วันอาทิตย์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ผู้บริหารที่มี "บุญบารมี"

ผู้บริหารทุกยุคทุกสมัย เป็นผู้ที่มีอิทธิพลต่อลูกน้องหรือกลุ่มคนผู้ใต้บังคับบัญชามาแต่ใหนแต่ไร ผู้บริหารแต่ละคนก็มีลูกน้องจำนวนมากน้อยแตกต่างกัน แต่ที่เหมือนๆ กันคือ ผู้บริหารแต่ละคนมี "บุญบารมี" ในบทความเรื่อง "บุญบารมี" สิ่งที่ผู้บริหารพึงมี ของคุณประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย ได้อธิบายไว้ว่า "บุญ" คือ การกระทำดี และ "บารมี" คือ ผลจากการกระทำ "บุญ" เช่น นาย ก. เป็นคนมีบารมี เพราะได้สร้างบุญกุศลไว้มาก จึงทำให้เป็นที่เคารพนับถือ ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจ และเกรงใจจากคนทั่วไป แต่ บารมี ก็ไม่ได้ทำให้คนเกรงกลัวเหมือนคนร้ายถืออาวุธ
บทสวดมนต์บทหนึ่งที่เกี่ยวกับบุญบารมี คือ บารมี 30 ทัศ แต่งโดย พระครูบาเจ้าศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนา ได้อธิบายการสร้างบุญบารมี 10 ประการไว้ดังนี้

1. ทาน คือ การลดความโลภด้วยการให้สิ่งของต่างๆ แก่ผู้ที่ด้อยกว่าตลอดจนถึงธรรมทาน คนที่ให้ทาน ใจดี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ย่อมมีบารมีสูงกว่าคนตระหนี่ถี่เหนียว
2. ศีล คือ การรักษาศีลด้วยการละเว้นจากการทำความชั่วต่างๆ ผู้รักษาศีล ย่อมได้รับการนับถือว่าเป็นคนดีมีบารมีมากกว่าผู้ประพฤติชั่ว
3. เนกขัมมะ คือ การออกบวชและปฏิบัติธรรม ผู้ที่บวชเรียนและปฏิบัติธรรมเป็นนิจ ย่อมได้รับการยกย่องว่า เปี่ยมด้วยบุญบารมีมากกว่าผู้ไม่ปฏิบัติธรรม
4. ปัญญา คือ การใช้ความคิดที่มีเหตุมีผล ในการกระทำสิ่งต่างๆ ผู้ที่มีความคิดอ่านดี มีเหตุมีผล ย่อมได้รับความเชื่อถือและเป็นผู้มีบารมีมากกว่าคนที่ไร้ความคิดไร้เหตุผล
5. วิริยะ คือ ความเพียรพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จ ผู้ที่มีความเพียรเป็นนักสู้ ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก ย่อมมีบารมีมากกว่าคนท้อแท้ง่าย และจะเป็นตัวอย่างที่ดีแก่คนทั่วไป
6. ขันติ คือ ความอดทนต่อความทุกข์ยากลำบากซึ่งคู่กับวิริยะ ไม่เบื่อง่าย คนที่มีความอดทนสูงกว่าย่อมมีโอกาสมากกว่าในการรอคอยความสำเร็จหรือสิ่งที่คาดหวัง โดยไม่เลิกราเสียก่อน และย่อมเป็นผู้ที่มีบารมีมากกว่าคนเบื่อง่าย ไม่อดทน
7. สัจจะ คือ ความจริงใจ การรักษาความสัตย์ พูดแต่เรื่องจริง ไม่โกหกหลอกลวงผู้อื่นเพื่อประโยชน์ของตน คนรักษาสัจจะย่อมมีบารมีสูงกว่า และได้ความเชื่อถือ เชื่อใจจากคนทั่วไปโดยไม่ต้องห่วงกังวลว่าจะถูกหลอก
8. อธิษฐาน คือ การกำหนดเป้าหมายในชีวิตหรือการทำงานต่างๆ ไม่ใช่การขอให้ได้สิ่งต่างๆ โดยไม่ทำอะไร คนที่มีเป้าหมายย่อมเป็นผู้มีบารมีดีกว่าคนหลักลอยไม่มีเป้าหมาย
9. เมตตา คือ ความรักเอ็นดู ปรารถนาอยากให้ผู้อื่นได้สุข ผู้ที่มีจิตเมตตาสูง จะมีบารมีสูง มีเสน่ห์ในตัวเอง เพราะมองโลกในแง่ดี และทำแต่สิ่งที่ดีๆ ให้คนอื่นมีความสุข
10. อุเบกขา คือ ความเที่ยงธรรมและการวางเฉย ในสถานการณ์ที่ทุกข์มากหรือสุขมาก ความเที่ยงธรรมนั้นสำคัญมากสำหร้บผู้พิพากษาและแม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาหรือบิดา มารดา การรู้จักข่มใจวางเฉยต่อวิกฤติการณ์ย่อมทำให้จิตใจสงบแน่วแน่ ไม่ตื่นตกใจจนขวัญหนีดีฝ่อ แต่กลับยังคงมีปัญญาที่จะคิดการต่างๆ ได้ดี ผู้มีอุเบกขา จึงย่อมมีบารมีสูงกว่าผู้ที่ไม่มี

บารมี คือคุณธรรมที่ให้ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จ ซึ่งแบ่งไว้เป็น 3 ชั้น คือ ขั้นธรรมดา ขั้นสูงขึ้นเรียกว่า "อุปบารมี" และ ขั้นสูงสุด เรียกว่า "ปารมัตถบารมี" รวมกัน เป็น 30 ทัศ

ผู้บริหารที่มี บุญบารมี จะเป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เป็นตัวอย่างแก่ผู้ตาม หรือลูกน้อง และจะนำพาองค์กรให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างถูกต้องและยั่งยืน.....สวัสดี


เอกสารอ้างอิง:

- "บุญบารมี" สิ่งที่ผู้บริหารพึงมี, นายประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย, ThaiAppriasal Foundation Vol.9, No.2, March-April 2010.