วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วิพากษ์คมความคิด เติ้งเสี่ยวผิง บนความเป็นประเทศไทย

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามความเป็นไปของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงชื่นชอบการฟังความคิดเห็นของผู้นำทางธุรกิจหลายๆ ท่านและหนึ่งในนั้นคือ ท่านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครืองเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยความคิดเห็นของท่านฯ บางครั้งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เช่น น้ำมันบนดิน และบางครั้งผมก็ยังสงสัยในใจ เช่น ทฤษฎีสองสูง เป็นต้น และเมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสฟังความคิดเห็นของท่านฯ อีกครั้งหนึ่งในโอกาสที่ให้คำแนะนำรัฐบาลใหม่ ดังนี้

อันไหนที่เราคิดว่าดี ก็เกทับรัฐบาลเก่าไปเลย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ยกเลิก

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ออกมาเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ "รัฐบาลควรใช้ทฤษฎีสองสูงแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้มีราคาดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น และรองรับผู้ที่ตกงานซึ่งจะไหลกลับสู่ภาคเกษตร รวมทั้งเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ อันไหนที่เราคิดว่าดี ก็เกทับรัฐบาลเก่าไปเลย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ยกเลิก นโยบายที่ดีก็สานต่อ อะไรก็ได้ที่ทำให้ทั้งแมวดำและแมวขาวสามารถจับหนูได้ก็ให้รัฐบาลทำไป คุณอภิสิทธิ์ เป็นคนหนุ่มไฟแรง แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่มีประสบการณ์ในภาคเอกชน แต่หากเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงานก็ถือว่าบริหารงานได้ดี และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่หากทุกคนช่วยกันก็จะช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤติไปได้ หากรัฐบาลทำได้ดีก็สามารถอยู่ได้ครบวาระ"

เมื่อได้ยินคำว่า แมวดำและแมวขาว ทำให้ผมนึกถึงอดีตท่านผู้นำสูงสุดของประเทศจีนท่านหนึ่งคือ ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นมาถนัดใจและนึกได้ว่าเคยอ่านบทความเกี่ยวกับปรัชญาการบริหารของท่าน จึงขอนำเสนอในแนวทางการวิเคราะห์ว่าสามารถประยุกติ์ใช้กับประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ ดังนี้

1. 不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫

(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา) “ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”

ในหลักการข้อนี้คือ ควรยึดหลักแนวทางการปฎิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัวหรือที่ทำตามกันมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นประเทศจีนประสบปัญหาเกี่ยวกับราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ผู้นำหลายคนมีความคิดหลากหลายและมีข้ออ้างว่าเป็นวิธีของทุนนิยมไม่สมควรนำมาใช้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำยังคงมีอยู่ นโยบายบางอย่างของรัฐบาลก็ถูกถากถางว่าเป็นประชานิยม ซึ่งในความทัศนะของผมคิดว่าไม่แตกต่าง นโยบายข้อใหนทำแล้วดีก็ควรทำไม่จำเป็นว่าจะเป็นประชานิยมหรือไม่ประชานิยม จากความคิดเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่กล่าวในงานสัมมนาสัมมนาเรื่อง “ศักยภาพของสังคมไทยกับวิกฤติโลก” ดังนี้
" .....ส่วนที่หลายคนมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกับรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมไม่ได้สนใจว่า เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีหลักการ 2 ข้อ คือ 1. จะต้องใช้เงินได้เร็ว ส่งเงินเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ทัน 2. จะต้องเป็นนโยบายที่ถอยหลังหรือยกเลิกได้ ไม่ใช่นโยบายที่หว่านเงินหรือเสพติดจนเกินไป" หากจะเปรียบกับศาสตร์ด้านการบริหารการจัดการน่าจะเป็น Management by objective นั่นเอง รัฐบาลควรมองที่ผลของนโยบายที่จะได้รับมากกว่ามองว่า เป็นขาวหรือดำ

2. 解放思想,实事求是

(เจี่ยฟ่างซือเสี่ยง, สือซื่อฉิวซื่อ) “ ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง ”

การจะนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัยนั้น ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง มองว่า ต้องก่อเกิดจากความคิดที่ทันสมัยก่อน นั้นคือต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เคารพกฎแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ตลอดจนยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาที่เป็นจริงเชิงปฏิบัติ เป็นไปอย่างรอบด้าน และมีความเป็นมหาชน บนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ดังคำกล่าวของจีนที่ว่า "การปฏิบัติคือมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่จะทดสอบสัจธรรม" สำหรับประเทศไทย ต้องกลับมามองที่รากฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยก่อน ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รากเหง้าของคนไทยคุณเคยกับการเกษตรกรรมมาช้านาน อีกทั้งมีความแข็งแกร่งทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการพัฒนาประเทศที่จะมุ่งไป ควรจะอยู่บนความเป็นจริงด้านเกษตรกรรม จะเป็นเกษตรกรรมแบบพอมีพอกิน หรือจะเป็นเกษตรกรรมเชิงพานิชย์ก็ได้ และพัฒนาไปสู่อุตสาหรรกรรมการแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ คำว่า น้ำมันบนดิน ของท่านเจ้าสัวธานินทร์ฯ ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมหาศาลในการพัฒนาพลังงานทดแทน ในตอนแรกอาจจะพัฒนาให้พอมีพอใช้ในประเทศก่อนเพื่อเป็นการลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ และเมื่อส่งเสริมนโยบายด้านการพัฒนาเทศโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนและการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อมีความสามารถเพียงพอจึงค่อยส่งออกเพื่อเป็นรายได้ของประเทศอีกทางหนึ่งก็เป็นส่งที่ดีอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่ว่าประเทศไทยจะจัดการเรื่องดังกล่าวได้อย่างสมดุลย์หรือเปล่า

3. 尊重知识,尊重人才

(จุนจ้งจือซือ, จุนจ้งเหรินไฉ) “ เคารพความรู้ เคารพความสามารถของบุคคล ”

ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศชาติเลยก็ว่าได้ ทรัพยากรใดใดนี้โลกนี้ที่มีค่าที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างมากมาย เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศสิงค์โปร์ ไต้หวัน อิสราเอล และฮ่องกง เป็นต้น ทรัพยากรมนุยย์ของประเทศไทยยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก และต้องวางแผนการพัฒนาให้ถูกหลักการด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านกฎหมาย และด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ล้วนแล้วแต่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีนคือ การมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เร็วเกินไปจนลดทอนด้านจริยธรรมและคุณธรรม ทำให้กลายเป็นปัญหาของประเทศจีนในปัจจุบัน อย่างเช่น เรื่องคุณภาพของสินค้า และความปลอดภัยด้านอาหารที่ส่งออกไปต่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและชนบท เป็นต้น ในมุมมองของหลักการนี้ที่มีต่อประเทศไทยจึงควร พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยควบคู่ไปกับคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม อย่างเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

4. 我是中国人民的儿子

(หว่อซื่อจงกั๋วเหรินหมินเตอเออร์จื่อ) “ ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน ”

“ ข้าพเจ้าภูมิใจในฐานะชาวจีน ที่เป็นประชากรคนหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน และมีความรักอันลึกซึ้งให้กับมวลชนและมาตุภูมิ” เติ้งเสี่ยวผิง เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง <รวมรวบผลงานวรรณกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง> ซึ่งออกโดยสำนักพิมพ์ Pergamon ของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981 นี่คือความในใจของวีรบุรุษผู้เติบโตภายใต้การกล่อมเกลาด้วยจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมจีน แสดงออกซึ่งความรู้สึกและจิตสำนึกรักชาติ ดังคำกล่าวกินใจของเติ้งที่ว่า “การบรรลุความเป็นจีนเดียว คือความปรารถนาของชนทั้งชาติ แม้ผ่านไป 100 ปียังไม่สำเร็จ จะใช้เวลา 1,000 ปีก็ไม่สายที่จะรวมกันเป็นหนึ่ง

ผมตัดข้อความข้างต้นมาจากต้นฉบับที่อ่านมาก่อนหน้านี้ ความเป็นคนไทยต้องตระหนักรู้อยู่ในสายเลือด ความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยต้องอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน แม้ประเทศไทยจะไม่ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนเหมือนอย่างประเทศจีน แต่ในสังคมไทยทุกวันนี้ก็มีความแตกแยกอยู่บ้างแล้ว ดังจะเห็นจากการชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าจะใช้สัญลักษณ์ สีเหลือง หรือ สีแดง ก็ตามแต่ จงตระหนักรู้ไว้เถิดว่า พวกเราทุกคนเป็นลูกหลานชนชาติไทยด้วยกันทั้งนั้น มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จงรู้รักสามัคคีกันไว้เถิด นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยหลักการข้อนี้ ที่พวกเราทุกคนตระหนักว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกเป็นหลานของชนชาติไทยคนหนึ่ง พวกเราจะสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ไปได้อย่างแน่นอน

ดังเราจะเห็นว่า คมความคิดของท่านผู้นำเติ้งเสียวผิงนั้นเป็นสากลแห่งสัจธรรม หากศึกษาจนเข้าใจอย่างลึกซื้ง ประยุกติ์ใช้อย่างเหมาะสมตามกาลเวลา และสถานที่แล้ว จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดียิ่ง.........สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น: