วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ท่องไปนมัสการรอยพระพุทธบาท

ผมเขียนบทความเรื่อง ท่องไปนมัสการรอยพระพุทธบาท เนื่องจากผมได้มีโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง บนยอดเขา คิชฌกูฏ จังหวัดจันทรบุรี เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2552 หลังจากได้เห็นพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่เพียรพยายามเดินเท้าขึ้นไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง แล้วทำให้นึกเลื่อมใสในพลังศัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนาของทุกคน ผมจึงเริ่มสนใจและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับรอยพระพุทธบาทว่ามีความเป็นมาอย่างไร จากบทความเรื่อง พระพุทธบาทของไทย ในเว็บไซด์ www.heritage.thaigov.net/religion/prabat/index1.htm ความตอนหนึ่งอธิบายไว้ว่า พระพุทธบาท เป็นบริโภคเจดีย์ ซึ่งเป็นเจดีย์ประเภทหนึ่งในสี่ประเภทของพระพุทธเจดีย์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เช่นเดียวกับพระพุทธธาตุเจดีย์ การนับถือรอยพระพุทธบาทเป็นเจติยสถาน มีมูลเหตุเกิดขึ้นจากสองคติต่างกัน คือ เป็นคติของชาวมัชฌิมประเทศหรือชาวอินเดียในครั้งโบราณอย่างหนึ่ง และเป็นคติของชาวลังกาทวีป คือ ชาวลังกาในปัจจุบันอย่างหนึ่ง สำหรับคติของชาวมัชฌิมประเทศนั้น เดิมถือกันตั้งแต่ครั้งพุทธกาล และก่อนหน้านั้นว่า ไม่ควรสร้างรูปเทวดาหรือมนุษย์ขึ้นไว้บูชา ดังนั้นเจดีย์ที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเมื่อก่อนพุทธศักราช 500 จึงทำแต่สถูปหรือวัตถุต่าง ๆ เป็นเครื่องหมาย สำหรับบูชาแทนองค์พระพุทธเจ้า ซึ่งรอยพระพุทธบาทก็เป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่นิยมทำกันในสมัยนั้น ส่วนคติที่ถือกันในลังกาทวีปนั้น เกิดขึ้นภายหลัง โดยอ้างว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงประทับรอยพระพุทธบาทไว้ให้เป็นที่สักการะบูชา มีอยู่ห้าแห่งด้วยกัน คือที่เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนกูฏ ที่เมืองโยนกบุรี และที่หาดในลำน้ำนัมทานที มีคาถา คำนมัสการ แต่งไว้สำหรับสวดท้ายบทสวดมนต์อย่างเก่า ดังนี้
"สุวณฺณ มาลิเก สุวณฺณ ปัพพเต สุมนกูเฏ โยนกปุเร นมฺมทาย นทิยา ปัญฺจปทวรํ อหํ วนฺทามิ ทูรโต"

จากพระคาถาบาลีทำให้ทราบว่า รอยพระพุทธบาท 5 แห่งดังกล่าว ปัจจุบันเชื่อว่ามีอยู่จริงดังนี้คือ รอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณมาลิกและเขาสุมนกูฏ ประดิษฐานอยู่ที่ประเทศศรีลังกา รอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ เขาสุวรรณบรรพต คือรอยพระพุทธบาทสระบุรี ในประเทศไทย รอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ เมืองโยนกบุรีเชื่อว่าคือรอยพระพุทธบาทสี่รอย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และรอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ หาดในลำน้ำนัมทานที ปัจจุบันยังหาไม่พบโดยมีเรื่องเล่าไว้ใน "ปุณโณวาทสูตร" ว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ"นัมมทานที" อันเป็นที่อยู่ของพระยานาค และพวกพระยานาคได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จลงไปยังเมืองนาคใต้บาดาล และทำการถวายสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนจะเสด็จกลับพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้พระยานาคฟัง พอจบธรรมเทศนาแล้ว พระยานาคได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทเอาไว้ ณ ริมฝังแม่น้ำ "นัมมทานที" เพื่อให้พวกนาค, คนธรรม์, ครุฑ, ตลอดจนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้พากันสักการะบูชาสืบมา

สำหรับบทความนี้ผมขอนำเสนอสถานที่ที่ประทับรอยพระพุทธบาทที่ผมเคยไปนมัสการมาแล้วและรอยพระพุทธบาทที่ผมตั้งใจว่าจะไปนมัสการในกาลข้างหน้า ดังนี้

รอยพระพุทธบาทแห่งแรกคือ รอยพระพุทธบาทจำลอง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ดังภาพที่ 1

ภาพที่ 1 รอยพระพุทธบาทจำลอง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี

รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่ที่ยอดเขาพระจุลจอมเกล้า บนเกาะสีชัง ตามประวัติกล่าวว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาจากอำเภอพุทธคยา ประเทศอินเดีย นำมาถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
พวกเราเวลาขึ้นเขาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ต้องผ่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ก่อน คิดว่าประมาณครึ่งทางเห็นจะได้ แล้วเดินขึ้นไปอีกจนถึงยอดเขาก็จะพบรอยพระพุทธบาทจำลองนี้ ผมเคยไปนมัสการมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อนๆ ถ้ามีโอกาสก็ขอเชิญครับ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไรเลย จังหวัดชลบุรีนี่เอง
รอยพระพุทธบาทแห่งที่ 2 ที่ผมเคยไปนมัสการมาคือ รอยพระพุทธบาทสระบุรี ตั้งอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ดังภาพที่ 2

ภาพที่ 2 รอยพระพุทธบาทสระบุรี จังหวัดสระบุรี

ตามพระบาลีข้างต้นนี้ ได้อ้างถึงรอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ที่เขาสุวรรณบรรพต ก็คือรอยพระพุทธบาทสระบุรี ค้นพบในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา
เพื่อนๆ ถ้ามีเวลาก็หาโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีแห่งนี้นะครับ รอยพระพุทธบาทสระบุรีนี้ มีความกว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 นิ้ว และลึก 11 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนไหล่เขาสุวรรณบรรพตหรือเขาสัจจะพันธคีรี





รอยพระพุทธบาทแห่งที่ 3 ที่ผมเคยไปนมัสการมาคือ รอยพระพุทธบาทพลวง ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทรบุรี ดังภาพที่ 3

ภาพที่ 3 รอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี

เพื่อนๆ ที่จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ควรจะออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงสักหน่อย เพราะการเดินทางค่อนข้างลำบาก ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีรถรับส่งถึงเชิงเขาแล้วก็ตาม แต่ตามทางที่รถวิ่งก็เป็นทางลาดชัน ขึ้นเขาและลงเขา ดังนั้นสุขภาพร่างกายควรจะพร้อมสักหน่อย และเมื่อถึงเชิงเขาแล้วต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรกว่าๆ เป็นทางขึ้นเขาล้วนๆ แต่ด้วยความศรัทธาผมเห็น คนเถ้าคนแก่หรือแม้แต่คนที่ขาไม่ค่อยดี ก็พยายามเดินไปให้ถึงยอดเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทพลวง ผมก็ขออนุโมทนาสาธุด้วย ที่สำคัญผมได้ยินเรื่องเล่ามาว่าใครก็ตามที่มานมัสการพระพุทธบาทฯ นี้ ขอสิ่งใดแล้วจะประสบความสำเร็จทุกประการ ผมก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จแต่สิ่งที่ดีงามกันทุกคนครับ สำหรับผมขอแค่มีโอกาสมานมัสการรอยพระพุทบาทฯ และระลึกถึงพระพุทธคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพียงพอแล้ว

รอยพระพุทธบาทสี่รอย ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ดังภาพที่ 4

ภาพที่ 4 รอยพระพุทธบาทสี่รอย

ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้ ตามตำนานเล่าว่า รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงลับมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอย ใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตม เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก นอกจากนี้ความเชื่อตามพระบาลีข้างต้น รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ที่ เมื่องโยนกบุรี ก็คือ รอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้
ผมตั้งใจไว้ว่าจะต้องขึ้นไปเชียงใหม่อีกสักครั้งเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้


รอยพระพุทธบาทตากผ้า ตำบลมะกอก อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ดังภาพที่ 5

ภาพที่ 5 รอยพระพุทธบาทตากผ้า

รอยพระพุทธบาทตากผ้า ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธองค์ได้เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยพระบาทลงไว้บนผาลาด แล้วตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
"ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคต มาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะบูชาของมหาชน ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชน ตลอด 5,000 พรรษา"
ผมยังไม่เคยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เลย และผมก็ตั้งใจจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทตากผ้าสักครั้งหนึ่งเหมือนกัน
ถึงแม้ว่าจะมีบางคนอาจสงสัยว่ารอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่ปรากฏอยู่บนโลกนี้จะเป็นจริงดังตำนานต่างๆ ที่กล่าวไว้หรือไม่ ผมคิดว่านั่นไม่สำคัญเลย ตราบใดที่พุทธศาสนิกชนยังมีจิตเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาโดยพึงระลึกเสมอว่า รอยพระพุทธบาทต่างๆ ที่เราได้มีโอกาสไปนมัสการนั้นคือการบูชาและระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระเมตตาคุณ และพระบริสุทธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
สุดท้ายนี้พวกเราชาวพุทธศาสนิกชนต้องไม่ลืมสิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนา ดังความตอนหนึ่งของท่านพุทธทาสภิกขุที่กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องแก่นพระพุทธศาสน์ว่า "สิ่งที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนานั้น อาตมาอยากจะแนะถึงประโยคสั้นๆ ที่มีกล่าวอยู่ว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น" ดังพระบาลีว่า "สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย" ขอทุกคนจง..........สวัสดี

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ชวนไปเที่ยวเขาใหญ่

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์กว้างๆ ให้กับตนเอง แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเที่ยวบ่อยครั้งสักเท่าไร เมื่อมีโอกาสพอเหมาะพอดีแล้วจึงคิดจะไปกางเต้นท์พักแรมที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สักครั้งหนึ่ง เริ่มต้นจากการขับรถออกจากจังหวัดชลบุรี มุ่งตรงไปบางนาเพื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วผ่านไปทางถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สถานที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่พวกเราเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มน้อยอยู่เมื่อคราก่อนโน้น ขับรถผ่านไปเรื่อยๆ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ ป้ายโฆษณาบริดจ์สโตน ที่อำเภาหนองแค จังหวัดสระบุรี เพื่อนัดเจอเพื่อนอีก 3 คนไปด้วยกัน จริงๆ แล้วถ้ามาจากจังหวัดชลบุรีสามารถใช้เส้นทางที่สะดวกกว่านี้ได้คือ มาทางวงแหวนตะวันออกซึ่งจะรวดเร็วกว่า แต่เนื่องจากผมเป็นคนตื่นนอนแต่เช้าจึงไม่อยากรอคอยอยู่ที่ห้องพัก ผมจึงขับรถมาเรื่อยๆ เพื่อฆ่าเวลาจะได้มาถึงจุดนัดพบกันใกล้ๆ เวลาที่นัดหมายไว้ เมื่อมาถึงก็ทักทายกันพอเป็นพิธีพร้อมกับรู้จักเพื่อนใหม่อีก 2 คน แล้วพวกเราก็มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางกัน คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เดี๋ยวก่อน......อื่ออม!!! ลืมอะไรไปหรือเปล่า......กิน.......ใช่ยังไม่ได้กินอะไรเลยต้องกินก่อน ดังนั้นสถานที่แห่งแรกที่เราแวะกินก็คือ ร้านสเต็กแดรี่โฮมฟาร์ม ดังรูปที่ 1 ข้างล่างนี้

ภาพที่ 1 ร้านสเต็กแดรี่โฮมฟาร์ม

ผมเคยฟังมาว่า คนจีนมีคำกล่าวที่ว่า "หมินอี่สือเหว่ยเทียน" ซึ่งแปลว่า เรื่องกินสำคัญเท่าฟ้า พวกผมเองก็เช่นเดียวกันมีความเชื่อว่า เรื่องกินสำคัญที่สุด ดังนั้นร้านสเต็กที่เราจะกินกันจึงต้องเลือกร้านที่ค่อนข้างอร่อยลิ้นสักหน่อย ซึ่งก็ตกลงกันว่าเป็นที่นี่แหล่ะ เมื่อตอนที่ผมมาถึงผมยังแปลกใจอยู่เลยว่า ทำไมคนถึงมากินอาหารที่นี่กันเยอะนัก ลองดูจากภาพจะเห็นว่าคนรอคิวกันแน่นมาก มันอาจเป็นภาพที่การันตีได้ว่า สเต็กที่นี่น่าจะอร่อยจริงๆ ซึ่งเมื่อผมลองกินดูแล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ สำหรับราคาคงจะเป็นรองก็แต่ร้านโชคชัย หน่อยๆ เท่านั้นล่ะครับ ความจริงแล้วตามเส้นทางที่ไปเขาใหญ่นั้นมีร้านสเต็กอยู่เรียงรายกันหลายร้านอยู่เหมือนกันครับ ไล่ไปตั้งแต่ ร้านเทพประทาน ร้านครูต้อ ร้านแดรี่โฮมฟาร์ม และสุดท้ายเป็น ร้านโชคชัย เป็นต้น ดังนั้นใครที่ผ่านไปทางนั้นก็เลือกร้านได้ตามใจชอบเลยน่ะครับ ผมคิดว่าคงจะอร่อยพอๆ กัน ถึงแม้ว่าผมจะได้ลิ้มลองมาทุกๆ ร้านแล้วก็ตาม แต่ว่านานๆ ผมจะได้ไปสักที่ทำให้ผมแยกกันไม่ค่อยออกว่า อร่อยแตกต่างกันอย่างไร เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสแวะไปแถวนั้นก็ลองมาที่ ร้านแดรี่โฮมฟาร์มกันสักครั้งก็ได้ครับ บรรยากาศติดแอร์ พนักงานเสริฟ์เป็นกันเอง และก็อร่อยดีด้วยครับ นอกจากนี้ยังมีร้านให้หาซื้อของฝากกันอยู่ข้างๆ ด้วย ดังจะเห็นในภาพเป็นร้าน แดรี่โฮมฟาร์มชอร์ป สำหรับเลือกซื้อ ขนม นม โยเกิร์ต ผักปลอดสารพิษ และอื่นๆ ก็ลองเลือกซื้อกันตามสบายน่ะครับ สำหรับพวกเราเมื่ออิ่มหมีพลีมันแล้ว พวกเราจะขึ้นเขาใหญ่กัน

พวกเราไปถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประมาณบายสองโมงเห็นจะได้ ก่อนที่จะเข้าไปในอุทยานฯ ก็ต้องจ่ายค่าผ่านทางกันก่อน ผมจำไม่ค่อยได้ว่าคนล่ะเท่าไร แต่น่าจะประมาณ 60 บาทต่อคนครับ และยังมีค่ายานพาหนะอีกต่างหากมั้งครับ แต่ก็ไม่แพงเท่าไร คิดว่าเป็นการช่วยหน่วยราชการเพื่อรักษาป่าไว้ให้ชนรุ่นหลังแล้วกัน ผมขอเล่าเรื่องเกี่ยวอุทยานเขาใหญ่สักเล็กน้อยน่ะครับ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 4 จังหวัด คือ สระบุรี นครนายก นครราชสีมา และปราจีนบุรี มีเนื้อที่ถึง 1 ล้าน 3 แสนกว่าไร่ เขาใหญ่นับเป็นอุทยานแห่งแรกของประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก และเป็นป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นป่าดงดิบชื้น และมีพืชพรรณที่หลากหลายและมีน้ำตกมากกว่า 20 แห่ง เส้นทางเดินป่าบนเขาใหญ่ก็มีถึง 13 เส้นทาง ด้วยกัน แต่ว่าแต่ละเส้นทางก็มีความยากง่าย ระยะทางและเวลาการเดินทางที่ต่างกันด้วย

ภาพที่ 2 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

เมื่อขึ้นไปถึงศูนย์อำนวยการเขาใหญ่ พวกเราคิดว่าถ้าสามารถหาห้องพักของทางราชการได้ก็จะสะดวกสบายไม่น้อยทีเดียว เพราะตามประสาคุณชายอย่างพวกเราแล้วถึงแม้วางแผนไว้ว่าจะกางเต็นท์นอนกันคืนนี้ แต่ถ้ามีที่สบายกว่านั้นทำไมเราจะไม่เลือกล่ะ ก็ในเมื่อ แผนการที่วางไว้กับการกระทำมันมักจะสวนทางกันอยู่แล้วสำหรับพวกเรา แต่โชคอาจไม่เข้าข้างเราเพราะทุกห้องเต็มหมด ดังนั้นเราจึงต้องตัดใจ และกลับมาเดินตามแผนกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมดีใจมากทีเดียว ฮ่า ฮ่า ฮ่า
สำหรับจุดที่กางเต็นท์ได้มีสองจุดบนอุทยาน คือ ที่ลานห้วยลำตะคอง และที่ลานผากล้วยไม้ เดิมทีด้วยความอยากสัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุดพวกเราคิดว่าจะกางเต้นท์มันทั้งสองที่เลย แต่ปัญหาคือเรามาพักกันแค่คืนเดียวแล้วจะกางเต้นท์กันสองที่ในคืนเดียวกันได้อย่างไรกันล่ะ จะย้ายเต้นท์กันตอนกลางคืนก็คงไม่ใช่ที่ ดังนั้นเราจึงเลือกกางเต้นท์กันที่ ลานห้วยลำตะคอง เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์การค้างแรมบอกว่า ที่ลานห้วยลำตะคองบรรยากาศดีกว่า ดังนั้นเราจึงลงหลักปักฐานพักค้างคืนกันที่ ลานห้วยลำตะคอง

ภาพที่ 3 ลานห้วยลำตะคอง

ลานห้วยลำตะคอง เป็นบริเวณลานกว้างๆ ด้านข้างๆ มีห้วยลำตะคองไหลผ่าน สามารถกางเต้นท์ได้หลายร้อยหลังอยู่เหมือนกัน จากภาพที่ 3 จะเห็นว่า น้องๆ หลายคนกำลังช่วยกันกางเต้นท์เพื่อพักกันคืนนี้ ทำให้พวกเราใจชื้นขึ้นหลายเท่า เพราะอย่างไร การได้รับรู้ ได้เห็นว่ามีพวกน้องๆ อยู่ใกล้กับบริเวณที่เราอยู่ก็เป็นสุขใจแล้ว ดังนั้นพวกเราจึงช่วยกันกางเต็นท์ทั้ง 2 หลังซึ่งไม่นานก็เสร็จ อ้อลืมบอกไป ที่ลานห้วยลำตะคองนี้มี อุปกรณ์การพักแรม เช่น เต้นท์ ผ้าห่ม หมอน เตาถ่าน ให้บริการเช่าด้วยน่ะครับ ดังนั้นใครที่ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวก็ไม่ต้องกังวลสามารถเช่าจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ กางเต้นท์กว่าจะเสร็จก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ พวกเราจึงได้พักกันที่ด้านหน้าเต้นท์ของเรากันพอสมควร ผมนอนพักผ่อนอย่างหมดแรง นอนหงายหน้ามองท้องฟ้าอย่างสบายๆ อยู่นานทีเดียว เหมือนกับว่าอยากให้โลกนี้หยุดหมุน อยู่อย่างนี้สักพักใหญ่ๆ เลย ความอ่อนล้าที่มีทั้งกายและใจคงจะได้เวลาพักเสียที่.....พักให้นาน นาน หลับลงตรงนี้ ที่ที่มีแต่ผมกับต้นคูนผลัดใบต้นนี้...........









ภาพที่ 4 ต้นคูนผลัดใบ และเต้นท์ของพวกเรา

ที่ลานห้วยลำตะคองบนเขาใหญ่ตอนกลางวันและกลางคืนอากาศเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมาก ตอนกลางวันจะร้อนๆ พออบอุ่น อบอุ่น แต่พอพลบค่ำและเข้าสู่ราตรีกาลอากาศลดลงต่ำมาก ผมเดาว่าน่ะจะอยู่ที่ประมาณ 10 - 15 องศาเซลเซียส เห็นจะได้ น้ำค้างแรงมาก พวกเรานั่นกินอาหารกันที่หน้าเต้นท์ได้สักพัก ผมก็เปียกไปด้วยน้ำค้างอยู่เนืองๆ จนเหมือนกับแพ้อากาศ จามไปหลายทีอยู่เหมือนกัน กิจกรรมในยามค่ำคืนที่ลานกางเต้นท์แห่งนี้ ก็เงียบสงบ ปนกับความคลื้นเคลง อยู่เหมือนกัน บางคนก็มาเป็นกลุ่มใหญ่ทำอาหารกินกันสนุกสนาน บางกลุ่มก็ร้องเพลง เล่นกีตาร์กัน บางคนมาเป็นคู่ก็เข้านอนเร็วหน่อย ผมก็แปลกใจอยู่ไม่น้อยว่าพวกเขาจะนอนกันแต่หัวค่ำทำไม แต่ก็ไม่คิดจะถามใครออกไปหรอก.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า...อาจพอจะเดาได้ สำหรับพวกเรา ก็นั่งกินเหล้ายาปลาปิ้งกันพอสมควรแบบเงียบๆ ต่างคนก็ต่างเล่าเรื่องประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านพบมาในอดีตให้ฟังกัน ก็สนุกดีเหมือนกันตามประสาคนที่อยากรู้เรื่องชาวบ้านอย่างผม....555 อากาศเย็นลงทุกขณะ ยิ่งมืดยิ่งเย็น ผมเป็นคนแพ้อากาศเย็นอยู่แล้วด้วยทำให้ค่อนข้างทรมานอยู่เหมือนกัน จำได้ว่านอนแล้วตื่นขึ้นมาอยู่หลายหนอยู่เหมือนกันเพราะความหนาว ในใจก็ภาวนาให้ผ่านคืนนี้ไปไวไว

การมาพักแรมครั้งนี้ผมย้ำนักย้ำหนาว่า เราจะมาท่องเทียวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เราจะทิ้งไว้เพียงลมหายใจและร้อยเท้าเหยียบผ่านเท่านั้น และเราจะไม่เอาอะไรกลับไปนอกจากความทรงจำ และภาพถ่าย แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่เป็นอย่างที่คิดน่ะซิ ดูได้จากภาพที่ 4 ครับ เฮ้ย...น่าตกใจเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามในตอนเช้าเราช่วยกันเก็บกวาดจนสถานที่สะอาด มองดูแล้วสะอาดตา

ภาพที่ 5 น้ำตกเหวสุวัต

น้ำตกเหวสุวัต เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พวกเราไปเยือน จำได้ว่าเคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทุกอย่างคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเหมือนเดิม โขดหินเคยวางเรียงตัวอย่างไรก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปน่าจะเป็นวันเวลาและสายน้ำที่ไหลผ่าน ไหลไป ไม่หวนกลับมานั้นเอง บรรยากาศที่นี่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมความงามของน้ำตกเยอะครับ ผมลองใช้มือและเท้าสัมผัสน้ำดูรู้สึกเย็นมากประหนึ่งว่า ความเย็นจากน้ำวิ่งขึ้นมาตามแขนและขาก่อตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งเกาะกุมที่หัวใจของผมก็ไม่ปาน บางครั้งความรู้สึกนี้นี่เองที่บางคนมักพูดจาเสียดสีผมอยู่บ่อยๆ ว่า ผมเป็นคนเย็นชาและหัวใจตายด้าน แต่มันเป็นเพราะอะไรล่ะ เพราะอะไร ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจบางทีผมเคยชินกับความเย็นชาอย่างนี้จนเกาะตัวเป็นหนึ่งเดียวกับผมแล้วกระมัง โขดหินแต่ละก้อนบริเวณนี้ยังคงทนทานต่อแรงกัดเซาะของน้ำได้เป็นอย่างดีและคงอยู่มาถึงวันนี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่า หากจิตใจคนเรามั่นคงดั่งโขดหิน ณ ที่ แห่งนี้ ที่น้ำตกเหวสุวัตนี้ คงจะเป็นการดีไม่น้อยทีเดียว.......




ภาพที่ 6 บรรยากาศยามเช้าที่ลานส่องสัตว์และห้วยลำตะคอง

ขอกลับมาที่ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นที่ลานห้วยลำตะคองอีกครั้งหนึ่งน่ะครับ บรรยากาศยามเช้านั้นเย็นสบาย มีหมอกจางๆ มีกลิ่นไอดิน กลิ่นไอหญ้าที่เปียกน้ำค้างเมื่อคืนนี้ น้ำในห้วยฯ เย็นเฉียบ บางคนก็ตื่นแต่เช้าเพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งพวกเราไม่ได้ไปอาจเป็นเพราะความสบายๆ ของบรรยากาศก็เป็นได้ทำให้พวกเราคิดว่าการนอนอยู่ในเต้นท์เป็นการดีที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ตื่นเช้ากว่าเพื่อนเพื่อซึมซับบรรยากาศธรรมชาติอย่างนี้ ที่หาไม่ได้แล้วในเมืองใหญ่ๆ ผมเดินไปตามทางข้ามห้วยลำตะคองที่มีสะพานที่ปูด้วยไม้และใช้เชือกเส้นใหญ่ๆ โยงข้ามระหว่างสองข้างของลำห้วย ผมคิดว่าน่าจะเรียกว่า สะพานเชือก หรือ สะพานลิง นี่แหล่ะ เมื่อข้ามไปอีกฟากหนึ่งเดินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะถึงลานกว้างๆ ที่ผู้คนใช้เป็นที่เดินเล่น ออกกำลังกาย และส่องสัตว์ แต่ละคนจะมีกล้องประจำตัวเพื่อถ่ายรูป และบางคนก็ส่องดูนก กระรอก กระแต หรือสัตว์ต่างๆ ที่ออกมาหากินยามเช้า ดูได้จากภาพที่ 6 ลานส่องสัตว์และห้วยลำตะคอง

นานๆ ผมถึงจะได้มาสัมผัสธรรมชาติอย่างที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สักครั้งหนึ่งดังนั้นผมจึงพยายามเก็บเกี่ยว จิตวิญญาณ ประสบการณ์ กลิ่นไอของธรรมชาติให้ได้มากที่สุด การมาค้างแรมของผมครั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความล้าทางกายและใจ หลีกหนีจากเรื่องราวมากมายเพื่อมา พักกาย พักใจ ณ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แห่งนี้ ก็นับว่าคุ้มค่า

เพื่อนๆ ทุกคนหากมีโอกาสอย่าลืมมาชื่นชมธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แห่งนี้น่ะครับ ผมขอเป็นคนหนึ่งที่อยากบอกกับทุกท่านว่า "ชวนไปเที่ยวเขาใหญ่" เดินทางโดยสวัสดิภาพ........สวัสดีครับ

วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ...ฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น

ผมและเพื่อนรักคนหนึ่งเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือเหมือนๆ กัน สถานที่ที่พวกเราชอบไปคือร้านขายหนังสือเก่าหรือร้านหนังสือมือสอง หากราคาหนังสือไม่เกินเล่มล่ะ 20 บาท พวกเราก็ไม่เคยเกี่ยงราคาที่จะซื้อหามาเพิ่มพูนความรู้เลย ครั้งนี้ก็เช่นกันบังเอิญผมได้หนังสือที่น่าสนใจมาเล่มหนึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับการฟัง

หากย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่ผมเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยอยู่ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ สิ่งเดียวที่ผมใส่ใจมากที่สุดคือการพูด การอธิบายให้ภาพลักษณ์ปรากฎออกมาน่าเชื่อถือเพราะโดยวิชาชีพของงานด้านที่ปรึกษาฯ คือการแนะนำผู้อื่นให้ทำตาม จนบางครั้งเกิดเป็นอัตตาว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกแต่ฝ่ายเดียวอยู่เสมอ โดยไม่ได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้างเลย หรือฟังแต่ก็มีคำตอบอยู่ในใจแล้ว จึงเข้าทำนองว่า ฟังไปอย่างนั้นแหล่ะ แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไป ประสบการณ์มากขึ้น วัยวุฒิและคุณวุฒิก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกใบนี้มากขึ้น ผมกลับพูดน้อยลง น้อยลงทุกที และฟังมากขึ้น ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ผมจะไม่ได้ทำอาชีพที่ปรึกษาฯ แล้วก็ตาม แต่คุณสมบัติการฟังดังกล่าวก็ติดตัวผมมาและเอื้อประโยชน์ให้กับการทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ในบทความเรื่อง ผู้นำที่ดีที่สุด คือ นักฟังชั้นยอด! เขียนโดยคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย อธิบายไว้ว่านักฟังที่ดีจะเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิผลเพราะว่า

1. เพราะผู้นำเข้าใจผู้คนก่อนที่จะนำเขา
2. การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการฟัง
3. การรับฟังยับยั้งปัญหาไม่ให้ขยายใหญ่โต
4. การรับฟังสร้างความไว้วางใจ
5. การรับฟังช่วยปรับปรุงองค์กร

การฟังอย่างมีประสิทธิภาพนั้นในหนังสือเรื่อง Listening made easy เขียนโดย โรเบิร์ต แอล. มอนต์โกเมอร์รี่ แนะนำหลักการฟังขั้นพื้นฐาน 6 ประการ ดังนี้
1. มองคนพูด (Look at the other person) คือการมองอย่างสบายๆ มองไปที่คนพูด หรือสบตาคนพูดก็ได้ การมองคนพูดเป็นการแสดงถึงความตั้งใจรับฟังสิ่งที่คนพูดต้องการจะถ่ายทอดออกมา
2. ตั้งคำถาม (Ask question) ศิลปะการตั้งคำถามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความกระจางชัดของข่าวสารที่ผู้พูดต้องการจะอธิบายให้ฟัง จะเห็นว่าผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ หมอ ที่ปรึกษา ทนาย จิตแพทย์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ต้องมีความชำนาญในการตั้งคำถามทั้งสิ้นเพื่อที่จะวินิจฉัยให้ถูกต้อง
3. อย่าขัดคอ (Don't interrupt) การขัดคอผู้อื่นเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ และบางทีอาจทำให้เสียการเสียงานก็เป็นได้
4. อย่าเปลี่ยนเรื่อง (Don't change the subjects) การเปลี่ยนเรื่องในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สุภาพเช่นกัน
5. คุมอารมณ์ (Express emotion with control) จงฟังผู้อื่นให้เข้าใจและจบสิ้นก่อนแล้วจึงค่อยประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้ฟังมา การฟังครึ่งๆ กลางๆ หรือฟังแล้วไม่เข้าใจจะทำให้การสนองตอบของเราผิดพลาด หรือเกินกว่าเหตุได้ เข้าตำรา ฟังไม่ได้สับและจับไปกระเดี๊ยด
6. แสดงอาการสนใจ (Responsively listen) จงแสดงออกซึ่งความตั้งใจและความสนใจฟัง

สำหรับการพัฒนาไปสู่การฟังขั้นสุดยอด ผู้ฟังควรจะประยุกติ์ใช้เทคนิคเพิ่มเติม คือ

  • การดูแลรักษาและตรวจหู (Have a hearing check up)
  • ประเมินข้อเท็จจริง (Evaluate the evidence)
  • เดาประเด็นสำคัญ (Anticipate key points)
  • ทบทวนในใจ (Review mentally)

การฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น คือการเปิดใจรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข จิตใจของคนเรานั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์หากเปิดออกแล้วสามารถรองรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างไม่จำกัด หากเปรียบเปรยเป็นหุบเหวก็เป็นหุบเหวที่ไม่มีก้นบึ้งสามารถรองรับน้ำได้อย่างไม่จำกัด ผมเคยดูภาพยนต์เรื่อง โจน ออฟ อาร์ค (Joan of Arc) ความตอนหนึ่งที่ อัศวินโจน กำลังถูกพิพากษาโดยคณะบาทหลวง แล้วมีบาทหลวงคนหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยกล่าวแย้งว่า "คำตัดสินต้องมาหลังการพิจารณา" ข้อความนี้เป็นการสื่อความหมายว่า ให้เปิดใจรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขก่อน แล้วจึงพินิจ วิเคราะห์ เป็นคำตัดสินออกมา

ดังนั้นทักษะการฟังอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมาพร้อมกับการฟังอย่างเข้าใจผู้อื่นด้วยเสมอ การฟังอย่างเข้าใจผู้อื่นคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังให้จบแล้วจึงพิจารณาไตรตรองแล้วจึงสนองตอบ หลายๆ คนอาจต้องสูญเสียเพื่อนที่ดีไปเพียงเพราะการฟังโดยไม่เปิดใจก็เป็นได้ สุดท้ายอย่าลืมว่า ผู้นำที่ดีคือผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ และฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น..........สวัสดี

เอกสารอ้างอิง

  1. ดนัย จันทร์เจ้าฉาย, ผู้นำที่ดีที่สุด คือ ผู้ฟังชั้นยอด!
  2. วีระชัย ตันติวีระวิทยา, ฟังให้เก่งเป็น 2 เท่า, 1981, 1988