วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

หลักการเลือกใช้คน

จากหนังสือเรื่อง วาทะฮ่องเต้ ชุด คมปัญญาจักรพรรดิเฉียนหลง เรียบเรียงโดย อดลุย์ รัตนมั่นเกษม ได้กล่าวถึงคมความคิดหลักการเลือกใช้คนของจักรพรรดิเฉียนหลง ไว้ดังนี้
จักรพรรดิเฉียนหลง "ขงจื๊อบอกเรื่องที่จะเลือกใช้คนอย่างไรแก่หลู่อายกงเจ้าผู้ครองแคว้นหลู่ว่า จงอย่าใช้คนที่มีจิตละโมบ คนที่ชอบพูดจาเหลวไหล และคนที่ทำตัวเหลวไหล และยังบอกต่อไปว่า คนเราต้องซื่อสัตย์ก่อนเป็นเบื้องต้น แล้วจึงค่อยมาถึงเรื่องสติปัญญา สติปัญญาในที่นี้หมายถึงความสามารถ ความซื่อสัตย์หมายถึงคุณธรรมความประพฤติ คนในโลกนี้ไหนเลยจะเพียบพร้อมทั้งคุณธรรมและความสามารถกันทุกคนเล่า คนที่เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมและความสามารถย่อมเป็นดีเลิศแน่ แต่ถ้าไม่ได้เพียบพร้อมทั้งคุณธรรมและความสามารถแล้ว บางคนมีความสามารถเด่นกว่าคุณธรรม บางคนก็มีคุณธรรมเด่นกว่าความสามารถ ฉันเองยอมเลือกคนที่มีคุณธรรมเด่นกว่าความสามารถ และนี่ก็เป็นคำสอนของขงจื๊อด้วย"

วันอาทิตย์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2554

ปรัชญาชีวิตจากช็อกโกแลตร้อน

เรื่องเล่าจากนิตยาสาร HEALTH CUISINE ฉบับเดือนพฤษภาคม 2009 เรื่องเกี่ยวกับปรัชญาชีวิตจากช็อกโกแลตร้อน เป็นดังนี้
วันหนึ่งเหล่านักธุรกิจเลือดใหม่มารวมตัวกันที่บ้านของศาสตราจารย์เกษียณอายุ ขณะที่พวกเขากำลังสนทนากันถึงความเครียดในชีวิตและงาน ศาสตราจารย์ก็เดินเข้าครัวไปแล้วกลับออกมาพร้อมกับเหยือกช็อกโกแลตร้อนและถาดที่มีแก้วหลายแบบ ทั้ง เซรามิก คริสตัลเนื้องดี และแก้ธรรมดาๆ แล้วกล่าวกับพวกเขาว่า "ช็อกโกแลตร้อนๆ ช่วยคุณได้น่ะ"
เมื่อทุกคนมีแก้ช็อกโกแลตหอมกรุ่นอยู่ในมือแล้ว ผู้อาวุโสก็พูดขึ้นว่า "ดูสิ มีแต่แก้วดีๆ เท่านั้นที่ถูกเลือก ทั้งที่ความจริงเราต้องการแก้วเพื่อใส่ช็อกโกแลต ดังนั้นมันควรจะเป็นแก้วอะไรก็ได้ แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราจะต้องเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวเอง และนั่นก็คือสาเหตุที่ทำให้พวกเธอเครียด "หากเปรียบเทียบชีวิตเป็นช็อกโกแลตแสนอร่อย งาน เงิน เกียรติยศ และชื่อเสียงก็คือแก้ว ซื่งคอยควบคุมและเป็นปัจจัยให้ชีวิต แต่ไม่ใช่สิ่งที่จะนิยามหรือเปลี่ยนคุณค่าของชีวิต ดังนั้นถ้าเราเอาใจไปใส่ไว้กับแก้วมากเกินไป นั่นอาจทำให้เราหลงลืมรสชาติของช็อกโกแลตหรือการใช้ชีวิตอย่างที่ควรจะเป็นไปได้
"ลองทำชีวิตให้เป็นเรื่องง่าย กล่าวแต่ถ้อยคำที่ดีงาม และมีเมตตาต่อกัน เพราะความสุขที่สุดของมนุษย์นั้นไม่ได้อยู่ที่การมีสิ่งที่ดีที่สุด แต่อยู่ที่การทำทุกสิ่งให้ดีที่สุดต่างหากล่ะ"

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

หยั่งรู้จิตมนุษย์

ในหนังสือ ปรัฃญานิพนธ์ขงเบ้ง ของเธียรชัย เอี่ยมวรเมธ (2516)ได้อธิบายไว้ว่า ชงเบ้งแบ่งวิธีหยั่งรู้จิตมนุษย์ไว้เป็น 7 ข้อ ดังนี้
1. หาประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาการเมืองมาถามเขา เพื่อสังเกตว่า เขามีทัศนะหรือความมุ่งมาดปรารถนาประการใด
2. หาปัญหาต่างๆ มาซักไซ้ไล่เลียงว่าเขาจะตอบโต้ และใช้เชาวน์แก้ปัญหาได้อย่างไร
3. ปรึกษาแผนการต่างๆ กับเขา ทั้งนี้จะได้พิจารณาว่าเขามีภูมิความรู้อย่างไร
4. มอบหมายงานที่ลำบาก และมีอันตรายให้เขาลองทำดูทั้งนี้จะได้พิจารณาว่า เขามีความกล้าหาญและอดทนหรือไม่
5. หาเหล้ามาเลี้ยงให้เมา ทั้งนี้จะได้พิจารณาว่า เขามีอุปนิสัยอย่างไร
6. หาเหยื่อมาล่อใจ ทั้งนี้จะได้พิจารณาว่า เขาเป็นคนซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่
7. มอบหมายงานให้เขาทำ โดยกำหนดเวลาให้แน่นอน ทั้งนี้จะได้พิจารณาว่า เขามีสัจจะรักษาคำพูด สามารถทำงานให้สำเร็จลุล่วงตามกำหนดเวลาหรือไม่