วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Sustainable Leadership...ภาวะผู้นำที่ยั่งยืน

คอลัมป์ Leader a La Carte เขียนโดย รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ได้กล่าวอ้างถึง Professor Andy Hargreaves แห่ง Boston Collage ซึ่งเป็นผู้เสนอแนวคิดภาวะผู้นำที่ยั่งยืน (ค.ศ.2000) ว่าประกอบด้วยหลักคิด 7 ประการ คือ

1.) ความลึกของเนื้อหาและคุณค่า (Depth) ผู้นำที่ยั่งยืนย่อมพัฒนาเนื้อหาหรือคุณค่าที่มีความยั่งยืนในตัวของมันเอง เช่น ผู้นำในวงการศึกษาย่อมพยายามพัฒนาองค์ความรู้ที่มีคุณค่า ช่วยแก้ปัญหาในสังคม หรือผู้บริหารองค์กรย่อมพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไม่สิ้นสุดของพนักงานเพื่อที่พนักงานจะได้สร้างองค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนผลิตภัณฑ์และบริการให้ดียิ่งขึ้น เป็นต้น

2.) การยืนหยัดอยู่ได้ (Endurance) ผู้นำที่ยั่งยืนจะสร้างและพัฒนาผู้สืบทอดตำแหน่งผู้นำต่อจากตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นี้เป็นภารกิจที่ท้าทายผู้นำทุกคน เพราะผู้นำต้องลดความเห็นแก่ตัวในการยึดติดกับตำแหน่งและมีวิสัยทัศน์ที่คำนึงถึงอนาคตของส่วนรวมมากกว่าความต้องการของตนเอง เนื่องจากองค์กรจำเป็นต้องมีผุ้นำคนต่อไปที่สามารถยิ่งๆ ขึ้นไป ถ้าทำเช่นนี้ได้ภาวะผู้นำที่มีประสิทธิภาพก็จะได้รับการสืบทอดต่อไปไม่สิ้นสุด

3.) ความกว้าง (Breadth) ผู้นำที่ยั่งยืนจะขยายขอบเขตการทำงานให้กว้างขึ้น เช่น พัฒนาภาวะผู้นำและถ่ายทอดกลยุทธ์การเป็นผู้นำให้พนักงานหลายคนหลายระดับชั้นได้พัฒนาภาวะผู้นำด้วย

4.) ความยุติธรรม (Justice) ผู้นำย่อมใส่ใจเรียกร้องและปฏิบัติงานเพื่อส่งเสริมความยุติธรรมของสังคม

5.) ความหลากหลาย (Diversity) ผู้นำย่อมปลูกฝังและสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความแตกต่างหลากหลายเพื่อกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับมาตรฐานหรือแนวทางปฏิบัติเดิมโดยไม่คิดท้าทายกระบวนการ

6.) การอนุรักษ์ (Conservation) ผู้นำย่อมตระหนักและแยกแยะออกว่าค่านิยมหรือแนวทางปฏิบัติดั้งเดิมอะไรบ้างที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ และอดีตอันใดที่ควรยกเลิกหรือเก้ไขปรับปรุง

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2555

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ

วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2555 ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เมื่อเวลา 10.00 น. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานเปิดการสัมมนาเรื่อง “สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศ” ทั้งนี้ พล.อ.เปรมกล่าวว่า ตนขอชมเชยคณะทำงานการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและสภายุวพุทธิสมาคมแห่งชาติในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เลือกหัวข้อสัมมนาได้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ปัจจุบัน สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นสถาบันหลัก และสำคัญของประเทศเรา คนไทยยึดมั่น ถือมั่น และแน่วแน่ต่อสถาบันทั้งสามมาตั้งแต่โบราณ ทำให้ประเทศอันเป็นที่รักของเราดำรงเอกราชอยู่ได้ตราบทุกวันนี้ คนไทยต่างรักและกลมเกลียวกัน อยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตลอดมา
ปัจจุบันมีองค์กรต่างๆ ชมรมต่างๆ กลุ่มต่างๆ ให้ความสนใจต่อสถาบันทั้งสามมาก และนำไปพูดจาถกแถลงและวิเคราะห์กันในวงกว้าง พูดถึงสถาบันทั้งสามในแง่มุมต่างๆ ตามที่ตนมีความเห็น มีเหตุผลทำนองเดียวกับที่ผู้มีเกียรติกำลังจะทำในวันนี้ โดยความเห็นส่วนตัว ตนสนับสนุนการสัมมนาทุกกลุ่ม ทุกส่วน เพราะตนเห็นว่าการสัมมนามีประโยชน์ และจะจบลงโดยมีข้อสรุป ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ซึ่งจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ แต่การสัมมนาจะได้ประโยชน์มากหรือได้ประโยชน์น้อย ขึ้นอยู่กับหัวข้อการสัมมนา เจตนาของผู้ร่วมสัมมนา ขอบเขตของการสัมนนา เป้าประสงค์ของการสัมมนา และการนำผลของการสัมมนาไปใช้ เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมโดยแท้จริงด้วยความจริงใจ
การนำความสำคัญของสามสถาบันเพื่อใช้เป็นมาตรการในการส่งเสริมความมั่นคงของประเทศนั้นเราจะต้องใคร่ครวญ ไตร่ตรองให้รอบคอบ เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน มีข้อมูลข้อเท็จจริงบนพื้นฐานจริงพวกเราต้องเผชิญกับความเป็นจริง จึงจะสมประโยชน์จริง ชาติ คือ ประชาชนที่เป็นพลเมืองของประเทศ ขณะนี้มีการแบ่งฝ่ายกันเห็นได้อย่างชัดเจน มูลเหตุคืออะไร ก็รู้ๆ กันอยู่ ทำให้มีผลข้างเคียงไปถึงความรักความสามัคคีของคนในชาติ เป็นข้อจำกัดสำคัญต่อความสำเร็จ
ผมมีความเห็นส่วนตัวว่า การที่มีความคิด ความเห็น ความเชื่อแตกต่างกัน ไม่เป็นอุปสรรคของการดำรงความรัก ความสามัคคีของคนไทยแม้แต่น้อย ถ้าคนในชาติมุ่งประสงค์ในสิ่งที่สำคัญที่สุดของประเทศเรา คือ ความสงบสุข ความร่มเย็น ความสันติ และความมั่นคง โดยเที่ยงแท้แน่นอน ความเห็นแตกต่าง ความเชื่อแตกต่างจะไม่เป็นสิ่งกีดกันให้คนไทยรู้รักสามัคคีกัน

ที่มา: www.manager.co.th

วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

องค์ฌานที่ ๑ ถึง ๔

หนังสือเรื่อง หมดสิ้นสงสัย เขียนโดย ครู Sup'k ได้อธิบายว่า ฌาน หรือ อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิอย่างเข้มข้น นั้นประกอบด้วย องค์ฌานที่ ๑ - ๔ ที่ปรากฏทางใจ อธิบายตามพุทธพจน์ จากพระไตรปิฏกเล่มที่11 [๒๓๒] ฌาน ๔ อย่าง
๑ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
๒ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระรรมวินัยนี้ บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะวิตกวิจารสงบไป ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
๓ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระรรมวินัยนี้ มีอุเบกขา มีสติมีสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
๔ ดูกรผู้มีอายุทั้งหลาย ภิกษุในพระรรมวินัยนี้ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัส โทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ฯ

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2555

มรณัสสติ ธรรมแห่งการระลึกถึงความตาย

หนังสือเรื่อง ฤกษ์งามยามดี เรียบเรียงโดย มงคล ได้เขียนเรื่อง ระลึกถึงความตาย ไว้ดังนี้ สมัยหนึ่ง พระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ ปราสาทสร้างด้วยอิฐใกล้บ้านนาทิกคาม ที่นั้น พระองค์ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
"ภิกษุทั้งหลาย มรณัสสติ อันภิกษุเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ก็มรณัสสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันผ่านไปกลางคืนย่างเข้ามา ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เหตุแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเรา แมลงป่องพึงต่อยเรา หรือตะขาบพึงกัดเรา เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลง อาหารที่เราฉันแล้วไม่พึงย่อย ดีของเราพึงกำเริบ เสมหะของเราพึงกำเริบ หรือลมที่มีพิษเพียงดังศัสตราของเราพึงกำเริบ เราพึงตายเพราะเหตุนั้น อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาเห็นดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศล ที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้กระทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอ
ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังไม่ได้ละ อันจะพึงเป็นอันตราย แก่เราผู้กระทำในกลางคืนยังมีอยู่
ภิกษุนั้น พึงทำฉันนะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียรความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้มีประมาณยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้น เปรียบเสมือนบุคคล ผู้มีผ้าโพกศีรษะถูกไฟไหม้ หรือมีศีรษะถูกไฟไหม้ พึงทำฉันนะ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะ ให้มีประมาณยิ่ง เพื่อดับไฟที่ผ้าโพกศีรษะหรือที่ศีรษะนั้น ฉะนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ก็ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่ ย่อมทราบอย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลที่เรายังละไม่ได้ อันจะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้กระทำกาละในกลางคืนไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปิติและปราโมทย์ตามศึกษาในกุศลธรรมทั้งหลาย ทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่เถิด
ภิกษุทั้งหลาย ก็มรณัสสติ อันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด"

ที่มา : ฤกษ์งามยามดี, มงคล เรียบเรียง, สำนักพิมพ์น้ำฝน, พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๕

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕

                                
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัส ในพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคม ณ สีหบัญชร ความว่า
"คำอวยพรและคำปฏิญาณสัญญา ที่ทุกท่านได้กล่าวนั้น เป็นที่ประทับใจมาก ขอขอบพระทัยและขอบใจท่านทั้งหลาย ตลอดจนประชาชนชาวไทยทุกคน ที่พรั่งพร้อมกันมาด้วยความปรารถนาดีและไมตรีจิต
ความปรารถนาดีและความพร้อมเพรียงกันของทุกท่าน อย่างที่ได้เห็นในวันนี้ ทำให้ข้าพเจ้าปลื้มใจ มีกำลังใจมากขึ้น ด้วยมีความเชื่อเสมอมาว่า ความเมตตาปรารถนาดีต่อกันนี้ เป็นปัจจัยอย่างสำคัญ ที่จะยังความพร้อมเพรียงให้เกิดมีขึ้น ทั้งในหมู่คณะ และในชาติบ้านเมือง และถ้าคนไทยเรายังมีคุณธรรมข้อนี้ประจำอยู่ในจิตใจ ก็มีความหวังได้ว่า บ้านเมืองไทย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด ๆ ก็จะอยู่รอดปลอดภัย และดำรงมั่นคงต่อไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน"
"ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่าน และชาติไทย ให้มีแต่ความผาสุก ร่มเย็นยั่งยืนไป"

หมายเหตุ : ทรง "ขอบพระทัย" พระบรมวงศานุวงศ์ และทรง "ขอบใจ" ข้าราชการและประชาชนทุกหมู่เหล่า

วันพุธที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สุจิณโณวาทะ ตอน ธรรมมา ธรรมเมา

หลวงปู่แหวน สุจิณโณ พระสุปฏิปันโนท่านแสดงพระธรรมเทศนาตอนหนึ่งว่า อดีตเป็นธรรมเมา อนาคตเป็นธรรมเมา จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ปัจจุบัน ละในปัจจุบัน ตัดตัณหา ตัดกิเลส ตัดมานะทิฐิ ตัดความยึดมั่นถือมั่นของตนให้เสร็จลงก็สงบได้
อดีตมันล่วงไปแล้วไม่ต้องคำนึงถึง ถือเอาบุญเอาบาปในปัจจุบัน เราทำบุญทำบาป บุญบาปอันนี้แหละพาหมุนไปในปัจจุบัน อดีตผ่านไปแล้วเป็นมาแล้วอย่าไปคำนึงถึงเอามาเป็นอารมณ์ อดีต อนาคตตัดออกให้หมด "อัตตา หิ อัตตโน นาโถ" ตนแลเป็นที่พึ่งของตนให้ตั้งอยู่ในพระไตรสรณคมณ์ตลอดชีวิต
เอาพุทโธเป็นมรรคเป็นอารมณ์ของใจ มีพุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นอารมณ์ของใจอย่าให้เป็นธรรมเมา เมาคิด เมาอ่าน เมาอดีต เมาอนาคต ใช้การไม่ได้ ตัดอดีต อนาคตลงให้หมด จิตดิ่งอยู่ในปัจจุบัน รู้ในปัจจุบัน ละในปัจจุบัน วางในปัจจุบัน แจ้งอยู่ในปัจจุบัน ตั้งความสัตย์ลงไปว่า เวลานี้เราทำจิตทำใจให้สงบ อย่าไปคิด อดีต อนาคตผ่านไปแล้ว เอาปัจจุบันนี้แหละเป็นที่ตั้ง

วันอาทิตย์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การทำงานให้เป็นสุข

คอลัม ชีวิตและสุขภาพ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ได้เขียนถึง การทำงานให้เป็นสุข ไว้อย่างน่าสนใจ กล่าวคือการที่จะทำงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ควรจะต้องประกอบด้วยอุปนิสัยปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. ความขยัน เป็นพลังขับเคลื่อนและปัจจัยที่จะทำให้ผลงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องและเหมาะสมกับวัยหรือสภาพร่างกาย ไม่ควรขยันหรือหักโหมมากจนมีผลกระทบต่อสภาพร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม หรือสิ่งแวดล้อมทั้งของตนและผู้เกี่ยวข้อง จึงจะเป็นความขยันที่มีประโยชน์และไม่เกิดโทษในภายหลัง และความขยันที่ดีจะต้องมีความเหมาะสมกับเวลา สถานที่ หน้าที่หลัก หน้าที่รอง หรืออื่นๆ

2. ความตั้งใจ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพและประสิทธิภาพของงาน ซึ่งเริ่มจากการมีความตั้งใจศึกษาหาความรู้ และทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงหลักการ รายละเอียด วิธีการ เหตุผล ความเหมาะสม หรือเคล็ดลับ ตลอดจนการพยายามฝึกฝนจนเกิดทักษะ ความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับงานที่ทำ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานได้เป็นอย่างดี

3. ความโปร่งใส คือการที่สามารถรับรู้ เข้าถึง ตรวจสอบหรือทบทวนข้อมูลในหน่วยงานได้อย่างสะดวกและถูกต้อง เป็นหัวใจของความซื่อสัตย์และสุจริตของการทำงานร่วมกัน ที่จะต้องให้ความสำคัญทุกระดับทั้งที่เป็นผู้บริหาร ปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีผู้รับผิดชอบรวมกันหลายฝ่าย เพื่อให้เกิดความสบายใจ ไว้วางใจ ไม่หวาดระแวงหรือเกิดความเครียดระหว่างผู้ร่วมงาน

4. ความยุติธรรม ในการทำงานความยุติธรรมเป็นรากฐานของความมั่นคงของระบบงาน และเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดความสุขจากการทำงาน กล่าวคือหมายถึงความเหมาะสมของผลงานที่ได้ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณกับผลตอบแทนจากการทำงานนั้น ซึ่งมีความแตกต่างกันตามลักษณะของงานประเภทต่างๆ ที่ถูกกำหนดโดยตำแหน่ง หน้าที่ บทบาทหรือความรับผิดชอบ ตลอดจนความรู้ ความสามารถ ความชำนาญ ประสบการณ์ สถานที่และเวลาทำงาน และอาจเกี่ยวข้องกับความกันดาร เสี่ยงภัย เหน็ดเหนื่อย เบื่อหน่าย หรือต้องใช้ความพยายาม ความระมัดระวังหรือความอดทนในการปฏิบัติหน้าที่ที่มีความแตกต่างกันตามบริบทของแต่ละสถานที่ทำงาน

5. ความไม่ประมาท เป็นหลักประกันความสำเร็จของงานและป้องกันอันตรายหรือความเสี่ยงภัยจากการทำงาน ทั้งต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้เกี่ยวข้องและหน่วยงาน ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ทั้งก่อน ขณะ และหลังการปฏิบัติงาน โดยจะต้องเตรียมความพร้อมต่างๆ ก่อนเริ่มปฏิบัติงานเพื่อความราบรื่นของระบบงานและปฏิบัติงานด้วยความตั้งใจ มีสติ และระมัดระวัง เพื่อลดโอกาสเกิดความผิดพลาดหรืออุบัติเหตุขณะทำงาน และตรวจสอบคุณภาพหรือความเรียบร้อยของผลงานเพื่อป้องกันความผิดพลาดและรักษามาตรฐานของผลงาน

6. การพัฒนา หมั่นพัฒนางานด้วยการเปิดรับ ค้นคว้า สำรวจ ติดตาม วิเคราะห์ และเพิ่มเติม ความรู้ ข้อมูล แนวคิด มุมมอง วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้ได้คุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น