วันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

อริยสัจสี่...ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ

"เอวัมเม สุตัง เอกัง สะมะยัง ภะคะวา พาราณะสิยัง วิหะระติ อิสิปะตะเน มิคะทาเยฯ......" บทสวดพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันเป็นพระปฐมเทศนาของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบทสวดที่สาธยายเกี่ยวกับความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าหลักธรรมอริยสัจ 4 นี้เป็นความจริงของธรรมชาติ เป็นความจริงของโลก ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดบนโลกใบนี้จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้รับรู้และพิจารณาตรึกตรองหลักธรรมนี้ อริยสัจ 4 อธิบายได้ดังนี้

อริยสัจสี่ หมายถึง ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการหลักคำสอนเรื่องอริยสัจ 4 เป็นคำสอนที่สำคัญที่สุดเรื่องหนึ่งของพระพุทธศาสนา อาจถือว่าเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค

อริยสัจที่ ๑ ทุกข์
ทุกข์ คือ ความไม่สบายกายไม่สบายใจต่างๆ พระองค์ทรงพบความจริงว่า สรรพสัตว์ทั้งหลายล้วนตกอยู่ในความทุกข์ จะเป็นมหาเศรษฐี เป็นนายกฯ เป็นประธานาธิบดี เป็นกษัตริย์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ แม้ที่สุดเป็นพระภิกษุ ก็มีทุกข์ทั้งนั้น ต่างกันแต่เพียงว่าทุกข์มากหรือทุกข์น้อยและมีปัญญาพอที่จะรู้ตัวหรือเปล่าเท่านั้น พระองค์ได้ทรงแยกแยะให้เราเห็นว่า ความทุกข์นี้มีถึง ๑๑ ประเภทใหญ่ๆ ด้วยกัน แบ่งออกเป็น ๒ ลักษณะ ได้แก่
๑.สภาวทุกข์ คือ ทุกข์ประจำ เป็นความทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นสภาพธรรมดาของสัตว์ ซึ่งเมื่อเกิดแล้วต้องมีทุกข์ชนิดนี้ มี ๓ ประการได้แก่
๑.การเกิดเป็นทุกข์
๒.การแก่เป็นทุกข์
๓.การตายเป็นทุกข์
๒.ปกิณณกทุกข์ คือ ทุกข์จร เป็นความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจหย่อนสมรรถภาพ ไม่อาจทนต่อเหตุภายนอกที่มากระทบตัวเราได้ ผู้มีปัญญารู้จักฝึกควบคุมใจตนเอง สามารถหลีกเลี่ยงทุกข์ชนิดนี้ได้ ทุกข์จรนี้มีอยู่ ๘ ประการ ได้แก่
๑.โสกะ ความโศก ความแห้งใจ
๒.ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพัน
๓.ทุกขะ ความเจ็บไข้ได้ป่วย
๔.โทมนัสสะ ความน้อยใจ
๕.อุปายาสะ ความท้อแท้กลุ้มใจ
๖.สัมปะโยคะ ความเบื่อหน่ายขยะแขยงจากการประสบสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก
๗.วิปปโยคะ ความห่วงใย จากการพลัดพรากจากของรัก
๘.อาลภะ ความเสียดายจากการปรารถนาสิ่งใด แล้วไม่ได้สิ่งนั้น

“ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเญยฺยํ” อริยสัจ คือ ทุกข์ อันเราพึงกำหนดรู้ (พุทธพจน์)

อริยสัจที่ ๒ สมุทัย
สมุทัย คือ เหตุแห่งความทุกข์ทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงคนพบว่าความทุกข์มีสาเหตุมาจากกิเลสที่มีอยู่ในใจ พระองค์บัญญัติศัพท์เรียกว่าตัณหา คือ ความทะยานอยากในใจของเราเอง แบ่งเป็น ๓ ประเภทคือ
๑.กามตัณหา ความอยากได้ เช่น อยากได้เงิน อยากได้ทอง อยากสนุก อยากมีเมียน้อย อยากให้คนชมเชยยกย่อง สรุป คือ อยากได้ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส อารมณ์ที่น่าพอใจ
๒.ภวตัณหา ความอยากเป็น เช่น อยากเป็นนายกรัฐมนตรี อยากเป็นใหญ่เป็นโต อยากเป็นทหาร อยากเป็นตำรวจ ฯลฯ
๓.วิภวตัณหา ความอยากไม่เป็น เช่น อยากไม่เป็นคนจน อยากไม่เป็นคนแก่ อยากไม่เป็นคนขี้โรค ฯลฯ

“ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกข์สมุทัย อันเราพึงละ (พุทธพุจน์)

อริยสัจที่ ๓ นิโรธ
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หมายถึงสภาพใจที่หมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิงทำให้หมดตัณหา จึงหมดทุกข์ มีใจหยุดนิ่งสงบตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกายมีความสุขล้วนๆ

“ทุกฺขนิโรโธ อริยสัจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ” อริยสัจ คือ ทุกขนิโรธะ อันเราพึงทำให้แจ้ง (พุทธพจน์)

อริยสัจที่ ๔ มรรค
มรรค คือ วิธีปฏิบัติเพื่อให้พ้นทุกข์ ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติเพื่อให้ใจหยุดใจนิ่งปราบทุกข์ได้ รวม ๘ ประการ ได้แก่
๑.สัมมาทิฏฐิ มีความเห็นชอบ เบื้องต้นคือ ความเห็นถูกต่างๆ เช่นเห็นว่าพ่อแม่มีพระคุณต่อเราจริง ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วจริง โลกนี้โลกหน้ามีจริง ฯลฯ เบื้องสูงคือ เห็นทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ความดับทุกข์และวิธีปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ นั่นเอง
๒.สัมมาสังกัปปะ มีความคิดชอบ คือ คิดออกจากกาม คิดไม่ผูกพยาบาท คิดไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๓.สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียดให้เขาแตกแยกไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดเพ้อเจ้ออวดอ้างความดีของตัว หรือทับถมคนอื่น
๔.สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ และประพฤติพรหมจรรย์ เว้นจากการเสพกาม
๕.สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีพชอบ คือ เลิกการประกอบอาชีพเลี้ยงชีวิตในทางที่ผิด แล้วประกอบอาชีพในทางที่ถูก
๖.สัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ คือ เพียรป้องกันบาปอกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรละบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป เพียรสร้างกุศลคุณความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น และเพียรบำรุงกุศลคุณความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๗.สัมมาสติ มีความระลึกชอบ คือ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน มีสติรู้ตัวระลึกได้ หมั่นพิจารณาเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม อยู่เสมอ
๘.สัมมาสมาธิ มีใจตั้งมั่นชอบ คือ มีใจตั้งมั่นหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ผ่านกายในกาย ซึ่งก็คือฌานชั้นต่างๆ ไปตามลำดับจนเข้าถึงธรรมกาย ใจหยุดนิ่งตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางธรรมกาย

มรรคทั้ง ๘ ข้อนี้ ถ้าขยายออกไปแล้ว ก็จะได้แก่คำสอนในพุทธศาสนาทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ถ้าย่อเข้าก็จะได้แก่ไตรสิกขา หัวใจพระพุทธศาสนา ดังนี้
ศีล แยกออกเป็น สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ
สมาธิ แยกออกเป็น สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
ปัญญา แยกออกเป็น สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
มรรคทั้งแปดข้อนี้ให้ปฏิบัติไปพร้อมๆกัน ซึ่งว่าเกิดได้ขณะใจหยุดนิ่งเป็นสมาธิ ทำให้เห็นอริยสัจได้อย่างชัดเจน และพ้นทุกข์ได้เป็นเรื่องของการฝึกจิตตามวิถีของเหตุผล

“ทุกฺขนิโรธคามินี ปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ” อริยสัจ คือ ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ อันเราพึงบำเพ็ญ (พุทธพจน์)


(ที่มา: ตัดทอนเนื้อหาบางส่วนจาก http://www1.freehostingguru.com/thaigenx/mongkhol/mk33.htm)

ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการนี้เป็นความจริงของธรรมชาติ มนุษย์ทุกคนสมควรที่จะรู้เกี่ยวกับความจริงนี้ เคยมีคนกล่าวว่า "คนเราทุกวันนี้มีความสุขน้อยลง" ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเราทุกวันนี้ยังเข้าใจหลักธรรมอริยสัจ 4 ไม่ถ่องแท้ก็เป็นได้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาส่วนตัว ปัญหาครอบครัว ปัญหาสังคม ปัญหาของประเทศชาติ และปัญหาของโลก ปัญหาทั้งหลายสามารถแก้ไขได้ด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4 ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งนั้นแล ขอทุกคนจงพร้อมด้วยหลักธรรมอริยสัจ 4.....สวัสดี

วันอังคารที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อแตกต่างระหว่าง ผู้ชนะ กับ ผู้แพ้ 10 ประการ

วันนี้ผมได้มีโอกาสเปิดอีเม็ลเก่าๆ ดู ทำให้เห็นบทความหนึ่งน่าสนใจดีเป็นเรื่องเกี่ยวกับ 10ข้อแตกต่างระหว่าง ผู้ชนะ กับ ผู้แพ้ (10 Differences between Winner and Loser) หากจะว่าไปแล้วบุคคลต่างๆ ในโลกใบนี้อาจเป็นได้ทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นหรือ เพราะความคิดของแต่ละคนแตกต่างกันนั่นเอง ในสถานะการหนึ่งๆ อาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บทความเรื่อง 10 Differences between Winner and Loser มีรายละเอียดดังนี้ครับ

ข้อที่ 1) When a winner commits a mistake, he say I'm wrong. When a loser commits a mistake, he says it's not my fault.

ข้อที่ 2) A winner works harder and has more time than a loser. A loser always is too busy to do what is necessary.

ข้อที่ 3) A winner faces and solves his/her problems. A loser does other wise.

ข้อที่ 4) A winner makes things happen. A loser makes promises.

ข้อที่ 5) A winner would say "I am good.But not as good as I want to be". A loser would asy "I am as bad as others".

ข้อที่ 6) A winner listens, understand and responds. A loser only waits until it's his/her turn to speak.

ข้อที่ 7) A winner respects people who are superior to him and would like to learn from them. A loser does otherwise, and would try to find his superior's faults.

ข้อที่ 8) A winner is responsible not just for his own work. A loser will not dare help others and would say I'am just doing my job.

ข้อที่ 9) A winner would say "There should be a better way to do it". A loser would say "This is the only way to do".

ข้อที่ 10) A winner like you will share this with his/her friends. A loser will just keep this to himself/herself because he/she doesn't have time to share this with others.

ข้อคิดหลายๆ ข้อเป็นสิ่งที่ดี มีประโยชน์ ลองนำไปคิด และปรับแต่งให้เข้ากับตนเองดูน่ะครับ ที่สำคัญจะเป็นผู้ชนะหรือผู้แพ้ ทุกๆสิ่งต้องระเบิดออกมาจากภายในครับ กล่าวคือ ตนเองต้องเป็นคนเริ่มต้นก่อน ปรับปรุงความคิดและการกระทำของตนเอง มองโลกอย่างที่ผู้ชนะเค้ามองกัน เริ่มต้นที่ตัวเองก่อน แล้วผู้ชนะจะอยู่กับคุณตลอดไป ดังคำกล่าวของอัศวินเจไดที่ว่า "ขอพลังจงอยู่กับท่าน (May the force be with you.)" .....สวัสดีครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ทศพิธราชธรรม...ธรรมสำหรับพระราชาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมสำหรับผู้นำที่ใหญ่ยิ่ง

ผู้นำและภาวะผู้นำ มีความสำคัญต่อผู้คนซึ่งอยู่รวมกันเป็นกลุ่มตั้งแต่ขนาดเล็กๆ อย่างเช่น กลุ่มคน ครอบครัว ไปจนถึงขนาดใหญ่ๆ อย่างเช่น ชุมชน สังคม ประเทศชาติ จนถึงระดับประชาคมโลก ในยุคปัจจุบันนี้ที่เป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วหรือยุคโลกาภิวัฒน์ ดูเหมือนว่า ผู้นำและภาวะผู้นำได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากมายในการดำเนินชีวิตของทุกคน การทำธุรกิจ การประสานงานต่างๆ ในทุกระดับ ดังจะเห็นว่ามีวิทยาการหรือความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นผู้นำ แตกแขนงออกมาอย่างมากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนขอหยิบยกขึ้นมาอธิบายเกี่ยวกับ คุณธรรมของผู้นำคือ หลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่อง ทศพิธราชธรรม จากความตอนหนึ่งในวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ได้อธิบายเกี่ยวกับทศพิธราชธรรม ว่า "ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรมประจำพระองค์ หรือเป็นคุณธรรมประจำตนของผู้ปกครองบ้านเมือง ให้มีความเป็นไปโดยธรรมและยังประโยชน์สุขให้เกิดแก่ประชาชนจนเกิดความชื่นชมยินดี ซึ่งความจริงแล้วไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ราชธรรม 10" นี้ ปรากฏอยู่ในพระสูตร ขุททกนิกาย ชาดก ปรากฏพระคาถา ดังนี้ ทานํ สีลํ ปริจฺจาคํ อาชฺชวํ มทฺทวํ ตปํ อกฺโกธํ อวิหึสญฺจ ขนฺติญฺจ อวิโรธนํ. ขุ.ชา.28/240/86 " จากคำอธิบายดังกล่าวข้างต้นจะเห็นว่าหลักธรรมนี้เป็นอมตะธรรมที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เมื่อสองพันกว่าปีมาแล้ว จวบจนปัจจุบัน และจะยังคงเป็นจริงต่อไปในอนาคข้างหน้าอีกไม่รู้จบ ซึ่งรายละเอียดของทศพิธราชธรรม 10 ประการมีดังนี้

๑. ทาน คือ การให้สละทรัพย์สิ่งของบำรุงเลี้ยงช่วยเหลือประชาชนและบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ หมายความถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ การทรงเสียสละพระกำลังในการปกครอง แผ่นดิน การพระราชทานพระราชดำริอันก่อให้เกิดสติปัญญาและพัฒนาชาติ การพระราชทานเสรีภาพอันเป็นหัวใจแห่งมนุษย์

๒. ศีล คือ ความประพฤติดีงาม ประกอบแต่การสุจริตให้เป็นตัวอย่างแก่ประชาชน หมายความถึงการตั้งและทรงประพฤติพระราชจรรยานุวัตร พระกาย พระวาจา ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครอง อันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา อันได้แก่ เบญจศีลมาเสมอ

๓. บริจาคะ คือ การบริจาคเสียสละความสุขสำราญส่วนตนเพื่อประโยชน์สุขของปวงชน หมายความถึงการที่ทรงสละสิ่งไม่เป็นประโยชน์หรือมีประโยชน์น้อยเพื่อสิ่งที่ดีกว่า คือ เมื่อถึงคราวก็สละได้แม้พระราชทรัพย์ตลอดจนพระโลหิต หรือแม้แต่พระชนม์ชีพ เพื่อรักษาธรรมและพระราชอาณาจักรของพระองค์

๔. อาชชวะ คือ ความซื่อตรงมีความจริงใจต่อประชาชน หมายความถึงการที่ทรงซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต ซื่อตรงต่อพระราชสัมพันธมิตรและอาณาประชาราษฎร

๕. มัททวะ คือ ความอ่อนโยน มีกริยาสุภาพนุ่มนวล หมายความถึงการที่ทรงเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตุผลที่ควร ทรงมีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า

๖. ตบะ คือ การเผากิเลสมิให้เข้าครอบงำจิตใจ หมายความถึงความเพียรที่แผดเผาความเกียจคร้าน คือ การที่พระมหากษัตริย์ทรงตั้งพระราชอุตสาหะปฏิบัติพระราชกรณียกิจให้เป็นไปด้วยดี โดยปราศจากความเกียจคร้าน

๗. อักโกธะ คือ ความไม่โกรธและไม่เกรี้ยวกราด หมายความถึงการไม่แสดงความโกรธให้ปรากฎ ไม่พยายามมุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตุผล และสำหรับพระมหากษัตริย์นั้นต้องทรงมีพระเมตตาไม่ทรงก่อเวรแก่ผู้ใด ไม่ทรงพระพิโรธโดยเหตุที่ไม่ควร และแม้จะทรงพระพิโรธก็ทรงข่มเสียให้สงบได้

๘. อวิหิงสา คือ ความไม่เบียดเบียนบีบคั้นประชาชน หมายความว่าทรงมีพระราชอัธยาศัย กอปรด้วยพระมหากรุณา ไม่ทรงก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น ทรงปกครองประชาชนดังบิดาปกครองบุตร

๙. ขันติ คือ ความอดทนต่อความยากลำบากทางกายและใจ หมายความถึงการที่ทรงมีพระราชจริยานุวัตร อันอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาพระราชหฤทัย และพระอาการ พระกาย พระวาจา ให้เรียบร้อย

๑๐. อวิโรธนะ คือ ความไม่คลาดธรรม ไม่เอนเอียงหวั่นไหวกับสิ่งไม่ดีงาม หมายความถึงการที่ทรงตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี ไม่ทรงประพฤติผิดจากพระราชจริยานุวัตร นิติศาสตร์ ราชศาสตร์ ไม่ทรงประพฤติให้คลาดจากความยุติธรรม ทรงอุปถัมภ์ยกย่องคนที่มีความชอบ ทรงบำราบคนที่มีความผิดโดยปราศจากอำนาจอคติ ๔ ประการ(ดูหมายเหตุ) และไม่ทรงแสดงให้เห็นด้วยพระราชหฤทัยยินดียินร้าย
(ที่มา: www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_31_11.doc)

สังคมไทยทุกวันนี้ต้องก้าวให้ทันโลกในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม หรือแม้กระทั้งการเปลี่ยนแปลงทางความคิด คุณธรรมของผู้นำเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับทุกยุคทุกสมัย ดังนั้นผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หลักธรรม ทศพิธราชธรรม ธรรมสำหรับพระราชาที่ยิ่งใหญ่ ธรรมสำหรับผู้นำที่ใหญ่ยิ่ง จะตราตรึงอยู่ในใจของ ผู้นำทุกคน ทั้งที่เป็น ผู้นำกลุ่ม ผู้นำครอบครัว ผู้นำชุมชน ผู้นำประเทศ (โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย) จนถึง ผู้นำแห่งประชาคมโลก.....สวัสดี


หมายเหตุ:

อคติ 4 หมายความว่า การกระทำอันทำให้เสียความเที่ยงธรรม มี 4 ประการ
1. ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักใคร่
2. โทสาคติ ลำเอียงเพราะโกรธ
3. โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา
4. ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว


เอกสารอ้างอิง:

1. www.th.wikipedia.org/wiki/ทศพิธราชธรรม

2. www.mfa.go.th/internet/radio/book/Saranrom_31_11.doc

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

พึ่ง...พอ...แพ้ คำที่กำลังจะถูกลืมไปจากสังคมไทย

การขึ้นหัวข้อเรื่องอย่างนี้คงทำให้ท่านผู้อ่านหลายท่านสงสัยน่าดูว่า ทำไมคำว่า พึ่ง พอ และ แพ้ ถึงได้จะถูกลืมไปจากสัมคมไทย ลืมไปได้อย่างไร และลืมแล้วไปอยู่ที่ใหน โดยแท้จริงแล้ว ผู้เขียนต้องการสื่อความหมายโดยนัยว่าคำว่า พึ่ง พอ และ แพ้ คำเหล่านี้มีความหมายและมีความสำคัญอย่างมาก ที่นับวันสังคมไทยจะลืมเลือนไปทุกที ผู้เขียนจึงขอใช้โอกาสนี้แสดงทัศนะไว้ดังนี้

1.) คำว่า "พึ่ง" คำนี้หมายถึง การพึ่งพาตัวเอง และ การมีตัวเองเป็นที่พึ่ง ความหมายทั้งสองอย่างแตกต่างกันเล็กน้อย กล่าวคือ การพึ่งพาตัวเอง คือการช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ เหมือนคำในทางพุทธศาสนาที่ว่า อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ แปลเป็นภาษาไทยคือ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน หากจะกล่าวถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน เช่น การทำงานเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัว ซึ่งต้องมีความสามารถทำได้ด้วยตนเองตามกำลังความสามารถ หรือกำลังทรัพย์ที่ตนมีอยู่ เป็นต้น สำหรับอีกความหมายหนึ่งคือ การมีตัวเองเป็นที่พึ่ง ในความหมายนี้คือ การดำเนินชีวิตอย่างมีหลักการ อย่างมีจุดยืน หรือบางคนอาจใช้คำว่า มีรัฐธรรมนูญชีวิต ก็ยังใช้ได้อยู่ บางคนยึดศีลห้าในการดำเนินชีวิต นี่ก็ใช่อีกเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น บางคนตั้งใจแน่วแน่ที่จะประกอบสัมมาอาชีพอย่างสุจริต ดังนั้น อาชีพใดที่เป็นอาชีพที่ทุจริต อาชีพที่สร้างความเดือดร้อนให้กับตัวเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ ก็จะไม่ทำอย่างเด็ดขาด จะเห็นว่าคำว่า พึ่ง นี้มีความสำคัญอย่างมากในชีวิตของคนเรานี้ หากคนในสังคมไทยตระหนักถึงคำว่า พึ่ง คือ พึ่งพาตัวเองได้ และ มีตัวเองเป็นที่พึ่งแล้ว ปัญหาสังคม การเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของชาวตะวันตก ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะลดน้อยลงไปได้มากเลยทีเดียว

2.) คำว่า "พอ" คำนี้หมายถึง ความพอเพียง ความพอประมาณ และความพอแห่งตน คำนี้ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินและคุ้นเคยมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งเป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสชี้แน่ะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอด คำว่า พอเพียง พอประมาณ พอแห่งตน เป็นคำที่ทำให้เราทุกคนเข้าใจตัวตนของตนเองมากขึ้น และเข้าใจถึงความสมดุลย์ระหว่างความต้องการของตนเอง ความอยากมี อยากได้ อยากเป็น กับความสามารถที่ตนเองสามารถหามาได้ มีได้ เป็นได้ ดังนั้น ความพอเพียงหรือพอประมาณของแต่ละคนจึงไม่เท่ากัน ไม่อาจให้คนอื่นบอกเราได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ตระหนักรู้ของเราเอง กล่าวคือ เราทุกคนจะต้องรู้ว่า พอประมาณ หรือ พอเพียงของเราเองนั้นอยู่ที่ใด ในสังคมไทยทุกวันนี้ตระหนักถึงคำว่า พอเพียง พอประมาณ กันน้อยมาก จึงทำให้เกิดการเป็นหนี้เป็นสินกันมากมาย ความฟุ่มเฟือย แม้กระทั่งเกิดการกักตุนและเก็งกำไรสินค้ากันอย่างมากมาย มุ่งเอาแต่ได้ของผู้ประกอบการ เป็นต้น สำหรับคำว่า พอแห่งตน คำนี้ผู้เขียนขออธิบายว่าคือ ความพอดีพอสมควรแห่งกาล แห่งวาระ และแห่งโอกาสที่ตนควรจะปล่อยวาง ตนเท่านั้นที่รู้ว่าจะพอเมื่อไร สมควรแก่เวลา สมควรแก่โอกาสที่จะพอหรือถึงเวลาพอแล้วหรือยัง ดังจะเห็นว่ามีผู้นำในอดีตหลายต่อหลายคนที่เมื่อก้าวข้ามสู่ความสำเร็จในชีวิตสูงสุดแล้วกลับไม่รู้จักพอแห่งตน ไม่รู้ว่าเมื่อไรควรจะพอแล้ว จึงทำให้สุดท้ายต้องพบกับความผิดหวังอย่างสิ้นเชิง ดังนั้น พวกเราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกคนหนึ่งในสังคมไทยจึงควรมีคำว่า พอแห่งตน หรือ คำพูดที่ว่า "ผมพอแล้ว" ฝังอยู่ในใจของพวกเราเสมอ

3.) คำว่า "แพ้" คำนี้หมายถึง ความไม่ชนะ ความผิดหวัง หลายคนไม่ชอบคำนี้เลย และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับชีวิตของตนเองเลย แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างนั้นได้หรือ ดังคำกล่าวที่ว่า "ไม่มีใครชนะไปเสียทุกอย่าง" โดยแท้จริงแล้วในชีวิตคนเรานั้น ย่อมต้องมีแพ้บ้าง ชนะบ้าง ผลัดเปลี่ยนกันไปเป็นสัจธรรมแห่งโลก แต่ในสังคมปัจจุบัน ในสังคมที่ต้องแข่งขันกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กๆ ในสังคมที่ชื่นชมแต่ผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทอดทิ้งผู้พ่ายแพ้ ดังเราจะเห็นว่ามีข่าวการฆ่าตัวตายในประเทศที่เจริญแล้วเพิ่มมากขึ้น เพียงเพราะผิดหวังหรือพ่ายแพ้บางสิ่งบางอย่าง เช่น พลาดจากการสอบเข้ามหาวิทยาลัย พลาดจากการเรียนต่อชั้นที่สูงขึ้น พลาดจากการได้เกรดเฉลี่ยดี เป็นต้น เพราะเขาเหล่านั้นไม่เคยแพ้มาก่อนจึงไม่รู้จักการดำรงอยู่ควบคู่กับทัศนะคติที่ดีต่อความพ่ายแพ้นั้นๆ หรือไม่มีภูมิคุ้มกันเมื่อเกิดความพ่ายแพ้ขึ้นในชีวิต บางคนอาจเรียกอย่างเป็นทางการว่า การบริหารความพ่ายแพ้ หรือบทเรียนของความพ่ายแพ้ ก็คงไม่ต่างอะไรมากนัก ข้อคิดข้อหนึ่งของข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิตขององค์ดาไลลามะ คือ เมื่อคุณแพ้อย่าลืมเก็บไว้เป็นบทเรียน จึงเป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนควรนำมาขบคิดเป็นอย่างมาก ในสังคมไทยปัจจุบันสอนให้ทุกคนเป็นผู้ชนะ แข่งกันเรียน แข่งกันทำงาน แข่งกันหาเงิน จนลืมไปว่า การเข้าใจความพ่ายแพ้ของตนเองนั้นมีความสำคัญพอๆ กับการเข้าใจหนทางสู่ความสำเร็จหรือการเป็นผู้ชนะเหมือนกัน

ขอให้พวกเราทุกคนทำความเข้าใจกับคำ 3 คำนี้ให้ดี คือ พึ่ง พอ และ แพ้ และช่วยกันนำกลับมาสู่ตนเอง กลับมาสู่คนที่เรารัก กลับมาสู่สังคมของเรา แล้วสังคมไทยจะเป็นสังคมที่น่าอยู่แห่งหนึ่งในโลกอันงดงามใบนี้ .....สวัสดี




วันพุธที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551

ข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิต...สาสน์จากท่าน Dalai Lama.

ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าการใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้ต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆ ในโลกใบนี้เป็นไปอย่างรวดเร็วตามความเป็นไปของโลกยุคโลกาภิวัฒน์ อย่างที่พวกเราได้ยิน ได้ฟังกันอยู่บ่อยๆ เหตุการณ์หลายๆ อย่างเป็นเหตุการณ์ภายนอก ไกลออกไปอีกฟากโลกหนึ่ง ก็ยังอาจมีผลกระทบมาสู่ชีวิตของเราได้เช่นกัน อย่างเช่น ปัญหาซับไพร์มในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นต้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงต่างๆในโลกอย่างเช่น ราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้นไปโดยไม่มีทีท่าว่าจะลงแต่อย่างไร อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ปัญหาการขาดแคลนอาหารที่เป็นวิกฤตทั่วโลกในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าเหตุการณ์หลายๆ อย่างจะกระทบต่อการดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าทุกวันนี้มีความสุขน้อยลง แต่แท้จริงแล้วเป็นอย่างนั้นจริงหรือ? ความสุขที่แท้จริงน่าจะเกิดจากการดำเนินชีวิตอย่างมีจุดยืน และมีหลักปฏิบัติที่ดี ซึ่งจะส่งผลให้เราทุกคนมีทัศนะคติที่ดีในการดำเนินชีวิตด้วย ในโอกาสนี้ผมขอส่งผ่านสาสน์จากท่าน Dalai Lama เป็นข้อแน่ะนำในการดำเนินชีวิต ดังนี้
1. ระลึกเสมอว่า การจะได้พบความรักและความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ก็ต้องประสบกับความเสี่ยงอันมหาศาลดุจกัน
2. เมื่อคุณแพ้ อย่าลืมเก็บไว้เป็นบทเรียน
3. จงปฏิบัติตาม 3Rs
3.1 เคารพตนเอง (Respect for self)
3.2 เคารพผู้อื่น (Respect for others)
3.3 รับผิดชอบต่อการกระทำของตน (Responsibility for all your actions)
4. จงจำไว้ว่า การที่ไม่ทำตามใจปรารถนาของตนบางครั้งก็ให้โชคอย่างน่ามหัศจรรย์
5. จงเรียนรู้กฎ เพื่อจะทราบวิธีการฝ่าฝืนอย่างเหมาะสม
6. จงอย่าปล่อยให้การทะเลาะเบาะแว้งด้วยเรื่องเพียงเล็กน้อยมาทำลายมิตรภาพอันยิ่งใหญ่ของคุณ
7. เมื่อคุณรู้ว่าทำผิด จงอย่ารอช้าที่จะแก้ไข
8. จงใช้เวลาในการอยู่ลำพังผู้เดียวในแต่ละวัน
9. จงอ้าแขนรับการเปลี่ยนแปลง แต่อย่าปล่อยให้คุณค่าของคุณหลุดลอยจากไป
10. จงระลึกไว้ว่า บางครั้งความเงียบก็เป็นคำตอบที่ดีที่สุด
11. จงดำเนินชีวิตด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อที่ว่าเมื่อคุณสูงวัยขึ้นและคิดหวนกลับมาคุณจะสามารถมีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำลงไปได้อีกครั้ง
12. บรรยากาศอันอบอุ่นในครอบครัวเป็นพื้นฐานสำคัญของชีวิต
13. เมื่อเกิดขัดใจกับคนที่คุณรักให้หยุดไว้แค่เรื่องปัจจุบันอย่าขุดคุ้ยเรื่องในอดีต
14. จงแบ่งปันความรู้ เพื่อเป็นหนทางก้าวสู่ความเป็นอมตะ
15. จงสุภาพกับโลกใบนี้
16. จงหาโอกาสท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ ที่คุณไม่เคยไปอย่างน้อยก็ปีละครั้ง
17. จำไว้ว่า ความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด คือความรักมิใช่ความใคร่
18. จงตัดสินความสำเร็จของตนด้วยสิ่งที่ต้องเสียสละ
19. จงเข้าใกล้ความรักด้วยการปล่อยวาง
ลองทำความเข้าใจและนำไปปฏิบัติดูครับ สุดท้ายขอให้ทุกคนมีความสุขกับการดำเนินชีวิตในแบบฉบับของตัวเองน่ะครับ.....สวัสดี