วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2552
พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทาน ณ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2552
ขอขอบพระทัย และขอบใจท่านทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง ที่มีไมตรีจิตพรั่งพร้อมกันมาให้พรวันเกิดด้วยถ้อยคำที่เลือกสรรมาจากใจจริงซึ่งปราถนาดี มุ่งหมายให้ข้าพเจ้ามีความสุขความสวัสดีโดยประการต่างๆ ไว้ซึ้งความสุข ความสวัสดีของข้าพเจ้าจะเกิดขึ้นได้ ก็ด้วยบ้านเมืองของเรามีความเจริญ มั่นคงเป็นปกติสุข ความเจริญ มั่นคง ทั้งนั้นจะสำเร็จผลเป็นจริงใดได้ก็ด้วยทุกคน ทุกฝ่ายในชาติ มุ่งที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เต็มกำลัง ด้วยสติรู้ตัว ด้วยปัญญารู้คิด และด้วยความสุจริตจริงใจโดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าส่วนอื่น
จึงขอให้ท่านทั้งหลายในที่นี้ ซึ่งมีตำแหน่งหน้าที่สำคัญอยู่ในสถาบันหลักของประเทศ และชาวไทยทุกคน ทุกหมู่เหล่าทำความเข้าใจในหน้าที่ของตนให้กระจ่างแล้วตั้งจิต ตั้งใจให้เที่ยงตรง หนักแน่นที่จะปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อให้สำเร็จประโยชน์ส่วนรวมอันไพบูลย์ คือ ชาติ บ้านเมืองอันเป็นที่อยู่ ที่ทำกินของเรา มีความเจริญมั่นคงยั่งยืนไป ขออำนาจแห่งคุณพระรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จงคุ้มครองรักษาท่านให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากภัยและอำนวยสุขสิริสวัสดิวัฒนมงคล ให้สำเร็จผลขึ้นแก่กันทั่วหน้ากัน
วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ท่องไปนมัสการรอยพระพุทธบาท
"สุวณฺณ มาลิเก สุวณฺณ ปัพพเต สุมนกูเฏ โยนกปุเร นมฺมทาย นทิยา ปัญฺจปทวรํ อหํ วนฺทามิ ทูรโต"
จากพระคาถาบาลีทำให้ทราบว่า รอยพระพุทธบาท 5 แห่งดังกล่าว ปัจจุบันเชื่อว่ามีอยู่จริงดังนี้คือ รอยพระพุทธบาท ณ เขาสุวรรณมาลิกและเขาสุมนกูฏ ประดิษฐานอยู่ที่ประเทศศรีลังกา รอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ เขาสุวรรณบรรพต คือรอยพระพุทธบาทสระบุรี ในประเทศไทย รอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ เมืองโยนกบุรีเชื่อว่าคือรอยพระพุทธบาทสี่รอย ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย และรอยพระพุทธบาทที่ประทับ ณ หาดในลำน้ำนัมทานที ปัจจุบันยังหาไม่พบโดยมีเรื่องเล่าไว้ใน "ปุณโณวาทสูตร" ว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังฝั่งแม่น้ำ"นัมมทานที" อันเป็นที่อยู่ของพระยานาค และพวกพระยานาคได้อาราธนาพระพุทธเจ้าเสด็จลงไปยังเมืองนาคใต้บาดาล และทำการถวายสักการะบูชาพระพุทธเจ้า ก่อนจะเสด็จกลับพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้พระยานาคฟัง พอจบธรรมเทศนาแล้ว พระยานาคได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าประทับรอยพระบาทเอาไว้ ณ ริมฝังแม่น้ำ "นัมมทานที" เพื่อให้พวกนาค, คนธรรม์, ครุฑ, ตลอดจนเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้พากันสักการะบูชาสืบมา
สำหรับบทความนี้ผมขอนำเสนอสถานที่ที่ประทับรอยพระพุทธบาทที่ผมเคยไปนมัสการมาแล้วและรอยพระพุทธบาทที่ผมตั้งใจว่าจะไปนมัสการในกาลข้างหน้า ดังนี้
รอยพระพุทธบาทแห่งแรกคือ รอยพระพุทธบาทจำลอง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 รอยพระพุทธบาทจำลอง อำเภอเกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี
รอยพระพุทธบาทจำลอง ประดิษฐานอยู่ที่ยอดเขาพระจุลจอมเกล้า บนเกาะสีชัง ตามประวัติกล่าวว่า สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นำมาจากอำเภอพุทธคยา ประเทศอินเดีย นำมาถวายแด่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5
พวกเราเวลาขึ้นเขาไปนมัสการรอยพระพุทธบาทจำลอง ต้องผ่านศาลเจ้าพ่อเขาใหญ่ก่อน คิดว่าประมาณครึ่งทางเห็นจะได้ แล้วเดินขึ้นไปอีกจนถึงยอดเขาก็จะพบรอยพระพุทธบาทจำลองนี้ ผมเคยไปนมัสการมาแล้ว 2 ครั้ง เพื่อนๆ ถ้ามีโอกาสก็ขอเชิญครับ อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ สักเท่าไรเลย จังหวัดชลบุรีนี่เอง
รอยพระพุทธบาทแห่งที่ 2 ที่ผมเคยไปนมัสการมาคือ รอยพระพุทธบาทสระบุรี ตั้งอยู่ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 รอยพระพุทธบาทสระบุรี จังหวัดสระบุรี
ตามพระบาลีข้างต้นนี้ ได้อ้างถึงรอยพระพุทธบาทที่ประทับไว้ที่เขาสุวรรณบรรพต ก็คือรอยพระพุทธบาทสระบุรี ค้นพบในรัชสมัยพระเจ้าทรงธรรม กรุงศรีอยุธยา
เพื่อนๆ ถ้ามีเวลาก็หาโอกาสไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสระบุรีแห่งนี้นะครับ รอยพระพุทธบาทสระบุรีนี้ มีความกว้าง 21 นิ้ว ยาว 60 นิ้ว และลึก 11 นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในมณฑปบนไหล่เขาสุวรรณบรรพตหรือเขาสัจจะพันธคีรี
รอยพระพุทธบาทแห่งที่ 3 ที่ผมเคยไปนมัสการมาคือ รอยพระพุทธบาทพลวง ณ เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทรบุรี ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 รอยพระพุทธบาทพลวง เขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี
เพื่อนๆ ที่จะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทพลวง ควรจะออกกำลังกายให้ร่างกายแข็งแรงสักหน่อย เพราะการเดินทางค่อนข้างลำบาก ถึงแม้ว่าตอนนี้จะมีรถรับส่งถึงเชิงเขาแล้วก็ตาม แต่ตามทางที่รถวิ่งก็เป็นทางลาดชัน ขึ้นเขาและลงเขา ดังนั้นสุขภาพร่างกายควรจะพร้อมสักหน่อย และเมื่อถึงเชิงเขาแล้วต้องเดินขึ้นเขาไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตรกว่าๆ เป็นทางขึ้นเขาล้วนๆ แต่ด้วยความศรัทธาผมเห็น คนเถ้าคนแก่หรือแม้แต่คนที่ขาไม่ค่อยดี ก็พยายามเดินไปให้ถึงยอดเขาที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทพลวง ผมก็ขออนุโมทนาสาธุด้วย ที่สำคัญผมได้ยินเรื่องเล่ามาว่าใครก็ตามที่มานมัสการพระพุทธบาทฯ นี้ ขอสิ่งใดแล้วจะประสบความสำเร็จทุกประการ ผมก็ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จแต่สิ่งที่ดีงามกันทุกคนครับ สำหรับผมขอแค่มีโอกาสมานมัสการรอยพระพุทบาทฯ และระลึกถึงพระพุทธคุณแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เพียงพอแล้ว
รอยพระพุทธบาทสี่รอย ตำบลสะลวง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ดังภาพที่ 4
ภาพที่ 4 รอยพระพุทธบาทสี่รอย
ผมยังไม่มีโอกาสได้ไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้ ตามตำนานเล่าว่า รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่พระองค์ที่ล่วงลับมาแล้วในภัทรกัลป์นี้ คือ รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากกุสันธะ รอยแรกเป็นรอย ใหญ่ยาว 12 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโกนาคมนะ เป็นรอยที่ 2 ยาว 9 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้ากัสสปะเป็นรอยที่ 3 ยาว 7 ศอก รอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าโคตม เป็นรอยที่ 4 รอยเล็กที่สุด ยาว 4 ศอก นอกจากนี้ความเชื่อตามพระบาลีข้างต้น รอยพระพุทธบาทที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ที่ เมื่องโยนกบุรี ก็คือ รอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้
ผมตั้งใจไว้ว่าจะต้องขึ้นไปเชียงใหม่อีกสักครั้งเพื่อไปนมัสการรอยพระพุทธบาทสี่รอยแห่งนี้
ภาพที่ 5 รอยพระพุทธบาทตากผ้า
รอยพระพุทธบาทตากผ้า ตามตำนานเล่าว่า พระพุทธองค์ได้เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยพระบาทลงไว้บนผาลาด แล้วตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
"ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคต มาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะบูชาของมหาชน ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชน ตลอด 5,000 พรรษา"
ผมยังไม่เคยไปนมัสการรอยพระพุทธบาทแห่งนี้เลย และผมก็ตั้งใจจะไปนมัสการรอยพระพุทธบาทตากผ้าสักครั้งหนึ่งเหมือนกัน
วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ชวนไปเที่ยวเขาใหญ่
ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อเปิดโลกทัศน์กว้างๆ ให้กับตนเอง แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้ไปเที่ยวบ่อยครั้งสักเท่าไร เมื่อมีโอกาสพอเหมาะพอดีแล้วจึงคิดจะไปกางเต้นท์พักแรมที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สักครั้งหนึ่ง เริ่มต้นจากการขับรถออกจากจังหวัดชลบุรี มุ่งตรงไปบางนาเพื่อเข้ากรุงเทพฯ แล้วผ่านไปทางถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สถานที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ให้แก่พวกเราเมื่อครั้งยังเป็นหนุ่มน้อยอยู่เมื่อคราก่อนโน้น ขับรถผ่านไปเรื่อยๆ โดยมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่ ป้ายโฆษณาบริดจ์สโตน ที่อำเภาหนองแค จังหวัดสระบุรี เพื่อนัดเจอเพื่อนอีก 3 คนไปด้วยกัน จริงๆ แล้วถ้ามาจากจังหวัดชลบุรีสามารถใช้เส้นทางที่สะดวกกว่านี้ได้คือ มาทางวงแหวนตะวันออกซึ่งจะรวดเร็วกว่า แต่เนื่องจากผมเป็นคนตื่นนอนแต่เช้าจึงไม่อยากรอคอยอยู่ที่ห้องพัก ผมจึงขับรถมาเรื่อยๆ เพื่อฆ่าเวลาจะได้มาถึงจุดนัดพบกันใกล้ๆ เวลาที่นัดหมายไว้ เมื่อมาถึงก็ทักทายกันพอเป็นพิธีพร้อมกับรู้จักเพื่อนใหม่อีก 2 คน แล้วพวกเราก็มุ่งหน้าไปสู่จุดหมายปลายทางกัน คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แต่เดี๋ยวก่อน......อื่ออม!!! ลืมอะไรไปหรือเปล่า......กิน.......ใช่ยังไม่ได้กินอะไรเลยต้องกินก่อน ดังนั้นสถานที่แห่งแรกที่เราแวะกินก็คือ ร้านสเต็กแดรี่โฮมฟาร์ม ดังรูปที่ 1 ข้างล่างนี้
ภาพที่ 1 ร้านสเต็กแดรี่โฮมฟาร์ม
ผมเคยฟังมาว่า คนจีนมีคำกล่าวที่ว่า "หมินอี่สือเหว่ยเทียน" ซึ่งแปลว่า เรื่องกินสำคัญเท่าฟ้า พวกผมเองก็เช่นเดียวกันมีความเชื่อว่า เรื่องกินสำคัญที่สุด ดังนั้นร้านสเต็กที่เราจะกินกันจึงต้องเลือกร้านที่ค่อนข้างอร่อยลิ้นสักหน่อย ซึ่งก็ตกลงกันว่าเป็นที่นี่แหล่ะ เมื่อตอนที่ผมมาถึงผมยังแปลกใจอยู่เลยว่า ทำไมคนถึงมากินอาหารที่นี่กันเยอะนัก ลองดูจากภาพจะเห็นว่าคนรอคิวกันแน่นมาก มันอาจเป็นภาพที่การันตีได้ว่า สเต็กที่นี่น่าจะอร่อยจริงๆ ซึ่งเมื่อผมลองกินดูแล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ สำหรับราคาคงจะเป็นรองก็แต่ร้านโชคชัย หน่อยๆ เท่านั้นล่ะครับ ความจริงแล้วตามเส้นทางที่ไปเขาใหญ่นั้นมีร้านสเต็กอยู่เรียงรายกันหลายร้านอยู่เหมือนกันครับ ไล่ไปตั้งแต่ ร้านเทพประทาน ร้านครูต้อ ร้านแดรี่โฮมฟาร์ม และสุดท้ายเป็น ร้านโชคชัย เป็นต้น ดังนั้นใครที่ผ่านไปทางนั้นก็เลือกร้านได้ตามใจชอบเลยน่ะครับ ผมคิดว่าคงจะอร่อยพอๆ กัน ถึงแม้ว่าผมจะได้ลิ้มลองมาทุกๆ ร้านแล้วก็ตาม แต่ว่านานๆ ผมจะได้ไปสักที่ทำให้ผมแยกกันไม่ค่อยออกว่า อร่อยแตกต่างกันอย่างไร เอาเป็นว่าถ้ามีโอกาสแวะไปแถวนั้นก็ลองมาที่ ร้านแดรี่โฮมฟาร์มกันสักครั้งก็ได้ครับ บรรยากาศติดแอร์ พนักงานเสริฟ์เป็นกันเอง และก็อร่อยดีด้วยครับ นอกจากนี้ยังมีร้านให้หาซื้อของฝากกันอยู่ข้างๆ ด้วย ดังจะเห็นในภาพเป็นร้าน แดรี่โฮมฟาร์มชอร์ป สำหรับเลือกซื้อ ขนม นม โยเกิร์ต ผักปลอดสารพิษ และอื่นๆ ก็ลองเลือกซื้อกันตามสบายน่ะครับ สำหรับพวกเราเมื่ออิ่มหมีพลีมันแล้ว พวกเราจะขึ้นเขาใหญ่กัน
พวกเราไปถึงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ประมาณบายสองโมงเห็นจะได้ ก่อนที่จะเข้าไปในอุทยานฯ ก็ต้องจ่ายค่าผ่านทางกันก่อน ผมจำไม่ค่อยได้ว่าคนล่ะเท่าไร แต่น่าจะประมาณ 60 บาทต่อคนครับ และยังมีค่ายานพาหนะอีกต่างหากมั้งครับ แต่ก็ไม่แพงเท่าไร คิดว่าเป็นการช่วยหน่วยราชการเพื่อรักษาป่าไว้ให้ชนรุ่นหลังแล้วกัน ผมขอเล่าเรื่องเกี่ยวอุทยานเขาใหญ่สักเล็กน้อยน่ะครับ
อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 4 จังหวัด คือ สระบุรี นครนายก นครราชสีมา และปราจีนบุรี มีเนื้อที่ถึง 1 ล้าน 3 แสนกว่าไร่ เขาใหญ่นับเป็นอุทยานแห่งแรกของประเทศที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อนหลายลูก และเป็นป่าที่มีสภาพอุดมสมบูรณ์โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นป่าดงดิบชื้น และมีพืชพรรณที่หลากหลายและมีน้ำตกมากกว่า 20 แห่ง เส้นทางเดินป่าบนเขาใหญ่ก็มีถึง 13 เส้นทาง ด้วยกัน แต่ว่าแต่ละเส้นทางก็มีความยากง่าย ระยะทางและเวลาการเดินทางที่ต่างกันด้วย
ภาพที่ 2 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เมื่อขึ้นไปถึงศูนย์อำนวยการเขาใหญ่ พวกเราคิดว่าถ้าสามารถหาห้องพักของทางราชการได้ก็จะสะดวกสบายไม่น้อยทีเดียว เพราะตามประสาคุณชายอย่างพวกเราแล้วถึงแม้วางแผนไว้ว่าจะกางเต็นท์นอนกันคืนนี้ แต่ถ้ามีที่สบายกว่านั้นทำไมเราจะไม่เลือกล่ะ ก็ในเมื่อ แผนการที่วางไว้กับการกระทำมันมักจะสวนทางกันอยู่แล้วสำหรับพวกเรา แต่โชคอาจไม่เข้าข้างเราเพราะทุกห้องเต็มหมด ดังนั้นเราจึงต้องตัดใจ และกลับมาเดินตามแผนกันอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทำให้ผมดีใจมากทีเดียว ฮ่า ฮ่า ฮ่า
สำหรับจุดที่กางเต็นท์ได้มีสองจุดบนอุทยาน คือ ที่ลานห้วยลำตะคอง และที่ลานผากล้วยไม้ เดิมทีด้วยความอยากสัมผัสธรรมชาติให้มากที่สุดพวกเราคิดว่าจะกางเต้นท์มันทั้งสองที่เลย แต่ปัญหาคือเรามาพักกันแค่คืนเดียวแล้วจะกางเต้นท์กันสองที่ในคืนเดียวกันได้อย่างไรกันล่ะ จะย้ายเต้นท์กันตอนกลางคืนก็คงไม่ใช่ที่ ดังนั้นเราจึงเลือกกางเต้นท์กันที่ ลานห้วยลำตะคอง เพราะเพื่อนคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์การค้างแรมบอกว่า ที่ลานห้วยลำตะคองบรรยากาศดีกว่า ดังนั้นเราจึงลงหลักปักฐานพักค้างคืนกันที่ ลานห้วยลำตะคอง
ภาพที่ 3 ลานห้วยลำตะคอง
ลานห้วยลำตะคอง เป็นบริเวณลานกว้างๆ ด้านข้างๆ มีห้วยลำตะคองไหลผ่าน สามารถกางเต้นท์ได้หลายร้อยหลังอยู่เหมือนกัน จากภาพที่ 3 จะเห็นว่า น้องๆ หลายคนกำลังช่วยกันกางเต้นท์เพื่อพักกันคืนนี้ ทำให้พวกเราใจชื้นขึ้นหลายเท่า เพราะอย่างไร การได้รับรู้ ได้เห็นว่ามีพวกน้องๆ อยู่ใกล้กับบริเวณที่เราอยู่ก็เป็นสุขใจแล้ว ดังนั้นพวกเราจึงช่วยกันกางเต็นท์ทั้ง 2 หลังซึ่งไม่นานก็เสร็จ อ้อลืมบอกไป ที่ลานห้วยลำตะคองนี้มี อุปกรณ์การพักแรม เช่น เต้นท์ ผ้าห่ม หมอน เตาถ่าน ให้บริการเช่าด้วยน่ะครับ ดังนั้นใครที่ไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวก็ไม่ต้องกังวลสามารถเช่าจากเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้ กางเต้นท์กว่าจะเสร็จก็เป็นเวลาบ่ายแก่ๆ พวกเราจึงได้พักกันที่ด้านหน้าเต้นท์ของเรากันพอสมควร ผมนอนพักผ่อนอย่างหมดแรง นอนหงายหน้ามองท้องฟ้าอย่างสบายๆ อยู่นานทีเดียว เหมือนกับว่าอยากให้โลกนี้หยุดหมุน อยู่อย่างนี้สักพักใหญ่ๆ เลย ความอ่อนล้าที่มีทั้งกายและใจคงจะได้เวลาพักเสียที่.....พักให้นาน นาน หลับลงตรงนี้ ที่ที่มีแต่ผมกับต้นคูนผลัดใบต้นนี้...........
ภาพที่ 4 ต้นคูนผลัดใบ และเต้นท์ของพวกเรา
ที่ลานห้วยลำตะคองบนเขาใหญ่ตอนกลางวันและกลางคืนอากาศเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันมาก ตอนกลางวันจะร้อนๆ พออบอุ่น อบอุ่น แต่พอพลบค่ำและเข้าสู่ราตรีกาลอากาศลดลงต่ำมาก ผมเดาว่าน่ะจะอยู่ที่ประมาณ 10 - 15 องศาเซลเซียส เห็นจะได้ น้ำค้างแรงมาก พวกเรานั่นกินอาหารกันที่หน้าเต้นท์ได้สักพัก ผมก็เปียกไปด้วยน้ำค้างอยู่เนืองๆ จนเหมือนกับแพ้อากาศ จามไปหลายทีอยู่เหมือนกัน กิจกรรมในยามค่ำคืนที่ลานกางเต้นท์แห่งนี้ ก็เงียบสงบ ปนกับความคลื้นเคลง อยู่เหมือนกัน บางคนก็มาเป็นกลุ่มใหญ่ทำอาหารกินกันสนุกสนาน บางกลุ่มก็ร้องเพลง เล่นกีตาร์กัน บางคนมาเป็นคู่ก็เข้านอนเร็วหน่อย ผมก็แปลกใจอยู่ไม่น้อยว่าพวกเขาจะนอนกันแต่หัวค่ำทำไม แต่ก็ไม่คิดจะถามใครออกไปหรอก.......ฮ่า ฮ่า ฮ่า...อาจพอจะเดาได้ สำหรับพวกเรา ก็นั่งกินเหล้ายาปลาปิ้งกันพอสมควรแบบเงียบๆ ต่างคนก็ต่างเล่าเรื่องประสบการณ์ของตนเองที่ผ่านพบมาในอดีตให้ฟังกัน ก็สนุกดีเหมือนกันตามประสาคนที่อยากรู้เรื่องชาวบ้านอย่างผม....555 อากาศเย็นลงทุกขณะ ยิ่งมืดยิ่งเย็น ผมเป็นคนแพ้อากาศเย็นอยู่แล้วด้วยทำให้ค่อนข้างทรมานอยู่เหมือนกัน จำได้ว่านอนแล้วตื่นขึ้นมาอยู่หลายหนอยู่เหมือนกันเพราะความหนาว ในใจก็ภาวนาให้ผ่านคืนนี้ไปไวไว
การมาพักแรมครั้งนี้ผมย้ำนักย้ำหนาว่า เราจะมาท่องเทียวเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ เราจะทิ้งไว้เพียงลมหายใจและร้อยเท้าเหยียบผ่านเท่านั้น และเราจะไม่เอาอะไรกลับไปนอกจากความทรงจำ และภาพถ่าย แต่พอเอาเข้าจริงๆ มันไม่เป็นอย่างที่คิดน่ะซิ ดูได้จากภาพที่ 4 ครับ เฮ้ย...น่าตกใจเหมือนกัน แต่อย่างไรก็ตามในตอนเช้าเราช่วยกันเก็บกวาดจนสถานที่สะอาด มองดูแล้วสะอาดตา
ภาพที่ 5 น้ำตกเหวสุวัตน้ำตกเหวสุวัต เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่พวกเราไปเยือน จำได้ว่าเคยมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ทุกอย่างคลับคล้ายคลับคลาว่าจะเหมือนเดิม โขดหินเคยวางเรียงตัวอย่างไรก็ยังคงเหมือนเดิม แต่ที่เปลี่ยนไปน่าจะเป็นวันเวลาและสายน้ำที่ไหลผ่าน ไหลไป ไม่หวนกลับมานั้นเอง บรรยากาศที่นี่มีนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาชมความงามของน้ำตกเยอะครับ ผมลองใช้มือและเท้าสัมผัสน้ำดูรู้สึกเย็นมากประหนึ่งว่า ความเย็นจากน้ำวิ่งขึ้นมาตามแขนและขาก่อตัวเป็นเกล็ดน้ำแข็งเกาะกุมที่หัวใจของผมก็ไม่ปาน บางครั้งความรู้สึกนี้นี่เองที่บางคนมักพูดจาเสียดสีผมอยู่บ่อยๆ ว่า ผมเป็นคนเย็นชาและหัวใจตายด้าน แต่มันเป็นเพราะอะไรล่ะ เพราะอะไร ผมเองก็ไม่รู้เหมือนกัน อาจบางทีผมเคยชินกับความเย็นชาอย่างนี้จนเกาะตัวเป็นหนึ่งเดียวกับผมแล้วกระมัง โขดหินแต่ละก้อนบริเวณนี้ยังคงทนทานต่อแรงกัดเซาะของน้ำได้เป็นอย่างดีและคงอยู่มาถึงวันนี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผมอดคิดไม่ได้ว่า หากจิตใจคนเรามั่นคงดั่งโขดหิน ณ ที่ แห่งนี้ ที่น้ำตกเหวสุวัตนี้ คงจะเป็นการดีไม่น้อยทีเดียว.......
ภาพที่ 6 บรรยากาศยามเช้าที่ลานส่องสัตว์และห้วยลำตะคอง
ขอกลับมาที่ตอนเช้าของวันรุ่งขึ้นที่ลานห้วยลำตะคองอีกครั้งหนึ่งน่ะครับ บรรยากาศยามเช้านั้นเย็นสบาย มีหมอกจางๆ มีกลิ่นไอดิน กลิ่นไอหญ้าที่เปียกน้ำค้างเมื่อคืนนี้ น้ำในห้วยฯ เย็นเฉียบ บางคนก็ตื่นแต่เช้าเพื่อไปดูพระอาทิตย์ขึ้น ซึ่งพวกเราไม่ได้ไปอาจเป็นเพราะความสบายๆ ของบรรยากาศก็เป็นได้ทำให้พวกเราคิดว่าการนอนอยู่ในเต้นท์เป็นการดีที่สุดแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ผมก็ตื่นเช้ากว่าเพื่อนเพื่อซึมซับบรรยากาศธรรมชาติอย่างนี้ ที่หาไม่ได้แล้วในเมืองใหญ่ๆ ผมเดินไปตามทางข้ามห้วยลำตะคองที่มีสะพานที่ปูด้วยไม้และใช้เชือกเส้นใหญ่ๆ โยงข้ามระหว่างสองข้างของลำห้วย ผมคิดว่าน่าจะเรียกว่า สะพานเชือก หรือ สะพานลิง นี่แหล่ะ เมื่อข้ามไปอีกฟากหนึ่งเดินต่อไปเรื่อยๆ ก็จะถึงลานกว้างๆ ที่ผู้คนใช้เป็นที่เดินเล่น ออกกำลังกาย และส่องสัตว์ แต่ละคนจะมีกล้องประจำตัวเพื่อถ่ายรูป และบางคนก็ส่องดูนก กระรอก กระแต หรือสัตว์ต่างๆ ที่ออกมาหากินยามเช้า ดูได้จากภาพที่ 6 ลานส่องสัตว์และห้วยลำตะคอง
นานๆ ผมถึงจะได้มาสัมผัสธรรมชาติอย่างที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่สักครั้งหนึ่งดังนั้นผมจึงพยายามเก็บเกี่ยว จิตวิญญาณ ประสบการณ์ กลิ่นไอของธรรมชาติให้ได้มากที่สุด การมาค้างแรมของผมครั้งนี้เพื่อผ่อนคลายความล้าทางกายและใจ หลีกหนีจากเรื่องราวมากมายเพื่อมา พักกาย พักใจ ณ ที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แห่งนี้ ก็นับว่าคุ้มค่า
เพื่อนๆ ทุกคนหากมีโอกาสอย่าลืมมาชื่นชมธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่แห่งนี้น่ะครับ ผมขอเป็นคนหนึ่งที่อยากบอกกับทุกท่านว่า "ชวนไปเที่ยวเขาใหญ่" เดินทางโดยสวัสดิภาพ........สวัสดีครับ
วันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ...ฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น
หากย้อนกลับไปประมาณ 10 ปีที่แล้ว เมื่อตอนที่ผมเริ่มต้นทำงานใหม่ๆ โดยเป็นที่ปรึกษาด้านการจัดการคุณภาพ ด้วยประสบการณ์ที่ยังน้อยอยู่ทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ สิ่งเดียวที่ผมใส่ใจมากที่สุดคือการพูด การอธิบายให้ภาพลักษณ์ปรากฎออกมาน่าเชื่อถือเพราะโดยวิชาชีพของงานด้านที่ปรึกษาฯ คือการแนะนำผู้อื่นให้ทำตาม จนบางครั้งเกิดเป็นอัตตาว่าตนเองเป็นฝ่ายถูกแต่ฝ่ายเดียวอยู่เสมอ โดยไม่ได้ฟังความคิดเห็นของคนอื่นบ้างเลย หรือฟังแต่ก็มีคำตอบอยู่ในใจแล้ว จึงเข้าทำนองว่า ฟังไปอย่างนั้นแหล่ะ แต่เมื่อเวลาผ่านเลยไป ประสบการณ์มากขึ้น วัยวุฒิและคุณวุฒิก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว เห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ บนโลกใบนี้มากขึ้น ผมกลับพูดน้อยลง น้อยลงทุกที และฟังมากขึ้น ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ ฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น ถึงแม้ว่า ณ วันนี้ผมจะไม่ได้ทำอาชีพที่ปรึกษาฯ แล้วก็ตาม แต่คุณสมบัติการฟังดังกล่าวก็ติดตัวผมมาและเอื้อประโยชน์ให้กับการทำงานในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี ในบทความเรื่อง ผู้นำที่ดีที่สุด คือ นักฟังชั้นยอด! เขียนโดยคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย อธิบายไว้ว่านักฟังที่ดีจะเป็นผู้นำที่ทรงประสิทธิผลเพราะว่า
1. เพราะผู้นำเข้าใจผู้คนก่อนที่จะนำเขา
2. การเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการฟัง
3. การรับฟังยับยั้งปัญหาไม่ให้ขยายใหญ่โต
4. การรับฟังสร้างความไว้วางใจ
5. การรับฟังช่วยปรับปรุงองค์กร
การฟังอย่างมีประสิทธิภาพนั้นในหนังสือเรื่อง Listening made easy เขียนโดย โรเบิร์ต แอล. มอนต์โกเมอร์รี่ แนะนำหลักการฟังขั้นพื้นฐาน 6 ประการ ดังนี้
1. มองคนพูด (Look at the other person) คือการมองอย่างสบายๆ มองไปที่คนพูด หรือสบตาคนพูดก็ได้ การมองคนพูดเป็นการแสดงถึงความตั้งใจรับฟังสิ่งที่คนพูดต้องการจะถ่ายทอดออกมา
2. ตั้งคำถาม (Ask question) ศิลปะการตั้งคำถามเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้างความกระจางชัดของข่าวสารที่ผู้พูดต้องการจะอธิบายให้ฟัง จะเห็นว่าผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับ หมอ ที่ปรึกษา ทนาย จิตแพทย์ เป็นต้น ล้วนแล้วแต่ต้องมีความชำนาญในการตั้งคำถามทั้งสิ้นเพื่อที่จะวินิจฉัยให้ถูกต้อง
3. อย่าขัดคอ (Don't interrupt) การขัดคอผู้อื่นเป็นการกระทำที่ไม่สุภาพ และบางทีอาจทำให้เสียการเสียงานก็เป็นได้
4. อย่าเปลี่ยนเรื่อง (Don't change the subjects) การเปลี่ยนเรื่องในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดอยู่ก็เป็นการกระทำที่ไม่สุภาพเช่นกัน
5. คุมอารมณ์ (Express emotion with control) จงฟังผู้อื่นให้เข้าใจและจบสิ้นก่อนแล้วจึงค่อยประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารที่ได้ฟังมา การฟังครึ่งๆ กลางๆ หรือฟังแล้วไม่เข้าใจจะทำให้การสนองตอบของเราผิดพลาด หรือเกินกว่าเหตุได้ เข้าตำรา ฟังไม่ได้สับและจับไปกระเดี๊ยด
6. แสดงอาการสนใจ (Responsively listen) จงแสดงออกซึ่งความตั้งใจและความสนใจฟัง
สำหรับการพัฒนาไปสู่การฟังขั้นสุดยอด ผู้ฟังควรจะประยุกติ์ใช้เทคนิคเพิ่มเติม คือ
- การดูแลรักษาและตรวจหู (Have a hearing check up)
- ประเมินข้อเท็จจริง (Evaluate the evidence)
- เดาประเด็นสำคัญ (Anticipate key points)
- ทบทวนในใจ (Review mentally)
การฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น คือการเปิดใจรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไข จิตใจของคนเรานั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์หากเปิดออกแล้วสามารถรองรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างไม่จำกัด หากเปรียบเปรยเป็นหุบเหวก็เป็นหุบเหวที่ไม่มีก้นบึ้งสามารถรองรับน้ำได้อย่างไม่จำกัด ผมเคยดูภาพยนต์เรื่อง โจน ออฟ อาร์ค (Joan of Arc) ความตอนหนึ่งที่ อัศวินโจน กำลังถูกพิพากษาโดยคณะบาทหลวง แล้วมีบาทหลวงคนหนึ่งไม่เห็นด้วยโดยกล่าวแย้งว่า "คำตัดสินต้องมาหลังการพิจารณา" ข้อความนี้เป็นการสื่อความหมายว่า ให้เปิดใจรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขก่อน แล้วจึงพินิจ วิเคราะห์ เป็นคำตัดสินออกมา
ดังนั้นทักษะการฟังอย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมาพร้อมกับการฟังอย่างเข้าใจผู้อื่นด้วยเสมอ การฟังอย่างเข้าใจผู้อื่นคือการเปิดใจรับฟังผู้อื่นอย่างไม่มีเงื่อนไข ฟังให้จบแล้วจึงพิจารณาไตรตรองแล้วจึงสนองตอบ หลายๆ คนอาจต้องสูญเสียเพื่อนที่ดีไปเพียงเพราะการฟังโดยไม่เปิดใจก็เป็นได้ สุดท้ายอย่าลืมว่า ผู้นำที่ดีคือผู้ฟังที่ดี ฟังอย่างมีประสิทธิภาพ และฟังอย่างเข้าใจผู้อื่น..........สวัสดี
เอกสารอ้างอิง
- ดนัย จันทร์เจ้าฉาย, ผู้นำที่ดีที่สุด คือ ผู้ฟังชั้นยอด!
- วีระชัย ตันติวีระวิทยา, ฟังให้เก่งเป็น 2 เท่า, 1981, 1988
วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2552
ทฤษฎี XYZ...และ...ทฤษฎีบริหารคนด้วยหัวใจ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะเริ่มต้นปีใหม่นี้ด้วยหัวใจที่สดใส ประมาณปลายปีที่แล้ว เพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งเข้ามาในห้องทำงานของผมแล้วบ่นๆ เกี่ยวกับลูกน้องของเขา เพื่อนร่วมงานของเขา ตลอดจนถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำงานต่างๆ ที่ผ่านมาให้ผมฟังยกใหญ่เลย ผมฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ได้เสนอความคิดเห็นอะไรให้เป็นการต่อความยาวสาวความยืด โดยประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปีของผมส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคนหรือบุคคลมาโดยตลอด ทำให้ผมเข้าใจถึงความคับอกคับใจของเพื่อนร่วมงานคนนี้เป็นอย่างดีและรู้สึกว่าถ้าเขาผ่านช่วงเวลานี้ไปได้ เขาจะเติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่งแล้ว โดยต้องไม่ลืมว่าผู้นำที่ดีต้องเข้าใจคนและเข้าใจงานเป็นอย่างดี แต่ก่อนที่เขาจะก้าวไปสู่ขั้นนั้นได้ เขาควรจะรู้จักทฤษฎีการบริหารคนเสียก่อน ในบทความนี้ขอนำเสนอทฤษฎีจูงใจคนที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้กันคือ ทฤษฎี XYZ กล่าวคือ
1. ทฤษฎี X (The Traditioal View of Direction and Control) ทฤษฎีนี้เกิดจากข้อสมมุติฐานที่ว่า
1. คนไม่อยากทำงาน และหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
2. คนไม่ทะเยอทะยาน และไม่คิดริเริ่ม ชอบให้สั่งการ
3. คนเห็นแก่ตนเองมากกว่าองค์การ
4. คนมักต่อต้านการเปลึ่ยนแปลง
5. คนมักโง่ และหลอกง่าย
บทวิพากษ์ หลักความคิดของทฤษฎี X มองคนในแง่ลบ คนจะทำงานเมื่อมีกฎ ระเบียบมาบังคับ และต้องจ่ายค่าตอบแทนจึงจะทำงาน หลายบริษัทบริหารบุคลากรโดยใช้ทฤษฎีนี้ ซึ่งดูเหมือนจะได้ผลิตภาพที่ดี แต่ สัมพันธภาพระหว่างองค์กรกับบุคคลากรกลับไม่ดีตามผลิตภาพที่ได้รับ สถานะการณ์ที่บ่งบอกคือ พนักงานรอรับโบนัสแล้วก็ลาออก อัตราการเข้า-ออกจากงานสูง พนักงานไม่ใสใจในงาน ทำงานแบบขอไปที่หรือขอให้จบไปวันๆ เท่านั้น ผู้นำที่บริหารบุคลากรด้วยทฤษฎี X มักจะได้รับผลงานที่ดีเยี่ยมจากลูกน้องแต่อย่าหวังความรักและความภักดีจากลูกน้องเลย
2. ทฤษฎี Y (The integration of Individual and Organization Goal) ทฤษฎีข้อนี้เกิดจากข้อสมมุติฐานที่ว่า
1. คนจะให้ความร่วมมือ สนับสนุน รับผิดชอบ ขยัน
2. คนไม่เกียจคร้านและไว้วางใจได้
3. คนมีความคิดริเริ่มทำงานถ้าได้รับการจูงใจอย่างถูกต้อง
4. คนมักจะพัฒนาวิธีการทำงาน และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ
บทวิพาษณ์ ทฤษฎีนี้ให้ความสำคัญกับบุคคลากร มองคนในแง่บวก ส่งเสริมให้คนพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพเพิ่มขึ้นจนกระทั้งบรรลุตามเป้าหมายขององค์กร ทฤษฎีนี้มองคนเป็นจุดศูนย์กลาง โดยทั่วไปแล้วมักใช้ได้กับบุคลากรที่ค่อนข้างมีจริยธรรมดีและมีการศึกษาสูง แต่ในความเป็นจริงในองค์กรหนึ่งๆ มักมีบุคลากรที่มีความหลากหลายทางพฤติกรรม มีพื้นฐานทางความคิดแตกต่างกัน ดังนี้การจะใช้ทฤษฎี Y เพียงอย่างเดียวในการบริหารคนจึงอาจประสบปัญหาหลายอย่างและไม่บรรลุผลตามที่ตั้งใจไว้
3. ทฤษฎี Z (Z Theory) (William G. Ouchl) ทฤษฎีนี้รวมเอาหลักการของทฤษฎี X และ Y เข้าด้วยกัน แนวความคิดก็คือ องค์การต้องมีหลักเกณฑ์ที่ควบคุมมนุษย์ แต่มนุษย์ก็รักความเป็นอิสระและมีความต้องการ หน้าที่ของผู้บริหารจึงต้องปรับเป้าหมายขององค์การให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบุคคลในองค์การ ทฤษฎีมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ประการคือ
1. การทำให้ปรัชญาที่กำหนดไว้บรรลุ
2. การพัฒนาผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
3. การให้ความไว้วางใจแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
4. การให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ
ทฤษฎีนี้ใช้หลักการ 3 ประการ คือ
1. คนในองค์การต้องซื่อสัตย์ต่อกัน
2. คนในองค์การต้องมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
3. คนในองค์การต้องมีความใกล้ชิดเป็นกันเอง
บทวิพากษ์ แนวคิดนี้เป็นการบูรณาการระหว่าง ทฤษฎี X และ ทฤษฎี Y เป็นการตีกรอบกฎ ระเบียบข้อบังคับให้เหมาะสมกับความไว้วางใจในตัวของบุคลากรในองค์กร หากองค์กรสามารถนำทฤษฎีนี้ไปปฏิบัติให้เห็นผล ก็น่าจะเกิดคุณค่าแก่องค์กรสูงสุด แต่ที่ยากลำบากคือการสร้างเป้าหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละบุคคลซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามสถานะ ตำแหน่งงาน และความคาดหวัง
บทส่งท้าย ผมมีความเห็นว่า องค์กรแต่ละแห่งมีความเหมาะสมที่จะใช้ทฤษฎีจูงใจคนที่แตกต่างกัน บางองค์กรเหมาะสมที่จะประยุกติ์ใช้ทฤษฎี X บางองค์กรก็เหมาะสมที่จะประยุกติ์ใช้ ทฤษฎี Y หรือ Z แต่ส่วนหนึ่งต้องไม่ลืมว่า คนนั้นมีหัวใจ หากเป็นสำนวนในวรรณกรรมจีนที่ผมเคยอ่านมาก็คือ กระบี่นั้นไร้ใจ แต่คนกลับมีน้ำใจ หากกล่าวตามภาษิตไทยแต่โบราณได้ว่า จิตมนุษย์นั้นยากแท้หยั่งถึง ดังนั้นไม่ว่าจะใช้ทฤษฎีใหนก็ตามบริหารบุคลากรในองค์กรต้องไม่ลืมที่จะใช้ ทฤษฎีบริหารคนด้วยหัวใจ ควบคู่กันไปด้วย กล่าวคือ ปฏิบัติต่อบุคคลอย่างที่เขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลนั้นให้มาก ผมมีความคิดเห็นว่าความสามารถในการแข่งขันขององค์กรหรือประเทศชาติในอนาคตขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพและศักยภาพของทรัพย์กรมนุษย์เป็นหลัก ทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กรและประเทศชาติอย่างยั่งยืนตราบนานเท่านาน........สวัสดี
เอกสารอ้างอิง:
http://www.vcharkarn.com/include/vcafe/showkratoo.php?Pid=127641
วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552
สวัสดีปีใหม่ พ.ศ. 2552 ด้วยพระราชดำรัสฯ
ขอสวัสดีปีใหม่แก่ท่านผู้อ่านทุกท่าน
ผู้เขียนขออัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ พ.ศ. ๒๕๕๒ วันพุธที่ ๓๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑ ความว่า
ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย บัดนี้ถึงวาระจะขึ้นปีใหม่ เป็นเวลาที่เราควรจะระลึกถึงกัน และอวยพรแก่กัน ด้วยความปรารถนาดี ก่อนอื่นข้าพเจ้าต้องขอขอบใจทุกท่านเป็นอย่างมาก ที่ร่วมกันจัดงานพระศพพี่สาวข้าพเจ้าอย่างยิ่งใหญ่ สมพระเกียรติ
ทั้งอุตสาหะ มาร่วมในงาน เมื่อเดือนพฤศจิกายน ด้วยใจภักดี และระลึกถึง กับขอส่งความปรารถนาดี มาอวยพรแก่ท่านทุกๆ คน ให้มีความสุขความเจริญ ความสุขความเจริญนี้ คือสิ่งที่พึงปรารถนาอย่างยิ่งของคนเรา แต่ความสุขความเจริญนั้น จะสำเร็จผลเป็นจริงได้ ก็ด้วยการที่ทุกคน ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท มีสติ รู้ตัว และปัญญา รู้คิด กำกับอยู่ตลอดเวลา
กล่าวคือ ไม่ว่าจะประพฤติปฏิบัติการใด ก็ใช้สติ ปัญญา พิจารณา ไตร่ตรองจนถ้วนถี่ ให้เห็นกระจ่างถึงผลดี ผลเสีย ทั้งใกล้ ไกล ทุกแง่ทุกมุม ความรู้ ความเข้าใจชัด ถึงผลดี ผลเสีย ย่อมจะทำให้แต่ละคน เล็งเห็นแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ว่าสิ่งใดควรละเว้น และสิ่งใดควรปฏิบัติ เพื่อให้บังเกิดผล เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง และยั่งยืน ทั้งแก่ส่วนตัวและส่วนรวม
ในปีใหม่นี้ จึงขอให้ประชาชนชาวไทย ได้ตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท จะคิด จะทำสิ่งใด ให้คิดหน้าคิดหลังให้ดี ให้รอบคอบ ทำให้ดี ให้ถูกต้อง ผลของการคิดดี ทำดีนั้น จะได้ส่งเสริมให้แต่ละคน ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และทำให้ชาติบ้านเมือง มีความเรียบร้อย และอยู่เย็นเป็นสุข ดังที่ทุกคน ทุกฝ่าย ตั้งใจปรารถนา
ขออานุภาพแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไทยเราเคารพบูชา จงอภิบาลรักษาท่านทุกคน ให้ปราศจากทุกข์ ปราศจากโรค ปราศจากภัย ให้มีความสุขกาย สุขใจ และความสำเร็จ สมหวัง ตลอดศกหน้านี้โดยทั่วกัน
ผู้เขียนขอเริ่มต้นบทความในต้นปีใหม่นี้ ด้วยการอัญเชิญพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย มาใส่ในบทความนี้ ผู้เขียนปรารถนาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านสักหลายครั้ง หลายหน และนำไปปฎิบัติให้บังเกิดเป็นความสุข ความเจริญ และความเป็นมงคลแก่ชีวิตตลอดไป ปีใหม่นี้หลายคนคงคิดจะเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นสิ่งที่ดีๆ แก่ ตนเอง ครอบครัว และประเทศชาติ ก็ขอให้ประสบความสำเร็จทุกประการ สำหรับตัวผู้เขียนเองตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะรังสรรค์ผลงานการเขียนในปีนี้ให้ได้อย่างน้อยก็สัก 15 เรื่อง คิดไว้ว่าจะเขียนเกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งถึงแม้ดูเหมือนจะไม่มากสักเท่าไร แต่มันก็ไม่น้อยจนเกินไป หากสามารถถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์บ้างก็เป็นการดี แล้วติดตามกันต่อไปน่ะครับ......สวัสดี