คอลัม ชีวิตและสุขภาพ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ได้เขียนถึง การทำงานให้เป็นสุข ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือการที่จะทำงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ควรจะต้องประกอบด้วยอุปนิสัยปัจจัยต่างๆ ดังนี้
1. ความขยัน เป็นพลังขับเคลื่อนและปัจจัยที่จะทำให้ผลงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องและเหมาะสมกับวัยหรือสภาพร่างกาย ไม่ควรขยันหรือหักโหมมากจนมีผลกระทบต่อสภาพร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม หรือสิ่งแวดล้อมทั้งของตนและผู้เกี่ยวข้อง จึงจะเป็นความขยันที่มีประโยชน์และไม่เกิดโทษในภายหลัง และความขยันที่ดีจะต้องมีความเหมาะสมกับเวลา สถานที่ หน้าที่หลัก หน้าที่รอง หรืออื่นๆ
2. ความตั้งใจ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพและประสิทธิภาพของงาน ซึ่งเริ่มจากการมีความตั้งใจศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงหลักการ รายละเอียด วิธีการ เหตุผล ความเหมาะสม หรือเคล็ดลับ ตลอดจนการพยายามฝึกฝนจนเกิดทักษะ ความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับงานที่ทำ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานได้เป็นอย่างดี
3. ความโปร่งใส คือการที่สามารถรับรู้ เข้าถึง ตรวจสอบหรือทบทวนข้อมูลในหน่วยงานได้อย่างสะดวกและถูกต้อง เป็นหัวใจของความซื่อสัตย์และสุจริตของการทำงานร่วมกัน ที่จะต้องให้ความสำคัญทุกระดับทั้งที่เป็นผู้บริหาร ปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีผู้รับผิดชอบรวมกันหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความสบายใจ ไว้วางใจ ไม่หวาดระแวงหรือเกิดความเครียดระหว่างผู้ร่วมงาน
4. ความยุติธรรม ในการทำงานความยุติธรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงของระบบงาน และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความสุขจากการทำงาน กล่าวคือหมายถึงความเหมาะสมของผลงานที่ได้ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณกับผลตอบแทนจากการทำงานนั้น ซึ่งมีความแตกต่างกันตามลักษณะของงานประเภทต่างๆ ที่ถูกกำหนดโดยตำแหน่ง หน้าที่ บทบาทหรือความรับผิดชอบ ตลอดจนความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ประสบการณ์ สถานที่และเวลาทำงาน และอาจเกี่ยวข้องกับความกันดาร เสี่ยงภัย เหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย หรือต้องใช้ความพยายาม ความระมัดระวังหรือความอดทนในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละสถานที่ทำงาน
5. ความไม่ประมาท เป็นหลักประกันความสำเร็จของงานและป้องกันอันตรายหรือความเสี่ยงภัยจากการทำงาน ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงาน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ทั้งก่อน ขณะ และหลังการปฏิบัติงาน โดยจะต้องเตรียมความพร้อมต่างๆ ก่อนเริ่มปฏิบัติงานเพื่อความราบรื่นของระบบงานและปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ มีสติ และระมัดระวัง เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุขณะทำงาน และตรวจสอบคุณภาพหรือความเรียบร้อยของผลงานเพื่อป้องกันความผิดพลาดและรักษามาตรฐานของผลงาน
6. การพัฒนา หมั่นพัฒนางานด้วยการเปิดรับ ค้นคว้า สำรวจ ติดตาม วิเคราะห์ และเพิ่มเติม ความรู้ ข้อมูล แนวคิด มุมมอง วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้ได้คุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น