วันอาทิตย์ที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ส่งท้ายปีเก่า พ.ศ.2551 ด้วยพุทธวาจาของท่านทิโลปา(Tilopa)

บทความนี้คงเป็นบทความสุดท้ายสำหรับปีนี้แล้ว หลายสิ่งหลายอย่างในปีนี้ช่างผันผวนหรือเปลี่ยนแปลงกันจนทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยและคนทั้งโลกต้องปรับตัวกันอย่างมากมาย เป็นต้นว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานสูงขึ้นไปอย่างมากในช่วงต้นปีแรกและลดต่ำลงมาอย่างไม่น่าเชื่อในช่วงปลายปี ราคาอาหาร สินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ และราคาทองคำ รวมถึงตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกที่ผันผวนกันอย่างมาก ในช่วงปลายปีนี้ธุรกิจต่างๆ ที่เป็น Real Sector เริ่มได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจแล้ว หลายๆ คนกังวลว่าจะ ตกงานหรือไม่มีงานทำในปีหน้า แต่สำหรับบางคนก็ตกงานไปเรียบร้อยแล้วเหมือนกัน นี่ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องการเมืองภายในประเทศ และความแตกแยกเป็นสีเสื้อต่างๆ ล้วนแล้วแต่มีให้เห็นกันในปีนี้ทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม กาลเวลาย่อมทำหน้าที่ของมันอย่างซื่อสัตย์ต่อไป ปีเก่ากำลังจะผ่านไป ปีใหม่กำลังจะเข้ามา มนุษย์ทุกผู้ทุกคน ผู้ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ภายใต้เงื่อนไขของกาลเวลาจึงยังคงต้องดำเนินต่อไป ไม่ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในส่วนของผมนั้นยอมรับว่ามีความกังวลกับความเป็นไปในปีหน้าอยู่เหมือนกัน แต่ก็ยังพอทำใจยอมรับและพยายามใช้เวลาช่วงที่ทุกอย่างยังคงสงบอยู่นี้ คิดหาหนทางในการดำเนินชีวิตต่อไป พยายามทำตนให้เป็นผู้กระทำต่อเหตุการณ์โดยไม่นิ่งนอนใจอยู่เฉยๆ ให้เหตุการณ์ต่างๆ มากระทำต่อตนเอง
สำหรับช่วงท้ายของปีนี้ ผมขอแนะนำพุทธวาจาของท่านทิโลปา ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งที่เป็นที่เคารพรักของชาวทิเบต ในพุทธศาสนามหายาน มีทั้งหมด 6 คำ (Six words of Advice) ดังนี้
  1. Don't recall - Let go of what has passed. (ออกจากอะไรที่มันผ่านไปแล้ว)
  2. Don’t imagine - Let go of what may come. (ออกจากอะไรที่อาจจะเข้ามา)
  3. Don’t think - Let go of what is happening now. (ออกจากอะไรที่กำลังจะเกิดขึ้น ณ ขณะนี้)
  4. Don’t examine - Don’t try to figure anything out. (อย่าพยายามสร้างตัวตนใดๆ ออกมา)
  5. Don’t control - Don’t try to make anything happen. (อย่าพยายามทำใดๆ ให้เกิดขึ้น)
  6. Rest - Relax, right now, and rest. (ผ่อนคลาย ปัจจุบันนี้ และปล่อยวาง)

ผมขออวยพรให้ทุกคนจงมีความสุข สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพใจดี สบายใจ ผ่อนคลายและปล่อยว่างเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น มีความสุขกับปัจจุบัน หยุดคิดและกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้าอย่างน้อยก็ตลอดช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่นี้ ดังคำพระท่านว่า "อดีตคือสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อนาคตคือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันคือความเป็นจริง ทุกข์หรือสุขอยู่ที่ใจเราเอง" ขอให้ระลึกถึงคำแนะนำทั้ง 6 ของท่านทิโลปานี้ไว้ จิตใจจะสงบและเป็นสุขตลอดกาล.....สวัสดี

อ้างอิง:

http://en.wikipedia.org/wiki/Tilopa

วันอังคารที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2551

วิพากษ์คมความคิด เติ้งเสี่ยวผิง บนความเป็นประเทศไทย

ผมเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามความเป็นไปของธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงชื่นชอบการฟังความคิดเห็นของผู้นำทางธุรกิจหลายๆ ท่านและหนึ่งในนั้นคือ ท่านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครืองเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) โดยความคิดเห็นของท่านฯ บางครั้งผมก็เห็นด้วยอย่างยิ่ง เช่น น้ำมันบนดิน และบางครั้งผมก็ยังสงสัยในใจ เช่น ทฤษฎีสองสูง เป็นต้น และเมื่อไม่นานมานี้ผมมีโอกาสฟังความคิดเห็นของท่านฯ อีกครั้งหนึ่งในโอกาสที่ให้คำแนะนำรัฐบาลใหม่ ดังนี้

อันไหนที่เราคิดว่าดี ก็เกทับรัฐบาลเก่าไปเลย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ยกเลิก

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ออกมาเสนอแนะให้รัฐบาลแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ "รัฐบาลควรใช้ทฤษฎีสองสูงแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยการอัดฉีดเม็ดเงินจำนวน 2 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรทุกตัวให้มีราคาดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีรายได้เพิ่มขึ้น และรองรับผู้ที่ตกงานซึ่งจะไหลกลับสู่ภาคเกษตร รวมทั้งเพิ่มเงินเดือนให้แก่ข้าราชการ อันไหนที่เราคิดว่าดี ก็เกทับรัฐบาลเก่าไปเลย อะไรที่ไม่ถูกต้องก็ยกเลิก นโยบายที่ดีก็สานต่อ อะไรก็ได้ที่ทำให้ทั้งแมวดำและแมวขาวสามารถจับหนูได้ก็ให้รัฐบาลทำไป คุณอภิสิทธิ์ เป็นคนหนุ่มไฟแรง แม้นายกรัฐมนตรีจะไม่มีประสบการณ์ในภาคเอกชน แต่หากเลือกคนที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยงานก็ถือว่าบริหารงานได้ดี และถึงแม้จะเป็นรัฐบาลผสมแต่หากทุกคนช่วยกันก็จะช่วยให้ประเทศชาติรอดพ้นวิกฤติไปได้ หากรัฐบาลทำได้ดีก็สามารถอยู่ได้ครบวาระ"

เมื่อได้ยินคำว่า แมวดำและแมวขาว ทำให้ผมนึกถึงอดีตท่านผู้นำสูงสุดของประเทศจีนท่านหนึ่งคือ ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง ขึ้นมาถนัดใจและนึกได้ว่าเคยอ่านบทความเกี่ยวกับปรัชญาการบริหารของท่าน จึงขอนำเสนอในแนวทางการวิเคราะห์ว่าสามารถประยุกติ์ใช้กับประเทศไทยในสถานการณ์ปัจจุบันได้หรือไม่ ดังนี้

1. 不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫

(ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา) “ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”

ในหลักการข้อนี้คือ ควรยึดหลักแนวทางการปฎิบัติตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่คิดหรือปฏิบัติกันอย่างสูตรตายตัวหรือที่ทำตามกันมา ซึ่งในช่วงเวลานั้นประเทศจีนประสบปัญหาเกี่ยวกับราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ ผู้นำหลายคนมีความคิดหลากหลายและมีข้ออ้างว่าเป็นวิธีของทุนนิยมไม่สมควรนำมาใช้ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำยังคงมีอยู่ นโยบายบางอย่างของรัฐบาลก็ถูกถากถางว่าเป็นประชานิยม ซึ่งในความทัศนะของผมคิดว่าไม่แตกต่าง นโยบายข้อใหนทำแล้วดีก็ควรทำไม่จำเป็นว่าจะเป็นประชานิยมหรือไม่ประชานิยม จากความคิดเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่กล่าวในงานสัมมนาสัมมนาเรื่อง “ศักยภาพของสังคมไทยกับวิกฤติโลก” ดังนี้
" .....ส่วนที่หลายคนมองว่า นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนโยบายประชานิยมเหมือนกับรัฐบาลอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผมไม่ได้สนใจว่า เป็นนโยบายประชานิยมหรือไม่ แต่นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะต้องมีหลักการ 2 ข้อ คือ 1. จะต้องใช้เงินได้เร็ว ส่งเงินเข้าถึงระบบเศรษฐกิจได้ทัน 2. จะต้องเป็นนโยบายที่ถอยหลังหรือยกเลิกได้ ไม่ใช่นโยบายที่หว่านเงินหรือเสพติดจนเกินไป" หากจะเปรียบกับศาสตร์ด้านการบริหารการจัดการน่าจะเป็น Management by objective นั่นเอง รัฐบาลควรมองที่ผลของนโยบายที่จะได้รับมากกว่ามองว่า เป็นขาวหรือดำ

2. 解放思想,实事求是

(เจี่ยฟ่างซือเสี่ยง, สือซื่อฉิวซื่อ) “ ปลดปล่อยความคิด ยึดติดความจริง ”

การจะนำพาประเทศจีนสู่ความทันสมัยนั้น ท่านผู้นำเติ้งเสี่ยวผิง มองว่า ต้องก่อเกิดจากความคิดที่ทันสมัยก่อน นั้นคือต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามหลักวิทยาศาสตร์ เคารพกฎแห่งการพัฒนาของสรรพสิ่ง ตลอดจนยึดมั่นแนวคิดการพัฒนาที่เป็นจริงเชิงปฏิบัติ เป็นไปอย่างรอบด้าน และมีความเป็นมหาชน บนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ดังคำกล่าวของจีนที่ว่า "การปฏิบัติคือมาตรฐานเพียงหนึ่งเดียวที่จะทดสอบสัจธรรม" สำหรับประเทศไทย ต้องกลับมามองที่รากฐานทางเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยก่อน ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก รากเหง้าของคนไทยคุณเคยกับการเกษตรกรรมมาช้านาน อีกทั้งมีความแข็งแกร่งทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นอย่างมาก ดังนั้นการพัฒนาประเทศที่จะมุ่งไป ควรจะอยู่บนความเป็นจริงด้านเกษตรกรรม จะเป็นเกษตรกรรมแบบพอมีพอกิน หรือจะเป็นเกษตรกรรมเชิงพานิชย์ก็ได้ และพัฒนาไปสู่อุตสาหรรกรรมการแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ คำว่า น้ำมันบนดิน ของท่านเจ้าสัวธานินทร์ฯ ก็ถือได้ว่าเป็นโอกาสของประเทศไทยอย่างมหาศาลในการพัฒนาพลังงานทดแทน ในตอนแรกอาจจะพัฒนาให้พอมีพอใช้ในประเทศก่อนเพื่อเป็นการลดการพึ่งพาน้ำมันจากต่างประเทศ และเมื่อส่งเสริมนโยบายด้านการพัฒนาเทศโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทนและการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่องแล้ว เมื่อมีความสามารถเพียงพอจึงค่อยส่งออกเพื่อเป็นรายได้ของประเทศอีกทางหนึ่งก็เป็นส่งที่ดีอย่างยิ่ง ขึ้นอยู่ว่าประเทศไทยจะจัดการเรื่องดังกล่าวได้อย่างสมดุลย์หรือเปล่า

3. 尊重知识,尊重人才

(จุนจ้งจือซือ, จุนจ้งเหรินไฉ) “ เคารพความรู้ เคารพความสามารถของบุคคล ”

ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศชาติเลยก็ว่าได้ ทรัพยากรใดใดนี้โลกนี้ที่มีค่าที่สุดคือ ทรัพยากรมนุษย์ ตัวอย่างมีให้เห็นอย่างมากมาย เช่น ประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศสิงค์โปร์ ไต้หวัน อิสราเอล และฮ่องกง เป็นต้น ทรัพยากรมนุยย์ของประเทศไทยยังมีโอกาสพัฒนาอีกมาก และต้องวางแผนการพัฒนาให้ถูกหลักการด้วย ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ด้านกฎหมาย และด้านศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น ล้วนแล้วแต่สามารถพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไปได้ทั้งนั้น สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่ผมมองเห็นจากการพัฒนาอย่างรวดเร็วของประเทศจีนคือ การมุ่งมั่นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เร็วเกินไปจนลดทอนด้านจริยธรรมและคุณธรรม ทำให้กลายเป็นปัญหาของประเทศจีนในปัจจุบัน อย่างเช่น เรื่องคุณภาพของสินค้า และความปลอดภัยด้านอาหารที่ส่งออกไปต่างประเทศ ความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตของคนในเมืองและชนบท เป็นต้น ในมุมมองของหลักการนี้ที่มีต่อประเทศไทยจึงควร พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทยควบคู่ไปกับคุณธรรมและจริยธรรมอันดีงาม อย่างเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมๆ กัน

4. 我是中国人民的儿子

(หว่อซื่อจงกั๋วเหรินหมินเตอเออร์จื่อ) “ ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน ”

“ ข้าพเจ้าภูมิใจในฐานะชาวจีน ที่เป็นประชากรคนหนึ่งของโลก ข้าพเจ้าคือลูกชายของมวลชนชาวจีน และมีความรักอันลึกซึ้งให้กับมวลชนและมาตุภูมิ” เติ้งเสี่ยวผิง เขียนไว้ในคำนำหนังสือเรื่อง <รวมรวบผลงานวรรณกรรมของเติ้งเสี่ยวผิง> ซึ่งออกโดยสำนักพิมพ์ Pergamon ของประเทศอังกฤษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1981 นี่คือความในใจของวีรบุรุษผู้เติบโตภายใต้การกล่อมเกลาด้วยจิตวิญญาณแห่งวัฒนธรรมจีน แสดงออกซึ่งความรู้สึกและจิตสำนึกรักชาติ ดังคำกล่าวกินใจของเติ้งที่ว่า “การบรรลุความเป็นจีนเดียว คือความปรารถนาของชนทั้งชาติ แม้ผ่านไป 100 ปียังไม่สำเร็จ จะใช้เวลา 1,000 ปีก็ไม่สายที่จะรวมกันเป็นหนึ่ง

ผมตัดข้อความข้างต้นมาจากต้นฉบับที่อ่านมาก่อนหน้านี้ ความเป็นคนไทยต้องตระหนักรู้อยู่ในสายเลือด ความภาคภูมิใจในความเป็นคนไทยต้องอยู่ในจิตใจของพวกเราทุกคน แม้ประเทศไทยจะไม่ได้แบ่งแยกอย่างชัดเจนเหมือนอย่างประเทศจีน แต่ในสังคมไทยทุกวันนี้ก็มีความแตกแยกอยู่บ้างแล้ว ดังจะเห็นจากการชุมนุมต่างๆ ไม่ว่าจะใช้สัญลักษณ์ สีเหลือง หรือ สีแดง ก็ตามแต่ จงตระหนักรู้ไว้เถิดว่า พวกเราทุกคนเป็นลูกหลานชนชาติไทยด้วยกันทั้งนั้น มีความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ จงรู้รักสามัคคีกันไว้เถิด นอกจากนี้ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะยังคงมีปัญหาเกี่ยวกับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ด้วยหลักการข้อนี้ ที่พวกเราทุกคนตระหนักว่า ข้าพเจ้าเป็นลูกเป็นหลานของชนชาติไทยคนหนึ่ง พวกเราจะสามารถเอาชนะอุปสรรคนี้ไปได้อย่างแน่นอน

ดังเราจะเห็นว่า คมความคิดของท่านผู้นำเติ้งเสียวผิงนั้นเป็นสากลแห่งสัจธรรม หากศึกษาจนเข้าใจอย่างลึกซื้ง ประยุกติ์ใช้อย่างเหมาะสมตามกาลเวลา และสถานที่แล้ว จะนำความเจริญรุ่งเรืองมาสู่ประเทศชาติได้เป็นอย่างดียิ่ง.........สวัสดี

วันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2551

"Dad, I always told you I'd come back and get my degree."

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน หายหน้าหายตาไปนานเลยคราวนี้กลับมาพร้อมกับประโยคที่กินใจผมเหลือเกิน "Dad, I always told you I'd come back and get my degree." หากจะพูดเป็นภาษาไทยในสำนวนของผม คือ พ่อครับ ผมบอกพ่ออยู่เสมอว่าผมจะกลับมาและเรียนให้จบ
ก่อนอื่นผมขอเท้าความเบื้องหลังของประโยคนี้สักหน่อย คือประมาณเดือนสิงหาคมปีนี้ ผมได้ไปเดินดูหนังสือที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ บังเอิญได้มีโอกาสอ่านหนังสือเล่นหนึ่งที่เป็นหนังสือแปลของบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียง ที่ถูกเชิญไปพูดในโอกาสที่นักศึกษาจบการศึกษาของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อพลิกอ่านไปเรื่อยๆ ก็เจอประโยคที่น่าสนใจประโยคนี้เข้า ผมคิดว่าหลายท่านเมื่ออ่านมาถึงตรงจุดนี้แล้วคงพอจะเดาได้ว่า ใครน่ะที่เป็นบุคคลสำคัญระดับโลกและพูดประโยคนี้ให้พวกเราได้ยินกัน หากเป็นผมหรือคุณๆ ท่านๆ พูดประโยคนี้ก็คงไม่น่าสนใจสักเท่าไร แถมอาจจะยังมีคำกระแนะกระแหนตามมาอีกว่า "ก็เรื่องของมึงงง...ซิว่ะ จะมาบอกให้รู้ทำไม" แต่ถ้าผมบอกว่าคนที่พูดประโยคนี้เป็นบุคคลที่ร่ำรวยติดอันดับสองของโลกในปีนี้ล่ะ คงพอจะกระตุ้นต่อมสติของพวกคุณๆ ได้บ้างกระมังและถ้าบอกว่าเขาคือพ่อมดแห่งโลกไอทีล่ะ ท่านผู้อ่านคงจะถึงบางอ้อบ้างแล้วกระมัง ใช่ครับเขาคือ บิล เกตต์ (Bill Gates) ประโยคข้างต้นเป็นนี้เป็นส่วนหนึ่งใน Commencement Speech ที่Harvard University เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2007 (สำหรับบทความเต็มๆ ฟังได้จากลิงค์ตามนี้ครับ http://plin.exteen.com/20070611/speech-by-bill-gates-at-harvard-university-june-7-2007) จากการฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้เขียนรู้สึกว่าถึงแม้ว่า บิล เกตต์ จะพูดประโยคนี้สั้นๆ และเหมือนกับว่าเป็นโจ๊กให้นักศึกษาได้หัวเราะกันแต่ความรู้สึกที่ผมได้ฟังคือ ผู้พูดให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมากจากประโยคเต็มๆ ที่ว่า "I've been waiting more than 30 years to say this: "Dad, I always told you I'd come back and get my degree." ถึงแม้ว่าในการกลับมาที่ Harvard University ครั้งนี้ เขาจะได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ An honorary Law Degree ก็ตาม ผมไม่อาจคาดเดาได้ว่าในใจของ บิล เกตต์ เขาคิดอย่างไร แต่ที่อยากจะเขียนในบทความนี้คือการชี้ประเด็นให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาซึ่งแม้แต่คนที่ร่ำรวยระดับโลกยังต้องคำนึงถึง ในการพูดครั้งนี้เนื้อหาส่วนใหญ่เน้นหนักไปที่ Inequity หรือ ความไม่เสมอภาคของผู้คนในโลก แต่ผู้เขียนจะขอหยิบยกเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามากล่าวอ้างเพียงบางส่วนเท่านั้น
ผู้เขียนอยากชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญ 2 ส่วนคือ ความสำคัญของการศึกษาและลำดับงานสำคัญในชีวิตที่ต้องทำก่อน สำหรับด้านการศึกษาหาความรู้คงแล้วแต่ใครจะสนใจ รักและถนัดที่จะทำอะไรก็เป็นไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งการศึกษาหาความรู้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ดีทั้งนั้น แต่อีกประเด็นหนึ่งคือ ลำดับงานสำคัญในชีวิตที่ต้องทำก่อน หากเรามองชีวิตที่ประสบความสำเร็จของ บิล เกตต์ เป็นกรณีศึกษาแล้วจะเห็นว่าเขาตั้งใจจะกลับมาเรียนให้จบตลอดเวลาแต่ด้วยความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงของเขาทำให้ความตั้งใจนี้ต้องเลื่อนออกไป ออกไป และออกไป จนในที่สุดก็สายเกินกว่าที่จะกลับไปเรียนให้จบตามที่คิดไว้ได้อีก ผู้เขียนเคยฟังท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า จงทำเรื่องที่สำคัญที่สุดก่อน เรื่องที่เมื่อวันและเวลาผ่านเลยไปแล้วจะไม่สามารถย้อนกลับมาทำได้อีก เพราะเมื่อมีอายุมากขึ้น มากขึ้นแล้ว คนส่วนใหญ่มักจะย้อนกลับมานึกถึงอดีต ผู้คนเหล่านั้นจะรู้สึกเสียใจกับเรื่องที่ไม่ได้ทำมากกว่าที่ทำแล้วผิดพลาดหรือล้มเหลว ในความนึกคิดของผู้เขียนเชื่ออย่างสนิทใจว่าหาก บิล เกตต์ ไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วตั้งหน้าตั้งตาเรียนให้จบมหาวิทยลัยฯ เสียก่อนแล้วจึงค่อยเริ่มต้นธุรกิจหรือจะเริ่มต้นธุรกิจอย่างพอประมาณและเรียนไปด้วยพร้อมๆ กัน ด้วยความเป็นอัจฉริยะในตัวของเขา เขาก็ยังคงประสบความสำเร็จและเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ดี แต่อาจจะช้าไปสัก 4 ปีหรือมากกว่านั้นก็คงไม่เป็นไรกระมัง
ดังนั้นจึงอยากฝากข้อคิดไว้กับผู้อ่านสักสองข้อว่า จงตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับการศึกษาเสมือนหนึ่งว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเลยทีเดียวหรือจะเรียกตามสมัยนิยมปัจจุบันนี้คือ การเรียนรู้ตลอดชีวิต และข้อที่สองคือ จงทำงานที่สำคัญที่สุดในชีวิตก่อน งานที่เมื่อเวลาผ่านเลยไปแล้วเราจะไม่สามารถกลับมาทำมันได้อีก เช่นการเรียนให้จบมหาวิทยาลัย หรือการเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกตามที่ตั้งใจไว้ เป็นต้น
ณ ตอนนี้ผู้เขียนยังมีข้อกังขาใจว่า หากปัจจุบันนี้สามารถมีเครื่องย้อนเวลาอย่างที่เรียกว่า Time Machine และสามารถย้อนเวลากลับไปได้สัก 30 ปีกว่าๆ กลับไปในสมัยที่ บิล เกตต์ ยังเรียนอยู่ที่ Harvard University เขาจะตัดสินใจทำอะไรในตอนนั้น............คำตอบนี้คงอยู่ในใจ บิล เกตต์ ตลอดกาล.........สวัสดี