วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทศพิธราชธรรม...ธรรมสำหรับพระราชาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมสำหรับผู้นำที่ใหญ่ยิ่ง

ผู้นำและภาวะผู้นำ มีความสำคัญต่อผู้คนซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ขนาดเล็กๆ อย่างเช่น กลุ่มคน ครอบครัว ไปจนถึงขนาดใหญ่ๆ อย่างเช่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติ จนถึงระดับประชาคมโลก ในยุคปัจจุบันนี้ที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วหรือยุคโลกาภิวัฒน์ ดูเหมือนว่า ผู้นำและภาวะผู้นำได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในการดำเนินชีวิตของทุกคน การทำธุรกิจ การประสานงานต่างๆ ในทุกระดับ ดังจะเห็นว่ามีวิทยาการหรือความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้นำ แตกแขนงออกมาอย่างมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนขอหยิบยกขึ้นมาอธิบายเกี่ยวกับ คุณธรรมของผู้นำคือ หลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง ทศพิธราชธรรม จากความตอนหนึ่งในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้อธิบายเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม ว่า "ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชธรรม 10" นี้ ปรากฏอยู่ในพระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ดังนี้ ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ. ขุ.ชา.28/240/86 " จากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าหลักธรรมนี้เป็นอมตะธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว จวบจนปัจจุบัน และจะยังคงเป็นจริงต่อไปในอนาคข้างหน้าอีกไม่รู้จบ ซึ่งรายละเอียดของทศพิธราชธรรม 10 ประการมีดังนี้

๑. ทาน คือ การให้สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือประชาชนและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หมายความถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การทรงเสียสละพระกำลังในการปกครอง แผ่นดิน การพระราชทานพระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจแห่งมนุษย์

๒. ศีล คือ ความประพฤติดีงาม ประกอบแต่การสุจริตให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน หมายความถึงการตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา อันได้แก่ เบญจศีลมาเสมอ

๓. บริจาคะ คือ การบริจาคเสียสละความสุขสำราญส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน หมายความถึงการที่ทรงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า คือ เมื่อถึงคราวก็สละได้แม้พระราชทรัพย์ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของพระองค์

๔. อาชชวะ คือ ความซื่อตรงมีความจริงใจต่อประชาชน หมายความถึงการที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและอาณาประชาราษฎร

๕. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน มีกริยาสุภาพนุ่มนวล หมายความถึงการที่ทรงเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร ทรงมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า

๖. ตบะ คือ การเผากิเลสมิให้เข้าครอบงำจิตใจ หมายความถึงความเพียรที่แผดเผาความเกียจคร้าน คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน

๗. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธและไม่เกรี้ยวกราด หมายความถึงการไม่แสดงความโกรธให้ปรากฎ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธก็ทรงข่มเสียให้สงบได้

๘. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนบีบคั้นประชาชน หมายความว่าทรงมีพระราชอัธยาศัย กอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร

๙. ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลำบากทางกายและใจ หมายความถึงการที่ทรงมีพระราชจริยานุวัตร อันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย และพระอาการ พระกาย พระวาจา ให้เรียบร้อย

๑๐. อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดธรรม ไม่เอนเอียงหวั่นไหวกับสิ่งไม่ดีงาม หมายความถึงการที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ ทรงบำราบคนที่มีความผิดโดยปราศจากอำนาจอคติ ๔ ประการ(ดูหมายเหตุ) และไม่ทรงแสดงให้เห็นด้วยพระราชหฤทัยยินดียินร้าย
(ที่มา: www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_31_11.doc)

สังคมไทยทุกวันนี้ต้องก้าวให้ทันโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือแม้กระทั้งการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คุณธรรมของผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักธรรม ทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระราชาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมสำหรับผู้นำที่ใหญ่ยิ่ง จะตราตรึงอยู่ในใจของ ผู้นำทุกคน ทั้งที่เป็น ผู้นำกลุ่ม ผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน ผู้นำประเทศ (โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย) จนถึง ผู้นำแห่งประชาคมโลก.....สวัสดี


หมายเหตุ:

อคติ 4 หมายความว่า การกระทำอันทำให้เสียความเที่ยงธรรม มี 4 ประการ
1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว


เอกสารอ้างอิง:

1. www.th.wikipedia.org/wiki/ทศพิธราชธรรม

2. www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_31_11.doc

ไม่มีความคิดเห็น: