กระแสโลกในปัจจุบันนี้ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาและรวดเร็ว ทั้งที่เป็นด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านการเมือง หรือแม้กระทั่งด้านจริยธรรมและคุณธรรมของผู้คนที่รวมกันเป็นหมู่เหล่า หรือรวมกันเป็นรัฐหรือประเทศชาติ การถ่ายทอดและเปลี่ยนถ่ายทางความคิดและพฤติกรรมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในบางเรื่องก็เข้ากันได้กับผู้คนในสังคม และในบางเรื่องก็ขัดแย้งกับผู้คนในสังคม บางคนก็เลือกที่จะยอมรับในบางเรื่อง และบางคนก็เลือกที่จะไม่ยอมรับในบางเรื่องจนเกิดการแบ่งแยกเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นเหล่าตามความคิดแห่งตน ตามอัตตาแห่งตน ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสได้เรียกว่า "ตัวกู ของกู" เพื่อที่จะละความเป็นตัว เป็นตน ความยึดมั่นถือมั่นลงเสียบ้าง มนุษยชาติจึงสมควรที่จะได้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ "พระโพธิสัตว์"ในทางพระพุทธศาสนาดูบ้าง ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสอธิบายไว้ว่า พระโพธิสัตว์นั้น เป็นได้ทั้งบรรพชิตและฆราวาส แต่สวนใหญ่เป็นฆารวาสตามความมุ่งหมาย พระโพธิสัตว์แบ่งเป็น 3 จำพวก ได้แก่
พวกแรก ฝ่ายเถรวาท หมายถึง ผู้ที่พยายามจะเป็นพระพุทธเจ้า เช่นในชาดกกว่า 500 เรื่อง เป็นต้น
พวกที่สอง มหายานบัญญัติ พระโพธิสัตว์คือผู้สนองพระพุทธโองการ มีอยู่หลายองค์ เช่น พระอวโลกิเตศวร เป็นพระโพธิสัตว์ประจำองค์พระอมิตภะพุทธเจ้า
พวกที่สาม ของมหายาน ใครก็ได้ที่ถือสมาทานศีลโพธิสัตว์ คือ จะต้องช่วยมนุษย์คนสุดท้าย ก่อนจะเข้านิพพาน
นอกจากนี้พระโพธิสัตว์ยังต้องมีจริยธรรม คุณสมบัติ และมหาปณิธาน ดังต่อไปนี้
จริยธรรม 10 ประการของพระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า ร่างกายจะไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ
พระโพธิสัตว์ ครองชีพโดยไม่ปรารถนาว่าจะไม่มีภัยอันตราย
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีอุปสรรคในการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาเลยว่า จะไม่มีมารขัดขวางการปฏิบัติภารกิจ
พระโพธิสัตว์ ถือว่าทำงานให้นานที่สุด โดยไม่ปรารถนาจะให้สำเร็จผลเร็ว
พระโพธิสัตว์ คบเพื่อน โดยไม่ปรารถนาจะได้รับผลประโยชน์จากเพื่อน
พระโพธิสัตว์ ไม่ปรารถนาว่า จะให้คนอื่นต้องตามใจตนเองเสมอไปทุกอย่าง
พระโพธิสัตว์ ทำความดีกับคนอื่น โดยไม่ปรารถนาสิ่งตอบแทน
พระโพธิสัตว์ เห็นลาภแล้ว ไม่ปรารถนาว่าจะได้รับ
พระโพธิสัตว์ เมื่อถูกใส่ร้ายป้ายสี ติเตียนนินทาแล้ว ไม่ปรารถนาที่จะตอบโต้
คุณสมบัติของพระโพธิสัตว์มีอยู่ 3 ข้อใหญ่
มหาปรัชญาหรือปัญญาอันยิ่งใหญ่ หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีปัญญาเห็นแจ้งในสัจธรรม ไม่ตกเป็นทาสของกิเลส
มหากรุณา หมายความว่าจะต้องเป็นผู้มีจิตกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลายอย่างปราศจากขอบเขต พร้อมที่จะสละตนเองเพื่อช่วยสัตว์ให้พ้นทุกข์
มหาอุปาย หมายความว่าพระโพธิสัตว์จะต้องมีวิธีการชาญฉลาดในการแนะนำ อบรมสั่งสอนผู้อื่นให้เข้าถึงสัจธรรม
คุณสมบัติทั้งสามข้อนี้ เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ข้อแรกเป็นการบำเพ็ญประโยชน์ตนให้ถึงพร้อม ส่วนข้อหลัง 2 ข้อเป็นการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อผู้อื่น
มหาปณิธาน 4
เราจะละกิเลสให้หมด
เราจะศึกษาสัจธรรมให้จบ
เราจะช่วยโปรดสัตว์ทั้งหลายให้สิ้น
เราจะบรรลุพระพุทธภูมิอันประเสริฐสุด
ในยามที่ประเทศชาติเกิดความแบ่งแยกทางความคิดดังเช่นทุกวันนี้ หากปวงชนทั้งหลายได้ตรึกตรองถึงอุดมคติของพระโพธิสัตว์ ในพระพุทธศาสนาแล้ว และมีปณิธานที่จะ "...ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น...และช่วยเหลือผู้อื่น" แล้วละก็ ความสงบสุข ความร่มเย็น ก็จะบังเกิดขึ้นแล.....สวัสดี
วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2551
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น