ต้องรู้จักให้บ้าง
10. ทำอะไรเรื่องเล็กไปหาใหญ่ อย่าใจร้อน

วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผู้บริหารที่มี "บุญบารมี"

ผู้บริหารทุกยุคทุกสมัย เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อลูกน้องหรือกลุ่มคนผู้ใต้บังคับบัญชามาแต่ใหนแต่ไร ผู้บริหารแต่ละคนก็มีลูกน้องจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ผู้บริหารแต่ละคนมี "บุญบารมี" ในบทความเรื่อง "บุญบารมี" สิ่งที่ผู้บริหารพึงมี ของคุณประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย ได้อธิบายไว้ว่า "บุญ" คือ การกระทำดี และ "บารมี" คือ ผลจากการกระทำ "บุญ" เช่น นาย ก. เป็นคนมีบารมี เพราะได้สร้างบุญกุศลไว้มาก จึงทำให้เป็นที่เคารพนับถือ ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และเกรงใจจากคนทั่วไป แต่ บารมี ก็ไม่ได้ทำให้คนเกรงกลัวเหมือนคนร้ายถืออาวุธ
บทสวดมนต์บทหนึ่งที่เกี่ยวกับบุญบารมี คือ บารมี 30 ทัศ แต่งโดย พระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนา ได้อธิบายการสร้างบุญบารมี 10 ประการไว้ดังนี้

1. ทาน คือ การลดความโลภด้วยการให้สิ่งของต่างๆ แก่ผู้ที่ด้อยกว่าตลอดจนถึงธรรมทาน คนที่ให้ทาน ใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ย่อมมีบารมีสูงกว่าคนตระหนี่ถี่เหนียว
2. ศีล คือ การรักษาศีลด้วยการละเว้นจากการทำความชั่วต่างๆ ผู้รักษาศีล ย่อมได้รับการนับถือว่าเป็นคนดีมีบารมีมากกว่าผู้ประพฤติชั่ว
3. เนกขัมมะ คือ การออกบวชและปฏิบัติธรรม ผู้ที่บวชเรียนและปฏิบัติธรรมเป็นนิจ ย่อมได้รับการยกย่องว่า เปี่ยมด้วยบุญบารมีมากกว่าผู้ไม่ปฏิบัติธรรม
4. ปัญญา คือ การใช้ความคิดที่มีเหตุมีผล ในการกระทำสิ่งต่างๆ ผู้ที่มีความคิดอ่านดี มีเหตุมีผล ย่อมได้รับความเชื่อถือและเป็นผู้มีบารมีมากกว่าคนที่ไร้ความคิดไร้เหตุผล
5. วิริยะ คือ ความเพียรพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ผู้ที่มีความเพียรเป็นนักสู้ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ย่อมมีบารมีมากกว่าคนท้อแท้ง่าย และจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป
6. ขันติ คือ ความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากซึ่งคู่กับวิริยะ ไม่เบื่อง่าย คนที่มีความอดทนสูงกว่าย่อมมีโอกาสมากกว่าในการรอคอยความสำเร็จหรือสิ่งที่คาดหวัง โดยไม่เลิกราเสียก่อน และย่อมเป็นผู้ที่มีบารมีมากกว่าคนเบื่อง่าย ไม่อดทน
7. สัจจะ คือ ความจริงใจ การรักษาความสัตย์ พูดแต่เรื่องจริง ไม่โกหกหลอกลวงผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตน คนรักษาสัจจะย่อมมีบารมีสูงกว่า และได้ความเชื่อถือ เชื่อใจจากคนทั่วไปโดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะถูกหลอก
8. อธิษฐาน คือ การกำหนดเป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานต่างๆ ไม่ใช่การขอให้ได้สิ่งต่างๆ โดยไม่ทำอะไร คนที่มีเป้าหมายย่อมเป็นผู้มีบารมีดีกว่าคนหลักลอยไม่มีเป้าหมาย
9. เมตตา คือ ความรักเอ็นดู ปรารถนาอยากให้ผู้อื่นได้สุข ผู้ที่มีจิตเมตตาสูง จะมีบารมีสูง มีเสน่ห์ในตัวเอง เพราะมองโลกในแง่ดี และทำแต่สิ่งที่ดีๆ ให้คนอื่นมีความสุข
10. อุเบกขา คือ ความเที่ยงธรรมและการวางเฉย ในสถานการณ์ที่ทุกข์มากหรือสุขมาก ความเที่ยงธรรมนั้นสำคัญมากสำหร้บผู้พิพากษาและแม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาหรือบิดา มารดา การรู้จักข่มใจวางเฉยต่อวิกฤติการณ์ย่อมทำให้จิตใจสงบแน่วแน่ ไม่ตื่นตกใจจนขวัญหนีดีฝ่อ แต่กลับยังคงมีปัญญาที่จะคิดการต่างๆ ได้ดี ผู้มีอุเบกขา จึงย่อมมีบารมีสูงกว่าผู้ที่ไม่มี

บารมี คือคุณธรรมที่ให้ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จ ซึ่งแบ่งไว้เป็น 3 ชั้น คือ ขั้นธรรมดา ขั้นสูงขึ้นเรียกว่า "อุปบารมี" และ ขั้นสูงสุด เรียกว่า "ปารมัตถบารมี" รวมกัน เป็น 30 ทัศ

ผู้บริหารที่มี บุญบารมี จะเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นตัวอย่างแก่ผู้ตาม หรือลูกน้อง และจะนำพาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน.....สวัสดี


เอกสารอ้างอิง:

- "บุญบารมี" สิ่งที่ผู้บริหารพึงมี, นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย, ThaiAppriasal Foundation Vol.9, No.2, March-April 2010.

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

ความจริงใจของนายกับความตายของลูกน้อง

ผมมักจะมีโอกาสเป็นที่ปรึกษายามยากให้แก่เพื่อนๆ อยู่บ่อยครั้ง แม้บางครั้งผมจะไม่มีคำตอบให้เขา ทำได้เพียงฟังเฉยๆ แต่เท่านี้เขาคงพอใจระดับหนึ่งแล้ว ปัญหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของเจ้านาย ลูกน้อง หรือไม่ก็เพื่อนร่วมงาน ทำให้ผมนึกถึงเรื่องของนายทหารชัวมอและเตียวอุย ในหนังสือสามก๊ก จากความตอนหนึ่งว่า "...โจโฉจึงให้ทหารเอาตัวชัวมอ เตียวอุนไปฆ่าเสีย ทหารก็คุมเอาตัวชัวมอ เตียวอุนไปตัดเอาศีรษะเข้ามาให้โจโฉ โจโฉเห็นศีรษะนายทหารทั้งสองนั้นก็คิดขึ้นได้ว่า เราเสียกลอุบายจิวยี่ ไม่ทันตรึกตรองจึงให้ฆ่าชัวมอ เตียวอุนเสีย ครั้นจะออกปากว่าคิดผิดก็เกรงว่าภายหน้าไปทหารทั้งปวงจะละเมิดไม่ยำเกรง"

ในหนังสือเรื่อง ลูกน้องกับนายสไตล์สามก๊ก ของ ดร.อัมพร สุขเกษม ได้อธิบาย ชัวมอ เตียวอุนเป็นใครไว้ว่า ชัวมอ เตียวอุนนั้นเป็นเพื่อนกัน ทั้งสองคนมีฝีมือในการรบทางเรือเป็นอย่างเอก กล่าวกันว่าในยุคสามก๊กจะหาผู้บัญชาการทหารเรือที่มีความสามารถเช่นนี้ยากนัก ชัวมอนั้นเป็นญาติและเป็นคนสนิทของนางชัวฮูหยิน นางชัวฮูหยินคนนี้เป็นภรรยาเล่าเปียว เจ้าเมือเกงจิ๋ว เมืองเกงจิ๋วเป็นเมืองใหญ่ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ตามรายงานปรากฏว่าเมืองนี้มีกำลังทหารม้าห้าหมื่น ทหารเดินเท้าสิบห้าหมื่น มีเรือรบเจ็ดพันลำเศษ และมีทหารเรือแปดหมื่นคน มีเสบียงสะสมไว้พอกินได้ประมาณปีหนึ่ง เมื่อเล่าเปียวเจ้าเมืองตายลง นางชัวฮูหยินกับชัวมอ เตียวอุนก็สบคบกันใช้อุบายให้เล่าจ๋อง ลูกของนางชัวฮูหยินได้เป็นเจ้าเมืองแทนพ่อทั้งๆ ที่เล่าจ๋องไม่มีสิทธิ์ และเมื่อโจโฉยกกองทัพมาถึงเมืองเกงจิ๋ว ชัวมอ เตียวอุน ก็ออกไปรับโจโฉถึงฝั่งแม่น้ำ ด้วยใจสวามิภักดิ์ต่อโจโฉ และเมื่อโจโฉทราบกิตติศัพท์อยู่ว่า ชัวมอ เตียวอุน เป็นผู้ชำนาญการรบทางเรือจึงตั้งให้เป็นายกองทัพเรือ
เมื่อโจโฉตั้งชัวมอ เตียวอุน เป็นนายกองทัพเรือนั้น ซุนฮิว ที่ปรึกษาของโจโฉ ว่าแก่โจโฉว่า "ชัวมอกับเตียวอุนสองคนนี้ เป็นคนประจบประแจงสอพลออยู่ยังมิทันเห็นน้ำใจเหตุไฉนท่านจึงแต่งตั้งให้เป็นนายกองทัพเรือนั้นยังกระไรอยู่" โจโฉหัวเราะแล้วจึงตอบว่า "ตัวเราไม่รู้จักน้ำใจคนนั้นจะทำการไปได้หรือ ประการหนึ่ง ทหารเราเจนจัดแต่ทางบกไม่ชำนาญในการเรือ เราทำทั้งนี้ปรารถนาจะเอาใจไว้ จะได้ฝึกสอนทหารเราให้สันทัดแล้วกำจัดเสียเมื่อปลายมือ จะยากง่ายอะไรเล่า"
แต่โชคไม่ดีของทั้งสองคน การรบครั้งแรกทหารเรือในบังคับบัญชาของชัวมอ เตียวอุน รบแพ้ทหารเรือของเมืองกังตั๋ง โจโฉโกรธมาก เรียกชัวมอ เตียวอุนไปพบแล้วว่า "ทหารเมืองกังตั๋งน้อยกว่าเรา เหตุใดจึงแตกมา หรือตัวทั้งสองมิได้ทำการโดยสุจริตแกล้งให้เสียมาดังนี้" ชัวมอชี้แจงว่า "ทหารเมืองเกงจิ๋วมิได้ฝึกสอน ละไว้นานแล้วอนึ่งเล่าทหารของท่านก็ล้วนแต่ชาวดอน ไม่ชำนาญในทัพเรือ จึงเสียทีแก่จิวยี่" แล้วก็อธิบายถึงแผนการฝึกทหารเรือของตนให้โจโฉฟัง โจโฉฟังแล้วก็ได้แต่พูดว่า "ตัวท่านทั้งสองนี้ก็ชำนาญในการสงครามทั้งทัพบกทัพเรือ เราก็ไว้ใจตั้งให้เป็นแม่ทัพผู้ใหญ่อยู่แล้ว แม้ท่านเห็นดีประการใดก็เร่งฝึกสอนเถิด"
ชัวมอ เตียวอุน จึงให้เอาเรือใหญ่ไปทอดวงเป็นค่ายลงตามชายทะเลไว้ช่องสำหรับจะเข้าออกยี่สิบสี่ประตู แล้วจัดทหารลงเรือรบแจวหนีและไล่ฝึกหัดหวังจะให้รวดเร็วชำนาญในที่รบ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ชัวมอ เตียวอุน ตั้งใจฝึกทหารเต็มที่ อย่างถูกหลักเกณฑ์ และทำท่าว่าจะได้ผลดีด้วย จนกระทั่งวันหนึ่ง จิวยี่แม่ทัพเมืองกังตั๋งคู่สงครามของโจโฉ ปลอมตัวเป็นเรือลูกค้าไปสอดแนมการจัดทัพของโจโฉด้วยตนเอง เห็นกระบวนค่ายฝึกซ้อมของชัวมอ เตียวอุนถึงกับตกใจ และคิดว่า "จำจะคิดกลอุบายกำจัดชัวมอ เตียวอุนเสียให้ได้ เราจึงจะได้ทำศึกแก่โจโฉภายหน้าไม่ขัดสน" และบังเอิญโจโฉใช้ที่ปรึกษาคนหนึ่งชื่อ เจียวก้าน มาเกลี่ยกล่อมจิวยี่ เจียวก้านจึงถูกจิวยี่ใช้เป็นเครื่องมือในการกำจัด ชัวมอ เตียวอุน
ความตอนหนึ่งของสามก๊กฉบับเจ้าพระยาคลัง (หน) อธิบายไว้ว่า พอเวลารุ่งเช้า โจโฉเห็นเจียวก้านกลับมาจึงถามว่า ซึ่งท่านอาสาไปนั้น ยังได้ราชการอยู่หรือ เจียวก้านจึงบอกว่า จิวยี่นั้นมีสติปัญญามากนัก พูดจาเกลี้ยกล่อมนั้นไม่สมความคิด โจโฉได้ฟังดังนั้นก็โกรธจึงว่า ท่านรับอาสาไปแล้วไม่ได้ราชการ จิวยี่มิหัวเราะเยาะเราเล่นหรือ เจียวก้านจึงว่า ถึงมาทว่าไปเกลี้ยกล่อมจิวยี่ไม่สมความคิด ก็ได้ความลับมาข้อหนึ่งเป็นการใหญ่ ครั้นจะบอกท่านบัดนี้ก็ไม่ควร
โจโฉจึงให้ขับทหารทั้งปวงเสียสิ้น เจียวก้านจึงเอาหนังสือนั้นให้โจโฉ โจโฉอ่านดูหนังสือ ความว่า ชัวมอ เตียวอุนคำนับมาถึงจิวยี่ ซึ่งข้าพเจ้ามาอยู่ด้วยโจโฉนี้เพราะความจำใจ แต่คิดแค้นอยู่มิวาย ถ้าได้ทีเมื่อใดข้าพเจ้าจะตัดศีรษะมาให้ท่าน แม้ยังมิสมความคิดก่อนข้าพเจ้าจะให้คนลอบไปบอกข่าวท่านเนืองเนือง โจโฉแจ้งเนื้อความดังนั้นก็โกรธว่าชัวมอ เตียวอุนคิดร้ายต่อเราถึงเพียงนี้ ก็ให้หาชัวมอ เตียวอุนเข้ามาแล้วว่า เราจะให้ตัวทั้งสองนี้ยกทัพเรือไปรบจิวยี่ ชัวมอ เตียวอุนจึงว่า ทหารทั้งปวงซึ่งข้าพเจ้าได้ฝึกสอนนั้นยังไม่สันทัด ของดอยู่หัดให้ชำนาญเรือก่อนจึงจะยกไปทำการศึกได้ โจโฉได้ฟังดังนั้นมีความโกรธเป็นอันมาก แล้วว่า ซึ่งตัวจะให้งดไว้กว่าทหารจะสันทัดการเรือนั้น ศีรษะเราจะมิไปอยู่ในเงี้อมมือจิวยี่หรือ ชัวมอ เตียวอุนมิได้รู้เนื้อความก็นิ่งอยู่ไม่ตอบประการใด โจโฉจึงให้ทหารเอาตัวชัวมอ เตียวอุนไปฆ่าเสีย ทหารก็คุมเอาตัวชัวมอ เตียวอุนไปตัดศีรษะเข้ามาให้โจโฉ โจโฉเห็นศีรษะนายทหารทั้งสองนั้นก็คิดขึ้นได้ว่าเราเสียกลอุบายจิวยี่ไม่ทันตรึกตรอง จึงให้ฆ่าชัวมอ เตียวอุน ครั้นจะออกปากว่าคิดผิดก็เกรงว่า ภายหน้าไปทหารทั้งปวงจะละเมิดไม่ยำเกรง

จากทั้งหมดที่ผมเล่าให้ฟัง ต้องการให้ดูตัวอย่างความเป็นนายอย่างโจโฉ อยากให้ผู้อ่านเห็นน้ำใจของนายอย่างโจโฉ ที่มองว่าลูกน้องอย่างชัวมอ เตียวอุน เป็นคนประจบประแจสอพลอ และคิดจะกำจัดตนเองทิ้งเมื่อปลายมือ ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นทำให้ตัดสินใจผิดพลาดจนสูญเสียบุคลากรอันมีค่าไป และในที่สุดตนเองก็พ่ายแพ้แก่จิวยี่ กลายเป็น สามก๊กตอน โจโฉแตกทัพเรือ ในที่สุด

ปัจจุบันนี้เราคงไม่มีโอกาสเลือกเจ้านายมากนั้น แต่ถ้าโชคไม่ดีได้เจ้านายอย่างโจโฉที่คิดจะกำจัดตนเองทิ้งเมื่อปลายมือ เราๆ ท่านๆ จะทำอย่างไรดีครับ อาจเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่ถ้าทำอะไรไม่ได้จริงๆ ก็ "หนี" เถอะครับ เอาตัวรอดไว้ก่อน ขอให้โชคดี.....สวัสดี

เอาสารอ้างอิง :
1) สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาคลัง (หน)
2) ลูกน้องกับนายสไตล์สามก๊ก, ดร.อัมพร สุขเกษม

วันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553

เคล็ดลับสำหรับสมาร์ทเถ้าแก่ 21 ข้อ

การมีธุรกิจเป็นของตนเอง สำหรับคนบางคนอาจเป็นความฝันทั้งชีวิตของเขาเลยก็ได้ บางคนสามารถประสบความสำเร็จได้ และมีบางคนก็เป็นได้แค่ความฝัน ผมเองตอนนี้ก็ยังคงเป็นได้แค่ความฝันเท่านั้น อย่างไรก็ดี ไม่อยากท้อแท้ใจ แต่จะพยายามหาไอเดียและทำความฝันนี้ให้เป็นจริงให้ได้ ในนิตยสาร SMEs Today ปีที่ 7 เล่มที่ 77 และ 78 ประจำเดือนมีนาคม และ เมษายน 2552 มีคอลัมป์หนึ่งน่าสนใจสำหรับนักล่าฝันอย่างพวกเรา ชื่อว่า 21 เคล็ดลับเถ้าแก่ (1)(2) ซึ่งผมขออนุญาตินำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วยสิ่งเหล่านี้

1. ความกล้าเสี่ยง อย่างน้อยต้องรู้จักประเมินว่า ธุรกิจที่จะทำ มีความเสี่ยงรออยู่แต่ก็ยังอยากที่จะลองเผชิญกับสิ่งที่รออยู่ข้างหน้า
2. ต้องการมุ่งความสำเร็จ เมื่อมองเห็นโอกาสแห่งความเป็นไปได้ พร้อมทั้งพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผู้ประกอบการจะมุ่งมั่นใช้พลังงานความคิด สติปัญญา ความสามารถทั้งหมด ทำงานหนักทุ่มเทให้กับงาน เพื่อให้บรรลุความสำเร็จตามช่องทางที่วางไว้
3. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่ชอบนำประสบการณ์ที่ผ่านมา นำมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์หาวิธีการใหม่ที่ดีกว่าเดิมและนำมาใช้กับการบริหารธุรกิจ
4. รู้จักผูกพันต่อเป้าหมาย คือ สามารถจินตนาการไปถึงความสำเร็จ และจะต้องทำอย่างไรหากล้มเหลว หาสาเหตุว่าเกิดจากอะไรและจะแก้ไขอย่างไร
5. ความสามารถโน้มน้าวจิตใจผู้อื่นให้ความร่วมมือช่วยเหลือในการทำงาน ตลอดจนรู้จักใช้ความสามารถในการทำงานสร้างทัศนคติและแรงจูงใจต่อผู้ร่วมงานให้สามารถเข้าใจการทำงาน และเต็มใจปฎิบัติงานตามที่วางไว้
6. ยืนหยัดต่อสู้ทำงานหนัก ทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ แม้ว่าจะต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค ถูกกดดันอย่างใหญ่หลวงก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้ ขอเพียงให้งานที่รับผิดชอบสำเร็จเท่านั้น
7. นำประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียน ซื่งเป็นคุณลักษณะสำคัญที่ควรจะปฏิบัติสำหรับผู้ประกอบการ เพราะเป็นการมองผลงานในอดีตที่เคยทำผิดพลาด นำมาเป็นบทเรียนสะท้อนไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นอีก
8. มีความสามารถในการบริหารงานและมีความเป็นผู้นำที่ดี มีลักษณะการเป็นผู้นำรู้หลักการบริหารงานจัดการที่ดี เมื่อต้องทำงานร่วมกับบุคลากรหลายระดับในภาวะที่แตกต่างกันออกไปตามระยะการเติบโตของกิจการ ซึ่งลักษณะของความเป็นผู้นำก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย
9. มีความเชื่อมั่นในตนเอง มีความมั่นใจ ตั้งใจเด็ดเดี่ยว เข้มแข็งมีลักษณะเป็นผู้นำ มีความทะเยอทะยาน และไม่ประเมินความสามารถของตนเองสูงเกินไป หรือเชื่อมั่นตัวเองมากเกินไป
10. มีวิสัยทัศน์กว้างไกล เป็นผู้ที่มีประสบการณ์ สามารถที่จะวิเคราะห์เหตุการณ์ในอนาคตข้างหน้าได้อย่างแม่นยำและพร้อมรับเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลง
11. มีความรับผิดชอบ (Responsibility) รับผิดชอบต่องานที่ทำเป็นอย่างดี เป็นผู้นำในการทำสิ่งต่างๆ มักจะมีความคิดริเริ่มแล้วลงมือทำเอง หรือมอบหมายให้ผู้อื่นทำ และเป็นผู้ดูแลจนงานสำเร็จไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยจะรับผิดชอบผลการตัดสินใจ ไม่ว่าผลออกมาจะดีหรือไม่ มีความเชื่อว่าความสำเร็จเกิดจากความเอาใจใส่ ความพยายาม ความรับผิดชอบมิใช่เกิดจากโชคหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทำให้เกิดขึ้น
12. มีความกระตือรือร้น และไม่หยุดนิ่ง (Enthusiastic)ทำงานทุกอย่างโดยไม่หลีกเลี่ยงทำงานหนักมากกว่าคนปกติทั่วไป เร่งรัดตัวเองทุกวัน มีพลังผูกพันตัวเองไม่อยู่นิ่งด้วย
13. ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติม โดขเฉพาะความรู้ข้อมูลทางการตลาด เศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ทั้งในและต่างประเทศ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เขาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ความรู้ไม่มีวันเรียนจบ
14. กล้าต้ดสินใจและมีความมุมานะพยายาม เชื่อมั่นในตนเองกับงานที่ทำ มีจิตใจของนักต่อสู้ แม้งานจะหนักก็ทุ่มเทให้สุดความสามารถ
15. อย่าตั้งความหวังไว้กับผู้อื่น มีการผลักดันให้ผู้ที่อยู่รอบด้านทำงานหนักอย่างเต็มที่เช่นเดียวกับตนเพื่อให้งานสำเร็จและมุ่งหวังความสำเร็จ
16. มองเหตุการณ์ปัจจุบันเป็นหลักจะต้องทำงานปัจจุบันให้ดีที่สุด คิดถึงอนาคตด้วยการวางแผนไว้อย่างรอบคอบ
17. สามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อม ต้องเชื่อมั่นในความสามารถของตนที่จะปรับตนเองให้เป็นไปตามความต้องการของสภาพแวดล้อมมากกว่าปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามยถากรรม หรือขึ้นอยู่กับโชคหรือดวง
18. รู้จักประมาณตนเอง ไม่ทำสิ่งใดเกินตัว เกินความสามารถ
19. ต้องมีความร่วมมือและแข่งขัน ผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกันจะต้องไม่พยายามทำธุรกิจให้เกิดเพียงผู้ชนะอย่างเดียว ร่วมมือกัน พึ่งพาอาศัยกันเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด
20. ประหยัดเพื่ออนาคต ผู้ประกอบการต้องมีการประหยัด อดออมไว้เพื่อนำไปขยายกิจการในอนาคต ต้องรู้จักห้ามใจที่จะหาความสุข ความสบายในช่วงที่ธุรกิจอยู่ในช่วงตั้งตัว เพื่ออนาคตข้างหน้า
21. มีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าในด้านคุณภาพสินค้าและต้องสร้างความเชื่อถือของตัวเองในการเป็นลูกหนี้ที่ดีของธนาคาร เป็นนายที่ดีของลูกน้อง มีความซื่อสัตย์ต่อหุ้นส่วน ต่อครอบครัว และต่อตนเอง

ในความเป็นจริงผมคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่ผู้ประกอบการจะมีครบทั้ง 21 ข้อข้างต้น แต่ไม่เป็นไรขอให้ค่อยๆ สร้างขึ้นที่ละข้อก็ได้ ผมคิดว่าความสำเร็จคงจะเป็นของนักล่าฝันทุกคนครับ.....สวัสดี

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

ท่านจะมีชัยชนะสิบประการ แลอ้วนเสี้ยวจะแพ้สิบประการ

ในหนังสือเรื่องสามก๊กมีตัวอย่างมากมายเกี่ยวกับอุปนิสัยใจคอของบุคคลต่างๆ ที่มีทั้งข้อดีและข้อด้อย มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน โจโฉก็เป็นบุคคลหนึ่งที่น่ายกย่องในมุมมองของความเป็นผู้นำและนักปกครอง ความตอนหนึ่งจากเรื่องสามก๊ก เป็นคำกล่าวของที่ปรึกษากุยแกที่ว่า ข้าพเจ้าเห็นท่านจะมีชัยชนะสิบประการ แลอ้วนเสี้ยวจะแพ้แก่ท่านสิบประการ เป็นความตอนหนึ่งในเรื่องสามก๊ก เวลานั้น อ้วนเสี้ยวปราบปรามกองซุนจ้านลงได้ และได้ผนวกเอาเมืองทั้งสี่เข้าด้วยกัน จนมีกำลังทหารแสนคนเศษ และกำลังจะกรีธาทัพบุกเมืองฮูโต๋ โจโฉใจอยากจะยกออกต่อต้าน แต่ก็ลังเลใจและหวาดกลัวจึงได้ขอคำแนะนำจากกุยแกว่า "เปิ่นซู(ชื่อรองของอ้วนเสี้ยว)มีทหารในเมืองกิจิ๊วมากมาย ทั้งเมืองเฉงจิ๋วและเป๊งจิ๋วก็ยอมขึ้นต่อ ทำให้เขามีกำลังทหารมาก มีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล เรียกว่ามีแสนยานุภาพไม่น้อยทีดียว ข้าอยากเข้าตีเขา แต่กำลังสู้เขาไม่ได้จะให้ทำประการใดดี"(จากชีวประวัติกุยแก บทที่ 14 ซานกั๋วจื้อ)
กุยแกจึงว่าครั้งพระเจ้าฮั่นโกโจกับพระเจ้าฌ้อปาอ๋องทำการศึกนั้น พระเจ้าฌ้อปาอ๋องกล้าแข็ง และก็มีทหารเป็นอันมาก ฝ่ายพระเจ้าฮั่นโกโจนั้น ทหารก็น้อยแต่ชำนาญในการศึก คิดเอาชัยชนะพระเจ้าฌ้อปาอ๋องได้ เนื้อความทั้งนี้ก็ย่อมแจ้งอยู่ ซึ่งอ้วนเสี้ยวมีทหารเป็นอันมากแต่หาความคิดมิได้ ท่านอย่าปรารมภ์ด้วยทหารเราน้อย ถ้ายกไปทำการศึกแก่อ้วนเสี้ยว ข้าพเจ้าเห็นท่านจะมีชัยชนะสิบประการ แลอ้วนเสี้ยวนั้นจะแพ้แก่ท่านสิบประการ โจโฉจึงถามว่าเราจะชนะสิบประการนั้น แลอ้วนเสี้ยวจะแพ้สิบประการนั้นฉันใด ท่านจงวิตถารให้เราแจ้ง
กุยแกจึงว่าท่านจะชนะสิบประการนั้นคือ
...ท่านมิได้ถือตัว ถ้าจะทำการสิ่งใจถึงผู้น้อยจะขัดท่านว่าผิดแลชอบ ท่านก็เห็นด้วย ประการหนึ่ง
...น้ำใจท่านโอบอ้อมอารีต่อคนทั้งปวง แล้วจะทำการสิ่งใดก็ถือเอารับสั่งพระเจ้าเหี้ยนแต้เป็นประมาณ คนทั้งหลายก็ยินดีด้วย ประการหนึ่ง
...ท่านจะว่ากล่าวสิ่งใดก็สิทธิ์ขาด มีสง่า คนทั้งปวงยำเกรงท่านเป็นอันมาก ประการหนึ่ง
...ใจท่านสัตย์ซื่อ เลี้ยงทหารโดยยุติธรรม ถึงญาติพี่น้องผิดก็ว่ากล่าวมิเข้าด้วยผู้ผิด ประการหนึ่ง
...ท่านจะคิดทำการสิ่งใดเห็นเป็นความชอบก็ตั้งใจทำไปจนสำเร็จ ประการหนึ่ง
...ท่านจะรักผู้ใดก็รักโดยสุจริตมิได้ล่อลวง ประการหนึ่ง
...ท่านเลี้ยงคนซึ่งอยู่ใกล้กับอยู่ไกล ถ้าดีแล้วเลี้ยงเสมอกัน ประการหนึ่ง
...ท่านคิดการหนักหน่วงให้แน่นอนแล้วจึงทำการ ประการหนึ่ง
...ท่านจะทำการสิ่งใดก็ทำตามขนบธรรมเนียมโบราณ ประการหนึ่ง
...ท่านชำนาญในกลสงคราม ถึงกำลังข้าศึกมากกว่าท่าน ท่านก็คิดเอาชัยชนะได้ เป็นประการ
ฝ่ายอ้วนเสี้ยวจะแพ้ท่านสิบประการนั้นคือ
...อ้วนเสี้ยวเป็นคนถืออิสริยยศ มิได้เอาความคิดผู้ใดประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวเป็นคนหยาบช้า ทำการโดยโวหาร ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวจะว่ากิจการสิ่งใดมิได้สิทธิ์ขาด ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวเห็นแก่ญาติพี่น้องของตัว มิได้ว่ากล่าวตามผิดแลชอบ ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวจะคิดการสิ่งใด มักกลับเอาดีเป็นร้ายเอาร้ายเป็นดี มิได้เชื่อใจของตัว ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวจะเลี้ยงผู้ใดมิได้ปรกติ ต่อหน้าว่ารัก ลับหลังว่าชัง ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวมักรักคนชิดซึ่งประสมประสาน ผู้ใดห่างเหินถึงซื่อสัตย์ก็มีใจชัง ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวกระทำความผิดต่างๆ เพราะฟังคำคนยุยง ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวจะทำการสิ่งใด เอาแต่อำเภอใจ มิได้ทำตามอย่างธรรมเนียมโบราณ ประการหนึ่ง
...อ้วนเสี้ยวมิได้รู้ในกลศึก แต่มักพอใจทำการศึกล่อลวง จะชนะก็ไม่รู้จะแพ้ก็ไม่รู้ เป็นสิบประการ
ข้าพเจ้าจึงว่าท่านจะชนะสิบประการ อ้วนเสี้ยวจะแพ้สิบประการ ดังนี้
ในที่สุดโจโฉก็มีชัยเหนืออ้วนเสี้ยวในการยุทธ์ที่กัวต๋อเมื่อปี พ.ศ.743

ในภาวะปัจจุบันที่ต้องแข่งขันกันทางด้านเศรษฐกิจ ความเป็นผู้นำของผู้นำองค์กรหรือหัวหน้างาน มีความสำคัญอย่างยิ่ง หากสามารถศึกษาได้จากตำราสามก๊กนี้แล้ว แม้เพียงเศษเสี้ยวหนึ่งก็ตามทีจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำพาองค์กรไปสู่ความเติบโตที่ยั่งยืน.....สวัสดี

เอกสารอ้างอิง:
1) สามาก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)
2) กลยุทธ์กุนซือ ฉบับเจ็ดยอดกุนซือในสามก๊ก, อดุลย์ รัตนมั่นเกษม เรียบเรียง, ทองแถม นาถจำนง บรรณาธิการ

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2553

จิตวิทยาเสริมสร้างความมั่นใจ

ผมได้อ่านหนังสือแล่มหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเสริมสร้างความมั่นใจในตัวเองแล้วรู้สึกว่าดี มีประโยชน์น่าจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ เลยอยากแน่ะนำให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้อ่านบ้าง น่าจะมีประโยชน์อย่างยิ่ง หนังสือชื่อว่า จิตวิทยาเสริมสร้างความมั่นใจ (The Ultimate secrets of total self-confidence) สำนักพิมพ์ เดอะบอสส์ ในหนังสือนั้นเขียนไว้หลายบทอยู่เหมือนกัน แต่พอจะสรุปได้เป็นข้อๆ ในบทสุดท้ายได้ดังนี้

ข้อกำหนดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง

1. จงยอมรับในความเป็นจริงว่าคุณคือบุคคลผู้มีความสามารถพิเศษอยู่ในตัว พร้อมด้วยสถานที่อยู่และจุดประสงค์พิเศษที่จะต้องการทำให้สมบูรณ์
2. จงเพิ่มพูนและขยายขอบเขตความรู้และขจัดความแน่ใจที่ผิดพลาด ซึ่งสกัดกั้นคุณไว้จากการที่จะระบายศักยภาพอันไร้ขอบเขตของคุณออกมา
3. การระบายศักยภาพอันไร้ขอบเขตนั้น จงเลือกเป้าหมาย สร้างแผนการให้กับชีวิต และมอบสิ่งนั้นให้กับจิตใต้สำนึกของคุณ
4. จงมองลึกเข้าไปภายในตัวคุณเอง เพื่อแสวงหาความปรีชาสามารถและพลังในการที่จะแก้ปัญหาทั้งมวลและทำให้ชีวิตเป็นเช่นที่ปรารถนาจะเป็น
5. มองให้เห็นภาพและมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในสิ่งใดก็ตามที่คุณต้องการจะเป็นหรือมี ในประสบการณ์แห่งชีวิต
6. จงทำให้ความคิดอันมุ่งมั่นประสบความสำเร็จ มิใช่เผชิญกับความลัมเหลว
7. จงเป็นนายของกาลเวลา มิใช่ให้กาลเวลาเป็นนายคุณ
8. จงขจัดความรู้สึกที่จะต้องพึ่งพาอาศัยผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ขจัดความละอาย ความกลัว และความกังวล จงสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นและนำเข้าไปแทนที่ จงสร้างความรัก สร้างจินตนาการ สร้างความกระตือรือร้น จงเป็นผู้มีอารมณ์ขันและมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่น
9. เพื่อช่วยให้เกิดความสำเร็จในสันติ พลัง และความสมบูรณ์แบบ จงฝึกฝนอบรมตนเองให้รู้จักศิลปแห่งการกระทำสมาธิจิต
10.และ...ในที่สุด จงจำไว้ว่า คุณคือเจ้าของความสามารถที่จะเลือก และมีพลังแห่งศักยภาพที่จะทำให้ทุกสิ่งที่ปรารถนาเป็นผลสำเร็จในบั้นปลาย

นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในคำแนะนำทั้ง 14 บทของหนังสือเล่มนี้ ผู้ที่สนใจสามารถอ่านได้อบ่างเต็มที่จากหนังสือเรื่อง จิตวิทยาเสริมสร้างพลังความมั่นใจ (The Ultimate secrets of total self-confidence) ได้เลยครับ......สวัสดี

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาทเนื่องในวันมาฆบูชา พ.ศ.๒๔๔๒

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระโอวาทวันมาฆบูชา 2553

ความว่า...

"วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 4 เป็นวันพระจันทร์เต็มดวง เสวยมาฆฤกษ์ เมื่อ 2,598 ปีมาแล้ว จัดวันนั้นเป็นวันมาฆบูชา ด้วยสมเด็จพระบรมศาสดา ทรงประกาศหัวใจพระพุทธศาสนา 3 ประการ ในท่ามกลางพระอรหันตขีณาสพ 1,250 รูป เพื่ออัญเชิญไปเป็นหลักในการประกาศพระพุทธศาสนาแก่โลก ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน คือ การไม่ทำบาปอกุศลทั้งปวง การทำบุญกุศลทุกประการ และการทำจิตของตนให้ผ่องแผ้วห่างไกลจากกิเลสทั้งปวง หัวใจพระพุทธศาสนาก็เปรียบเช่นหัวใจเราท่านทั้งหลาย แม้ปล่อยหัวใจให้มีโรค ร่างกายก็จะเป็นทุกข์ทรมานจนถึงตายได้

หัวใจพระพุทธศาสนาก็เช่นเดียวกัน ไม่รักษาให้ดีด้วยการทำตามที่พระพุทธองค์ทรงสอน ก็ย่อมจะก่อให้เกิดความบอบช้ำแสนสาหัส ถึงจบชีวิตพระพุทธศาสนาได้ พร้อมกันนั้นชีวิตของเราท่านทั้งหลายก็จะสิ้นความสวัสดี แม้ไม่อยากให้ชีวิตต้องผ่านสภาพนั้น ก็จงเร่งคิดพูดทำให้ได้ดังหัวใจพระพุทธศาสนา เริ่มต้นให้จริง ในวันมาฆบูชาวันนี้เถิด มหามงคลก็จะเกิด ความเดือดร้อนวุ่นวายจะสงบลงได้ด้วยพระพุทธานุภาพ"

...ขออำนวยพร…

อยู่อย่างเข้มแข็ง ในสังคมที่แข่งขัน

บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมม์ปฎิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ด้วยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า มีการศึกษาจำนวนมากบ่งบอกว่าผู้คนในประเทศอุตสาหกรรมมีความเจริญทางเทคโนโลยีมีดัชนีความสุขต่ำกว่าผู้คนในประเทศที่ไม่ได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากนัก เช่น ผู้คนในประเทศภูฎานมีดัชนีความสุขสูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นหลายเท่าและในประเทศญี่ปุ่นมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในขณะที่ประเทศภูฎาน แม้จะไม่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ประชาชนกลับมีความสุข คนในครอบครับ ในชุมชนมีเวลาให้กัน มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีรอยยิ้มให้กัน ถึงแม้ จีดีพี ของประทเศจะต่ำ แต่ GNP (Gross National Happiness) กลับมีสูงมาก
สาเหตุที่คนเราไม่มีความสุขเกิดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาเป็นเพราะมนุษย์มีการแข่งขันกันตลอดชีวิต ไม่ว่าจะตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ขนาดการตั้งครรภ์ แม่ก็ต้องแย่งคิวฝากท้องกับหมอที่มีชื่อเสียง ต้องรีบจองคิวเนอร์สเซอรี่หรือโรงเรียนอนุบาลชื่อดังตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เด็กสมัยนี้จบจากอนุบาลจะเข้าประถม 1 ก็ต้องเริ่มมีการกวดวิชาสอบเข้ากันแล้ว ไม่ค่อยมีเวลาวิ่งเล่น สนุกสนานเหมือนเด็กยุคก่อนๆ ยิ่งโดยเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การแข่งขันยิ่งรุนแรง เรียนกวดวิชาเตรียมสอบล่วงหน้ากันเป็นปีๆ จบออกมาก็ต้องแย่งงานดีๆ กันทำอีก
นอกจากนั้นยังต้องแข่งขันเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันว่าใครจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า เร็วกว่า ใครขับรถแพง บ้านหลังใหญ่ หรูกว่า ลูกใครเรียนโรงเรียนดัง มีชื่อเสียง เรียนเก่งประสบความสำเร็จมากกว่ากัน การเปรียบเทียบแข่งขั้นทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มากเกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่เป็นการตอบสนองทางด้านจิตใจมากกว่า เพื่อให้ตนเองมั่นใจว่าชีวิตฉันมั่นคงกว่า ปลอดภัยกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า ฉันเก่งกว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ฉันใช้ได้ ฉันชนะ ฉันเหนือกว่าคนอื่นๆ
ความจริงชีวิตคนเรามีสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานไม่มากกว่าปัจจัยสี่เท่าใดนัก แต่สิ่งที่คนเราต้องการในชีวิตนั้นไม่มีที่สิ้นสุดและเหตุผลก็คือเป็นไปเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย ความสนุกสนานและเสริมความมั่นใจในเรื่องของภาพลักษณ์ หน้าตา ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ ซึ่งคนจำนวนมากยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มาจนกระทั่งลืมไปว่า เป้าหมายของชีวิตคืออะไร ชีวิตขาดสมดุล ครอบครัวล้มเหลว สุขภาพทรุดโทรมหรือแม้แต่สังคมและสภาพแวดล้อมก็เสื่อมถอยเพราะผู้คนมุ่งประโยชน์ส่วนตน
คนจำนวนมากที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความสุขเพราะครอบครัวล้มเหลว ความสัมพันธ์ในบ้านมีปัญหา สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก เข้ากันไม่ได้ ในบ้านมีแต่ความร้อนรุ่มหาความสงบสุขไม่ได้ บางรายถึงมีเงินทองมากมายก็ยังไม่มีความสุข เพราะเฝ้ามองเปรียบเทียบกับเพื่อนที่รวยกว่า ต้องมีมากกว่าเขาถึงจะรู้สึกมีความสุข รู้สึกมั่นใจ รู้สึกว่าเหนือกว่า หรือบางคนก็ไม่มีความสุขเพราะต้องมาคอยระแวดระวังว่าจะมีคนมาโกง มาปล้น มาขโมย มายักยอกทรัพย์สินไป ต้องคอยคิดหาวิธีป้องกันและตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
คนเราไม่มีความสุขต้องดิ้นรนแข่งขัน เปรียบเทียบกับคนอื่นก็เพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองมีมากพอ ดีพอ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ลึกอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก การปรับเปลี่ยนแก้ไข ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกเช่นนี้ก็ยังคงมีความรู้สึกว่าตัวเองขาดอยู่ ยังไม่รวย (ทั้งที่มีทรัพย์สินมากมาย)ยังไม่ปลอดภัย คนเหล่านี้มีความรู้สึกไม่มั่นคงจากภายในจิตใจแต่จะหาวิธีแก้ไขให้เกิดความมั่นคงโดยอาศัยจากปัจจัยภายนอก ตั้งแต่ทรัพย์สิน เงินทอง ความสำเร็จ ชื่อเสียง การยอมรับจากบุคคลอื่น ซึ่งปัจจัยภายนอกนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อยู่นอกเหนือการควบคุมของแต่ละคน ดังนั้นถ้าการจะมีความสุขได้โดยต้องอาศัยสิ่งภายนอกเหล่านี้ก็ต้องใช้กำลังอย่างมากในการพยายามที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองให้ได้ ซึ่งมีโอกาสผิดหวัง ล้มเหลวสุงมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนควบคุมไม่ได้

สำหรับวิธีการสร้างสุขอย่างยั่งยืนเพื่อให้สามารถอยู่ท่ามกลางสังคมที่มีแต่การแข่งขันกันนั้น สามารถปฏิบัติเองได้ 5 ข้อ ดังนี้

1. ปรับความคิดพยายามทำให้ตนเองรู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบทุกคน แต่ละคนก็มีทั้งของดีและข้อเสีย ตัวเราเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกัน
2. ต้องคิดเสมอว่าตัวเราเองมีคุณค่า มีประโยชน์และต้องพยายามรักษาข้อดี ปรับปรุงข้อเสียของตนเอง พยายามลดจุดอ่อน ข้อบกพร่องและต้องยอมรับตนเองในแบบที่ตนเองเป็น
3. อย่าวิ่งหนีปัญหา และกลบจุดอ่อนปมด้อยตัวเอง อย่าคิดที่จะต้องเอาชนะคนอื่น นำหน้าหรืออยู่เหนือผู้อื่น เพราะจะช่วยทำให้ความคิดที่ต้องการไขว่คว้าหาความมั่นคงจากปัจจัยภายนอกลดลง ความต้องการแก่งแย่งแข่งขันก็จะน้อยลง ทำให้ชีวิตมีความเรียบง่ายขึ้น
4. พยายามมองโลกแง่บวก รู้จักให้อภัยผู้อื่น ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องอาศัยทั้งความรู้และความเข้าใจ ถึงจะสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมแห่งการแข่งขันกันได้
5. ต้องหมั่นฝึกฝนปฎิบัติทบทวน เพื่อเตือนสติตนเองว่าคนเราก็มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ซึ่งต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่นอย่างสูงจึงจะสำเร็จ ถ้าทุกคนหันมาให้ความสนใจกับแนวทางนี้ ตั้งสติและทบทวนปฎิบัติได้ เชื่อว่าโลกใบนี้ก็จะกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิมได้

วันอาทิตย์ที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2553

เห็นอะไรบ้าง?

เรื่องมีอยู่ว่า ผมได้อ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมม์ Forward Mail เรื่อง เห็นอะไรบ้าง? เรื่องมีดังนี้ ยอดนักสืบเชอร์ล็อคโฮล์มและหมอวัตสันไปแคมป์ปิ้งด้วยกันหลังอาหารค่ำ ทั้งคู่มุดเข้าเต็นท์นอน สองสหายนอนกรนครอกฟี้ๆ ไปหลายชั่วโมง โอล์มก็ตื่นขึ้นและสะกิดสหายคู่ใจ
"วัตสัน มองดูท้องฟ้านั่นสิ แล้วลองบอกผมซิว่าคุณเห็นอะไร?"
วัตสัน : "ผมเห็นดวงดาวเป็นล้านๆ ดวง"
โฮล์ม : "มันบอกอะไรคุณได้บ้าง?"
หมอวัตสันเพ่งพินิจชั่วขณะแล้วกล่าว "ในแง่ดาราศาสตร์ มันบอกเราได้ว่ามีดวงดาวมากมายจนสุดจะคณานับ ถ้าในแง่โหราศาสตร์ละก็ ผมเห็นดาวเสาร์โคจรเข้าสถิตย์ในกลุ่มดาวสิงโต ในแง่การคำนวณเวลา ผมบอกได้เลยว่ามันประมาณตีสามสิบห้านาที ในทางเทววิทยาวิทยาละก็ผมก็เห็นว่าพระเจ้านั้นยิ่งใหญ่เหลือเกิน ส่วนพวกเราเป็นอะไรที่จิ๊บจ๊อยมาก ถ้ามองในแง่อุตุนิยม ผมว่าพรุ่งนี้อากาศจะดีมาก แล้วคุณละโฮล์ม คุณเห็นอะไรบ้าง?"
โฮล์มเงียบไปชั่วขณะ แล้วกล่าว "ไอ้ซื่อบื้อ ไม่เห็นรึไง ไม่รู้ใคร แอบมาขโมยเต๊นท์เราไปแล้ว"

ผมอ่านแล้วรู้สึกขำๆ ทำให้นึกถึงเรื่องราวในชีวิตของคนเรา บางคนมองอะไรลึกซึ้งเกินกว่าที่มันจะเป็น คิดว่าการมองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตอย่างลึกซึ้งแล้วจะทำให้การดำเนินในแต่ละช่วงเวลาง่ายขึ้นโดยไม่ได้พิจารณาถึงสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หรือก็คือ การมองโลกตามความเป็นจริง

วันศุกร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2553

ในหลวงพระราชทานพรปีใหม่ 2553

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพรปีใหม่ พร้อมพระราชทาน ส.ค.ส ในปีพุทธศักราช 2553 ในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2552 ความว่า "ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ทั้งขอขอบใจท่านเป็นอย่างมาก ที่วิตกห่วงใยในการเจ็บป่วยของข้าพเจ้า และแสดงออกโดยประการต่างๆ จากใจจริง ที่จะให้ข้าพเจ้าหายเจ็บป่วยและมีความสุขสวัสดี
ความสุขสวัสดีนี้ เป็นสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่จะสำเร็จผลเป็นจริงได้มากน้อยเพียงใด ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถและสติปัญญา ในการประพฤติตัวปฏิบัติงานของแต่ละบุคคล ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ชาวไทยทุกคนได้ตั้งจิตตั้งใจให้เที่ยงตรงแน่วแน่ ที่จะประพฤติตัวปฏิบัติงานให้เต็มกำลังความสามารถ โดยมีสติรู้ตัวและปัญญารู้คิดกำกับอยู่ตลอดเวลา กล่าวคือ จะคิดจะทำสิ่งใด ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดีให้ถูกต้อง
ข้อสำคัญจะต้องระลึกรู้โดยตระหนักว่า ประโยชน์ส่วนรวมนั้น เป็นประโยชน์ที่แต่ละคนพึงยึดถือ เป็นเป้าหมายหลัก ในการประพฤติตัวและปฏิบัติงาน เพราะเป็นประโยชน์ที่ยั่งยืนแท้จริง ซึ่งทุกคนมีส่วนได้รับทั่วถึงกัน ความสุขสวัสดีจักได้เกิดมีขึ้น ทั้งแก่บุคคล ทั้งแก่ชาติบ้านเมืองไทย ดังที่ทุกคนทุกฝ่ายตั้งใจปรารถนา ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และส่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรคภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ และความสำเร็จสมประสงค์ ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน"

วันพุธที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2553

พรปีใหม่สมเด็จพระสังฆราช ปีพ.ศ. 2553

สมเด็จพระญาณสังวรสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ประทานพรปีใหม่ 2553 ความว่า "โลกจะมีสันติภาพเพราะเมตตายิ่ง ปีใหม่แล้ว ทุกคนขอให้เริ่มแก้ที่ตัวเองก่อน แก้ที่ใจวุ่นวาย เร่าร้อนด้วยอำนาจจิตของกิเลส ให้กลับเป็นใจที่สงบเย็นบางเบาจากกิเลส ที่เคยโลภมาก ก็ให้ลดลงเสียบ้าง ที่เคยโกรธแรง ก็ขอให้โกรธเบาบางลง ที่เคยหลงจัด ก็ขอให้พยายามใช้สติปัญญาตนเองจะเป็นผู้สงบก่อน ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดความสงบเย็น กว้างขวางออกไปอย่างไม่ต้องสงสัยเลย โลกเย็นเพราะเมตตายิ่ง โลกร้อน เมตตาหย่อน นี่เป็นความจริงที่ควรยอมรับและควรแก้ไข อันการแก้นั้นก็ต้องไม่ไปแก้ผู้อื่น ต้องแก้ที่ตัวเอง แก้ตัวเองให้ยิ่งด้วยเมตตา หรือให้มีเมตตายิ่งขึ้นนั่นเอง เมื่อมีเมตตาอย่างจริงใจแล้ว จะเป็นเหตุให้เกิดผลงานมากมาย เป็นคุณทั้งแก่ผู้รับและเป็นคุณทั้งแก่ผู้ให้ ขออำนวยพร"

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวัน อังคารที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2552