วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ท่องไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

ผมเขียนบทความเรื่อง ท่องไปนมัสการรอยพระพุทธบาท เนื่องจากผมได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง บนยอดเขา คิชฌกูฏ จังหวัดจันทรบุรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 หลังจากได้เห็นพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เพียรพยายามเดินเท้าขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง แล้วทำให้นึกเลื่อมใสในพลังศัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของทุกคน ผมจึงเริ่มสนใจและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทว่ามีความเป็นมาอย่างไร จากบทความเรื่อง พระพุทธบาทของไทย ในเว็บไซด์ www.heritage.thaigov.net/religion/prabat/index1.htm ความตอนหนึ่งอธิบายไว้ว่า พระพุทธบาท เป็นบริโภคเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งในสี่ประเภทของพระพุทธเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เช่นเดียวกับพระพุทธธาตุเจดีย์ การนับถือรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถาน มีมูลเหตุเกิดขึ้นจากสองคติต่างกัน คือ เป็นคติของชาวมัชฌิมประเทศหรือชาวอินเดียในครั้งโบราณอย่างหนึ่ง และเป็นคติของชาวลังกาทวีป คือ ชาวลังกาในปัจจุบันอย่างหนึ่ง สำหรับคติของชาวมัชฌิมประเทศนั้น เดิมถือกันตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และก่อนหน้านั้นว่า ไม่ควรสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ขึ้นไว้บูชา ดังนั้นเจดีย์ที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเมื่อก่อนพุทธศักราช 500 จึงทำแต่สถูปหรือวัตถุต่าง ๆ เป็นเครื่องหมาย สำหรับบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งรอยพระพุทธบาทก็เป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เกิดขึ้นภายหลัง โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นที่สักการะบูชา มีอยู่ห้าแห่งด้วยกัน คือที่เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนกูฏ ที่เมืองโยนกบุรี และที่หาดในลำน้ำนัมทานที มีคาถา คำนมัสการ แต่งไว้สำหรับสวดท้ายบทสวดมนต์อย่างเก่า ดังนี้
"สุวณฺณ มาลิเก สุวณฺณ ปัพพเต สุมนกูเฏ โยนกปุเร นมฺมทาย นทิยา ปัญฺจปทวรํ อหํ วนฺทามิ ทูรโต"

จากพระคาถาบาลีทำให้ทราบว่า รอยพระพุทธบาท 5 แห่งดังกล่าว ปัจจุบันเชื่อว่ามีอยู่จริงดังนี้คือ รอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณมาลิกและเขาสุมนกูฏ ประดิษฐานอยู่ที่ประเทศศรีลังกา รอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ เขาสุวรรณบรรพต คือรอยพระพุทธบาทสระบุรี ในประเทศไทย รอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ เมืองโยนกบุรีเชื่อว่าคือรอยพระพุทธบาทสี่รอย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และรอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ หาดในลำน้ำนัมทานที ปัจจุบันยังหาไม่พบโดยมีเรื่องเล่าไว้ใน "ปุณโณวาทสูตร" ว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ"นัมมทานที" อันเป็นที่อยู่ของพระยานาค และพวกพระยานาคได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จลงไปยังเมืองนาคใต้บาดาล และทำการถวายสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนจะเสด็จกลับพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้พระยานาคฟัง พอจบธรรมเทศนาแล้ว พระยานาคได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทเอาไว้ ณ ริมฝังแม่น้ำ "นัมมทานที" เพื่อให้พวกนาค, คนธรรม์, ครุฑ, ตลอดจนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้พากันสักการะบูชาสืบมา

สำหรับบทความนี้ผมขอนำเสนอสถานที่ที่ประทับรอยพระพุทธบาทที่ผมเคยไปนมัสการมาแล้วและรอยพระพุทธบาทที่ผมตั้งใจว่าจะไปนมัสการในกาลข้างหน้า ดังนี้

รอยพระพุทธบาทแห่งแรกคือ รอยพระพุทธบาทจำลอง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 รอยพระพุทธบาทจำลอง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่ที่ยอดเขาพระจุลจอมเกล้า บนเกาะสีชัง ตามประวัติกล่าวว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาจากอำเภอพุทธคยา ประเทศอินเดีย นำมาถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
พวกเราเวลาขึ้นเขาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ต้องผ่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ก่อน คิดว่าประมาณครึ่งทางเห็นจะได้ แล้วเดินขึ้นไปอีกจนถึงยอดเขาก็จะพบรอยพระพุทธบาทจำลองนี้ ผมเคยไปนมัสการมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อนๆ ถ้ามีโอกาสก็ขอเชิญครับ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไรเลย จังหวัดชลบุรีนี่เอง
รอยพระพุทธบาทแห่งที่ 2 ที่ผมเคยไปนมัสการมาคือ รอยพระพุทธบาทสระบุรี ตั้งอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 รอยพระพุทธบาทสระบุรี จังหวัดสระบุรี

ตามพระบาลีข้างต้นนี้ ได้อ้างถึงรอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ที่เขาสุวรรณบรรพต ก็คือรอยพระพุทธบาทสระบุรี ค้นพบในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา
เพื่อนๆ ถ้ามีเวลาก็หาโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีแห่งนี้นะครับ รอยพระพุทธบาทสระบุรีนี้ มีความกว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 นิ้ว และลึก 11 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนไหล่เขาสุวรรณบรรพตหรือเขาสัจจะพันธคีรี





รอยพระพุทธบาทแห่งที่ 3 ที่ผมเคยไปนมัสการมาคือ รอยพระพุทธบาทพลวง ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทรบุรี ดังภาพที่ 3

ภาพที่ 3 รอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

เพื่อนๆ ที่จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ควรจะออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงสักหน่อย เพราะการเดินทางค่อนข้างลำบาก ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีรถรับส่งถึงเชิงเขาแล้วก็ตาม แต่ตามทางที่รถวิ่งก็เป็นทางลาดชัน ขึ้นเขาและลงเขา ดังนั้นสุขภาพร่างกายควรจะพร้อมสักหน่อย และเมื่อถึงเชิงเขาแล้วต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรกว่าๆ เป็นทางขึ้นเขาล้วนๆ แต่ด้วยความศรัทธาผมเห็น คนเถ้าคนแก่หรือแม้แต่คนที่ขาไม่ค่อยดี ก็พยายามเดินไปให้ถึงยอดเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทพลวง ผมก็ขออนุโมทนาสาธุด้วย ที่สำคัญผมได้ยินเรื่องเล่ามาว่าใครก็ตามที่มานมัสการพระพุทธบาทฯ นี้ ขอสิ่งใดแล้วจะประสบความสำเร็จทุกประการ ผมก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จแต่สิ่งที่ดีงามกันทุกคนครับ สำหรับผมขอแค่มีโอกาสมานมัสการรอยพระพุทบาทฯ และระลึกถึงพระพุทธคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพียงพอแล้ว

รอยพระพุทธบาทสี่รอย ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 รอยพระพุทธบาทสี่รอย

ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้ ตามตำนานเล่าว่า รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงลับมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอย ใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตม เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก นอกจากนี้ความเชื่อตามพระบาลีข้างต้น รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ที่ เมื่องโยนกบุรี ก็คือ รอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้
ผมตั้งใจไว้ว่าจะต้องขึ้นไปเชียงใหม่อีกสักครั้งเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้


รอยพระพุทธบาทตากผ้า ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 รอยพระพุทธบาทตากผ้า

รอยพระพุทธบาทตากผ้า ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธองค์ได้เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยพระบาทลงไว้บนผาลาด แล้วตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
"ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคต มาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะบูชาของมหาชน ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชน ตลอด 5,000 พรรษา"
ผมยังไม่เคยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เลย และผมก็ตั้งใจจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทตากผ้าสักครั้งหนึ่งเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าจะมีบางคนอาจสงสัยว่ารอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนโลกนี้จะเป็นจริงดังตำนานต่างๆ ที่กล่าวไว้หรือไม่ ผมคิดว่านั่นไม่สำคัญเลย ตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังมีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาโดยพึงระลึกเสมอว่า รอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่เราได้มีโอกาสไปนมัสการนั้นคือการบูชาและระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระเมตตาคุณ และพระบริสุทธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สุดท้ายนี้พวกเราชาวพุทธศาสนิกชนต้องไม่ลืมสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดังความตอนหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องแก่นพระพุทธศาสน์ว่า "สิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น อาตมาอยากจะแนะถึงประโยคสั้นๆ ที่มีกล่าวอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" ดังพระบาลีว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" ขอทุกคนจง..........สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น: