บทความนี้คัดลอกมาจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คอลัมม์ปฎิรูปประเทศไทยเพื่อสุขภาวะคนไทย ด้วยคิดว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านทุกท่าน นพ.ไกรสิทธิ์ นฤขัตพิชัย จิตแพทย์โรงพยาบาลมนารมย์ ระบุว่า มีการศึกษาจำนวนมากบ่งบอกว่าผู้คนในประเทศอุตสาหกรรมมีความเจริญทางเทคโนโลยีมีดัชนีความสุขต่ำกว่าผู้คนในประเทศที่ไม่ได้มีการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีมากนัก เช่น ผู้คนในประเทศภูฎานมีดัชนีความสุขสูงกว่าประเทศสหรัฐอเมริกาหรือญี่ปุ่นหลายเท่าและในประเทศญี่ปุ่นมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่ในขณะที่ประเทศภูฎาน แม้จะไม่เจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ประชาชนกลับมีความสุข คนในครอบครับ ในชุมชนมีเวลาให้กัน มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน มีรอยยิ้มให้กัน ถึงแม้ จีดีพี ของประทเศจะต่ำ แต่ GNP (Gross National Happiness) กลับมีสูงมาก
สาเหตุที่คนเราไม่มีความสุขเกิดความทุกข์อยู่ตลอดเวลาเป็นเพราะมนุษย์มีการแข่งขันกันตลอดชีวิต ไม่ว่าจะตั้งแต่ก่อนเกิดจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ขนาดการตั้งครรภ์ แม่ก็ต้องแย่งคิวฝากท้องกับหมอที่มีชื่อเสียง ต้องรีบจองคิวเนอร์สเซอรี่หรือโรงเรียนอนุบาลชื่อดังตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เด็กสมัยนี้จบจากอนุบาลจะเข้าประถม 1 ก็ต้องเริ่มมีการกวดวิชาสอบเข้ากันแล้ว ไม่ค่อยมีเวลาวิ่งเล่น สนุกสนานเหมือนเด็กยุคก่อนๆ ยิ่งโดยเฉพาะการสอบเข้ามหาวิทยาลัย การแข่งขันยิ่งรุนแรง เรียนกวดวิชาเตรียมสอบล่วงหน้ากันเป็นปีๆ จบออกมาก็ต้องแย่งงานดีๆ กันทำอีก
นอกจากนั้นยังต้องแข่งขันเปรียบเทียบกับเพื่อนรุ่นเดียวกันว่าใครจะประสบความสำเร็จในชีวิตมากกว่า เร็วกว่า ใครขับรถแพง บ้านหลังใหญ่ หรูกว่า ลูกใครเรียนโรงเรียนดัง มีชื่อเสียง เรียนเก่งประสบความสำเร็จมากกว่ากัน การเปรียบเทียบแข่งขั้นทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่มากเกินความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่เป็นการตอบสนองทางด้านจิตใจมากกว่า เพื่อให้ตนเองมั่นใจว่าชีวิตฉันมั่นคงกว่า ปลอดภัยกว่า ประสบความสำเร็จมากกว่า ฉันเก่งกว่าเพื่อนในรุ่นเดียวกัน ฉันใช้ได้ ฉันชนะ ฉันเหนือกว่าคนอื่นๆ
ความจริงชีวิตคนเรามีสิ่งที่จำเป็นพื้นฐานไม่มากกว่าปัจจัยสี่เท่าใดนัก แต่สิ่งที่คนเราต้องการในชีวิตนั้นไม่มีที่สิ้นสุดและเหตุผลก็คือเป็นไปเพื่อตอบสนองความสะดวกสบาย ความสนุกสนานและเสริมความมั่นใจในเรื่องของภาพลักษณ์ หน้าตา ศักดิ์ศรี เกียรติยศ ชื่อเสียง อำนาจ ซึ่งคนจำนวนมากยอมทุ่มเทชีวิตเพื่อให้ได้สิ่งเหล่านี้มาจนกระทั่งลืมไปว่า เป้าหมายของชีวิตคืออะไร ชีวิตขาดสมดุล ครอบครัวล้มเหลว สุขภาพทรุดโทรมหรือแม้แต่สังคมและสภาพแวดล้อมก็เสื่อมถอยเพราะผู้คนมุ่งประโยชน์ส่วนตน
คนจำนวนมากที่มีทรัพย์สินเงินทองมากมายแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความสุขเพราะครอบครัวล้มเหลว ความสัมพันธ์ในบ้านมีปัญหา สามี ภรรยา พ่อ แม่ ลูก เข้ากันไม่ได้ ในบ้านมีแต่ความร้อนรุ่มหาความสงบสุขไม่ได้ บางรายถึงมีเงินทองมากมายก็ยังไม่มีความสุข เพราะเฝ้ามองเปรียบเทียบกับเพื่อนที่รวยกว่า ต้องมีมากกว่าเขาถึงจะรู้สึกมีความสุข รู้สึกมั่นใจ รู้สึกว่าเหนือกว่า หรือบางคนก็ไม่มีความสุขเพราะต้องมาคอยระแวดระวังว่าจะมีคนมาโกง มาปล้น มาขโมย มายักยอกทรัพย์สินไป ต้องคอยคิดหาวิธีป้องกันและตรวจสอบอยู่ตลอดเวลา
คนเราไม่มีความสุขต้องดิ้นรนแข่งขัน เปรียบเทียบกับคนอื่นก็เพราะรู้สึกไม่มั่นใจว่าตัวเองมีมากพอ ดีพอ ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ลึกอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก การปรับเปลี่ยนแก้ไข ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ตราบใดที่ยังมีความรู้สึกเช่นนี้ก็ยังคงมีความรู้สึกว่าตัวเองขาดอยู่ ยังไม่รวย (ทั้งที่มีทรัพย์สินมากมาย)ยังไม่ปลอดภัย คนเหล่านี้มีความรู้สึกไม่มั่นคงจากภายในจิตใจแต่จะหาวิธีแก้ไขให้เกิดความมั่นคงโดยอาศัยจากปัจจัยภายนอก ตั้งแต่ทรัพย์สิน เงินทอง ความสำเร็จ ชื่อเสียง การยอมรับจากบุคคลอื่น ซึ่งปัจจัยภายนอกนี้เป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน อยู่นอกเหนือการควบคุมของแต่ละคน ดังนั้นถ้าการจะมีความสุขได้โดยต้องอาศัยสิ่งภายนอกเหล่านี้ก็ต้องใช้กำลังอย่างมากในการพยายามที่จะควบคุมสิ่งเหล่านี้ให้เป็นไปตามความต้องการของตนเองให้ได้ ซึ่งมีโอกาสผิดหวัง ล้มเหลวสุงมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอนควบคุมไม่ได้
สำหรับวิธีการสร้างสุขอย่างยั่งยืนเพื่อให้สามารถอยู่ท่ามกลางสังคมที่มีแต่การแข่งขันกันนั้น สามารถปฏิบัติเองได้ 5 ข้อ ดังนี้
1. ปรับความคิดพยายามทำให้ตนเองรู้สึกว่าในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบทุกคน แต่ละคนก็มีทั้งของดีและข้อเสีย ตัวเราเองก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียเช่นเดียวกัน
2. ต้องคิดเสมอว่าตัวเราเองมีคุณค่า มีประโยชน์และต้องพยายามรักษาข้อดี ปรับปรุงข้อเสียของตนเอง พยายามลดจุดอ่อน ข้อบกพร่องและต้องยอมรับตนเองในแบบที่ตนเองเป็น
3. อย่าวิ่งหนีปัญหา และกลบจุดอ่อนปมด้อยตัวเอง อย่าคิดที่จะต้องเอาชนะคนอื่น นำหน้าหรืออยู่เหนือผู้อื่น เพราะจะช่วยทำให้ความคิดที่ต้องการไขว่คว้าหาความมั่นคงจากปัจจัยภายนอกลดลง ความต้องการแก่งแย่งแข่งขันก็จะน้อยลง ทำให้ชีวิตมีความเรียบง่ายขึ้น
4. พยายามมองโลกแง่บวก รู้จักให้อภัยผู้อื่น ช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน ซึ่งข้อนี้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก ต้องอาศัยทั้งความรู้และความเข้าใจ ถึงจะสามารถปรับตัวและอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมแห่งการแข่งขันกันได้
5. ต้องหมั่นฝึกฝนปฎิบัติทบทวน เพื่อเตือนสติตนเองว่าคนเราก็มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งปัจจัยภายนอก ซึ่งต้องอาศัยความอดทนและความมุ่งมั่นอย่างสูงจึงจะสำเร็จ ถ้าทุกคนหันมาให้ความสนใจกับแนวทางนี้ ตั้งสติและทบทวนปฎิบัติได้ เชื่อว่าโลกใบนี้ก็จะกลับมาน่าอยู่เหมือนเดิมได้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น